posttoday

รอบรู้ด้านวัฒนธรรม

26 ธันวาคม 2556

ความฉลาดด้านวัฒนธรรม คือ ความสามารถของบุคคลในการร่วมงานกับวัฒนธรรมใด เชื้อชาติใด หรือวัฒนธรรมองค์ใดๆ ก็ตามได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดย...ดร. อัจฉรา จุ้ยเจริญ

ความฉลาดด้านวัฒนธรรม หรือ Cultural Intelligence (CQ) คือ ความสามารถของบุคคลในการร่วมงานกับวัฒนธรรมใด เชื้อชาติใด หรือวัฒนธรรมองค์ใดๆ ก็ตามได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในการแข่งขันและสร้างความได้เปรียบในตลาดโลก การเข้าถึงและปรับตัวเข้าหาวัฒนธรรมต่างๆ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหารหรือบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำที่บริหารบุคลากรต่างวัฒนธรรม สำนักงานใหญ่ที่ดูแลสาขาต่างๆ และบุคลากรที่ให้บริการลูกค้าจากหลากหลายวัฒนธรรมโดยตรงในปัจจุบัน หรือผู้ที่ออกแบบสินค้าและทำการตลาดให้กับบริษัท

การพัฒนา CQ นำไปสู่ประโยชน์มากมาย เช่น หนึ่ง ผลการปฏิบัติงานร่วมกันของบุคลากรจากต่างวัฒนธรรมดีขึ้น สอง การ ตัดสินใจในการเสนอสินค้าและบริการให้กลุ่มลูกค้าหลากหลายดีขึ้น สาม เตรียมความพร้อมให้องค์กรโกอินเตอร์ได้ สี่ ดึงดูดใจบุคลากรที่มีความสามารถและมองหาบริษัทที่ใส่ใจด้านการพัฒนาความรู้ความเข้าใจความแตกต่างด้านวัฒนธรรม

ในการเตรียมความพร้อมสำหรับ AEC สิ่งที่เห็นได้ชัดในปี 2013 คือ มีองค์กรจำนวนมากขึ้นที่หันมาจัดอบรมให้บุคลากรแถวหน้า เช่น กลุ่มธุรกิจการเงินและธนาคาร นั่นเพราะองค์กรต่างๆ ตระหนักว่าความผิดพลาดเล็กน้อยในด้านวัฒนธรรมอาจกระทบต่อภาพลักษณ์และความตั้งใจดีในการบริการลูกค้าได้ เช่น การก้มศีรษะทักทายของชาวจีนไม่เหมือนของชาวญี่ปุ่น คือ ก้มระดับไหล่ ไม่ใช้โค้งตัวในระดับเอวเหมือนชาวญี่ปุ่น ที่สำคัญการโค้งของชาวญี่ปุ่นมีหลายระดับ และแต่ละระดับมีความหมายแตกต่างกัน

อีกตัวอย่างเช่น การพูดคุยกับนักธุรกิจชาวอเมริกัน การสบตาหมายถึงการตั้งใจรับฟัง แต่สำหรับชาวญี่ปุ่น ต้องมีหลบตาลงบ้าง เพราะถ้าสบนานไป อาจดูเป็นการจดจ้องและทำให้คู่สนทนาไม่สบายใจ หรือการกล่าวเรียกชื่อ บางวัฒนธรรมเรียกนามสกุล บางวัฒนธรรมเรียกชื่อหน้า หรือสตรีจากบางวัฒนธรรม เมื่อแต่งงานแล้วก็ยังใช้นามสกุลเดิม ดังนั้น หากเรากล่าวสวัสดีทักทายเธอโดยเหมาเอาเองว่าเธอใช้นามสกุลของสามี อาจทำให้เกิดความไม่พอใจได้

การพัฒนา CQ แบ่งออกเป็นสี่มิติด้วยกันดังนี้ มิติที่หนึ่ง คือ ความสนใจและเปิดใจเรียนรู้วัฒนธรรมอื่นๆ อย่างไม่มีอคติใดๆ ซึ่งผู้สอนต้องเป็นตัวอย่างที่ดี หากผู้สอนดูถูกวัฒนธรรมอื่นโดยไม่รู้ตัว หรือยกว่าวัฒนธรรมของตนดีกว่า จะทำให้ผู้เรียนไม่ศรัทธาในด้านนี้ มิติที่สอง เป็นการหาข้อมูล ความรู้ของวัฒนธรรมนั้นๆ ซึ่งควรชี้ให้เห็นถึงที่มาของวัฒนธรรมต่างๆ มีวีดิทัศน์หรือตัวอย่างให้ดู จะทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้เร็วกว่าการบรรยายเฉยๆ มิติที่สาม คือ การช่วยให้ผู้เรียนได้วางแผนปฏิบัติ นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในงาน และมิติที่สี่ คือ ติดตามผลว่านำไปปรับใช้ในการสื่อสารและการแสดงออกแล้วได้ผลอย่างไร

นอกจากการพัฒนาอย่างเป็นทางการ เช่น การอบรมหรือการโค้ช ตัวต่อตัวแล้ว ยังมีวิธีการง่ายๆ ในการพัฒนา CQ ให้ตนเอง คือ อ่านหนังสือหรือสื่อต่างๆ ที่แนะนำความรู้ด้านวัฒนธรรม ดูหนังที่เล่าขานวัฒนธรรมที่สนใจ ไปทานอาหารร้านอาหารประจำชาติของวัฒนธรรมต่างๆ เรียนภาษาอื่นๆ และหาโอกาสดูเว็บที่น่าสนใจ เช่น www.worldpress.org สมัครเป็นสมาชิกหอการค้าของต่างชาติ ไปร่วมงาน Networking ของสมาคมหรือ หอการค้า เข้าร่วมสมาคมที่มีสมาชิกจากหลากหลายวัฒนธรรม หาโค้ช ด้านสื่อสารต่างวัฒนธรรมมาช่วย ไปเที่ยวประเทศอื่นถ้ามีงบประมาณเหมาะสม ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ บันทึกข้อมูลที่น่าสนใจ ชวนเพื่อนๆ ทำบันทึกสิ่งที่เป็นข้อห้ามของวัฒนธรรมต่างๆ และแลกเปลี่ยนกัน