ความขัดแย้ง วิกฤต หรือ โอกาส (2)
ลักษณะนิสัย 4 แบบที่แตกต่าง สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดี หรือ สร้างความขัดแย้งได้
โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ
คราวที่แล้วได้กล่าวถึงบ่อเกิดของความขัดแย้งที่หากเป็นเรื่องระหว่างบุคคล (Relationship) มักรับมือได้ยากกว่าเรื่องงาน วันนี้จึงขอแนะนำให้คุณผู้อ่านรู้จักลักษณะที่แตกต่างของคนสี่รูปแบบ ก่อนอื่นมาดูว่าคุณเป็นแบบใด
แบบแรกคือ นักลุย มีลักษณะชอบแข่งขัน ชอบผจญภัย ชอบบุกเบิก เราสังเกตได้ว่า นักลุยมักพูดเร็ว เสียงดัง ดูรีบร้อน อาจดูไม่อ่อนหวาน ความคิดเห็นของตนเองจะเป็นเหมือนข้อเท็จจริงที่ไม่ต้องมีการอภิปรายกันอีก ตรงไปตรงมา
แบบที่สองคือ นักพูด มีมนุษยสัมพันธ์ดีเยี่ยมเป็นมิตรกับคนได้ทันที ชอบแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกัน สร้างบรรยากาศเฮฮา มักเป็นผู้เสนอแนวคิดนอกกรอบ เปิดเผย อยู่เฉยๆ ไม่เป็น เน้นที่แง่ดีของสิ่งต่างๆ เป็นผู้ที่จูงใจผู้อื่นได้ดี แต่ไม่ชอบลงรายละเอียด
แบบที่สาม นักผ่อนปรน เป็นคนระมัดระวัง ทำอะไรมีขั้นตอน มีความสม่ำเสมอ ไม่ชอบออกหน้า เป็นผู้รับฟังที่ดี ยึดมั่นในตัวใครและสิ่งใดแล้วมักมีความมั่นคง ไม่เปลี่ยนง่ายๆ ใส่ใจกับความรู้สึกของผู้อื่นและส่วนรวม ไม่ชอบโดนกดดัน ชอบให้บอกดีๆ ช้าๆ ชัดๆ แล้วจะปฏิบัติตาม
แบบที่สี่คือ นักคิดวิเคราะห์ ลักษณะคือ ต้องการความถูกต้อง ความสมบูรณ์แบบ ปฏิบัติตามกฎ มีระเบียบ ไม่ต้องการตัดสินใจถ้าไม่มีข้อมูลที่ดีและครบถ้วน อ้างอิงกฎเกณฑ์ พูดน้อย ไม่แสดงความรู้สึก อ่านยากว่าคิดหรือรู้สึกอย่างไรอยู่
ต่อไปมาดูกันว่า อุปนิสัยของคุณอาจนำไปสู่ความขัดแย้งกับคนลักษณะอื่นๆ ได้อย่างไร
นักลุยมักนำไปสู่ความขัดแย้ง เพราะคุณอยากให้เกิดผลลัพธ์รวดเร็วจึงมองข้ามเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ตัดบทความคิดเห็นผู้อื่นทำให้ผู้อื่นเสียความรู้สึกโดยไม่ตั้งใจ ละเลยรายละเอียดที่อาจะสำคัญ
หากคุณเป็นคนแบบอื่น ความขัดแย้งอาจเกิดขึ้น เมื่อคุณทำให้ขาลุยฟันธงว่า คุณลงรายละเอียดขั้นตอนมากไป ชักช้า นำเรื่องส่วนตัวมาปนกับงาน ถกประเด็นต่าง ๆ มากมายแต่ไม่มีคำตอบ ใช้เวลามากเกินไป
นักพูด เพราะคุณอยากให้เกิดความหลากหลายและแปลกใหม่จึงเสียสมาธิและถูกดึงความสนใจได้ง่ายปล่อยให้ความคิดที่ผุดขึ้นมาเข้ามาแทรกสิ่งที่ทำอยู่ ไม่ค่อยจัดระเบียบ
หากคุณเป็นคนแบบอื่น ความขัดแย้งอาจเกิดขึ้น เมื่อคุณทำให้นักพูดรู้สึกว่าคุณติดกฎระเบียบมากไป ไม่ยืดหยุ่น ตัดบทที่จะฟังหรือพิจารณาทางเลือกต่างๆ
นักผ่อนปรน เพราะความที่คุณต้องการที่จะดูแลช่วยเหลือผู้อื่นจึงลืมว่าสิ่งสำคัญที่ต้องทำคืออะไร ไม่อยากเอ่ยปากขัดแย้งหรือปฏิเสธเพราะเกรงใจผู้อื่น
หากคุณเป็นคนแบบอื่น ความขัดแย้งอาจเกิดขึ้น เมื่อคุณทำให้นักผ่อนปรนเชื่อว่า คุณเห็นแก่ธุระของตนเองเท่านั้น ไม่แคร์ความรู้สึกผู้อื่น ไม่รับฟัง ตัดสินใจเร็วโดยไม่ให้ทีมมีส่วนร่วมหรือรับรู้
นักคิดวิเคราะห์ เพราะคุณต้องการที่จะทำทุกอย่างให้ถูกต้องจึงจมอยู่กับข้อมูลและรายละเอียดจนบางครั้งลืมเป้าหมายใหญ่ที่แท้จริง ใช้เวลานานกว่าจะตัดสินใจ
หากคุณเป็นคนแบบอื่น ความขัดแย้งอาจเกิดขึ้น เมื่อคุณทำให้นักคิดวิเคราะห์ประเมินออกมาว่า คุณมั่วนิ่ม ไม่ถี่ถ้วนรอบคอบ และตัดสินใจโดยใช้ความรู้สึก
เมื่อรู้เขา รู้เราแล้ว การปรับตัวเพื่อร่วมงานกันกับคนแต่ละลักษณะก็จะง่ายขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการที่เราต่างกัน หมายถึงเรามีจุดแข็งต่างกัน เมื่อเน้นการนำจุดแข็งข้อดีมารวมกันได้ จะทำให้เรามีผลลัพธ์ที่ดีกว่าการที่เราคิดคนเดียวได้อีกด้วยนะคะ