posttoday

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ 'น้ำซุป' (2)

08 มิถุนายน 2557

เห็นได้ว่าความเคยชินในการดื่มน้ำซุปของคนแต่ละถิ่นมีความแตกต่างกัน

เห็นได้ว่าความเคยชินในการดื่มน้ำซุปของคนแต่ละถิ่นมีความแตกต่างกัน จึงมีคำถามตามมาว่า “ควรดื่มน้ำซุปก่อนหรือหลังมื้ออาหารดี”

ชาวจีนบางกลุ่มโดยเฉพาะชาวกวางตุ้งเคยชินกับการดื่มซุปก่อนรับประทานอาหาร ด้วยคิดว่าเป็นการบำรุงร่างกายแบบประหยัด ถือเป็นการสร้างความหล่อลื่นให้กระเพาะอาหารก่อนที่จะต้องทำงานอย่างหนักกับการย่อยอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ ทั้งยังช่วยให้รับประทานอาหารได้อย่างคล่องคอ และช่วยให้ลำไส้ดูดซึมอาหารได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญ การดื่มน้ำซุปก่อนรับประทานอาหารยังส่งผลต่อปริมาณการรับประทานอาหารที่น้อยลง เป็นประโยชน์ต่อระบบการย่อยของกระเพาะอาหารและลำไส้ ความคิดเช่นนี้ก็ไม่ผิดแผกอะไรนัก เพราะไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกาย

แต่การดื่มซุปหลังมื้ออาหารก็มีข้อดีเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ร่างกายอ่อนแอ กระเพาะอาหารและลำไส้ไม่ค่อยดี ผู้ที่ขาดสารอาหาร ผู้ป่วยโรคเรื้อรังนานาชนิด รวมทั้งผู้สูงวัยที่การทำงานของอวัยวะในร่างกายเสื่อมสภาพ การดื่มซุปหลังอาหารมีส่วนช่วยระบบการย่อยและดูดซึมอาหารของกระเพาะและลำไส้ของคนเหล่านี้

ดังนั้น การดื่มน้ำซุปก่อนหรือหลังอาหารล้วนมีข้อดีทั้งสิ้น เป็นไปตามหลักการบริโภคของการแพทย์แผนจีนที่ว่า “การรับประทานอาหารให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายนั้นมีความแตกต่างไปตามสภาพร่างกายและปัจจัยแวดล้อม”

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ \'น้ำซุป\' (2)

 

เราจะสังเกตว่าเวลาดื่มน้ำซุป คนส่วนมากมักไม่ค่อยรับประทานเนื้อที่ใช้ในการต้มซุปด้วย คิดว่าเป็นกากอาหารที่ไร้ประโยชน์ อีกอย่างความหวานของเนื้อก็ละลายอยู่ในน้ำซุปแล้ว เนื้อจึงไม่ค่อยมีรสชาติ สารอาหารต่างๆ ก็ละลายเข้ากับน้ำซุปที่นำไปเคี่ยว ดังนั้นการดื่มน้ำซุปโดยไม่รับประทานเนื้อ จึงน่าจะมีสารอาหารที่ครบถ้วนเพียงพอแล้ว หลายคนจึงเลือกดื่มแต่ซุปเพียงอย่างเดียว

ที่จริงแล้ว ความคิดเช่นนี้ไม่ค่อยถูกต้องนัก เพราะไม่ว่าจะเคี่ยวซุปนานกี่ชั่วโมงก็ตาม สารอาหารในเนื้อที่ใช้ต้มซุปก็ไม่ได้ละลายอยู่ในน้ำซุปทั้งหมด การรับประทานเนื้อซุปในปริมาณที่พอเหมาะหลังดื่มน้ำซุปถือเป็นการรับประทานที่ได้คุณประโยชน์ครบถ้วน และยังให้คุณค่าทางอาหารมากกว่าการดื่มซุปอยู่มาก ยกตัวอย่างเช่น สารอาหารที่ร่างกายขาดไม่ได้อย่างโปรตีน มีอยู่ในเนื้อสัตว์ในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 90 ขณะที่สารดังกล่าวมีอยู่ในน้ำซุปไม่เกินร้อยละ 10 เท่านั้น ส่วนไขมัน วิตามิน แร่ธาตุนานาชนิดโดยมากมักอยู่ในเนื้อสัตว์ในปริมาณสูงทั้งสิ้น

มีข้อน่าสังเกตว่า การเคี่ยวซุปในเวลาที่นานเกินไป กลับทำให้สูญเสียสารอาหารมากขึ้น เช่น วิตามินที่ง่ายต่อการละลายในน้ำ ผักสีเขียวที่อุดมไปด้วยวิตามินซี ซึ่งมักง่ายต่อการสูญเสียคุณค่าทางอาหารหากใช้ความร้อนสูงในการต้ม ยิ่งใช้เวลานานเกิน 20 นาที สารอาหารชนิดนี้ก็เกือบจะหมดไป สารโพแทสเซียมจะเพิ่มสูงขึ้น เป็นโทษต่อผู้ที่ป่วยเป็นโรคไต นอกจากคุณประโยชน์ในน้ำซุปจะน้อยลงแล้ว สารอาหารในเนื้อที่ใช้ทำซุปก็ลดน้อยลงไปด้วย

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ \'น้ำซุป\' (2)

 

ชาวจีนยุคใหม่หันมาใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น จะเห็นว่ามีการนำสมุนไพรใส่ลงในน้ำซุป เพราะนอกจากจะบำรุงร่างกายแล้ว ยังช่วยรักษาโรคได้อีกทางหนึ่ง สมุนไพรที่นิยมนำมาต้มซุป ได้แก่ โสม เห็ดหลินจือ ตังกุย เทียนหมา ฯลฯ คนส่วนใหญ่มักต้มซุปสมุนไพรในปริมาณมากเพื่อให้สมาชิกทุกคนได้ทานซุปสุขภาพกันถ้วนหน้า ด้วยคิดว่าเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ร่างกาย ทว่า สมุนไพรจีนมีทั้งฤทธิ์ร้อนและฤทธิ์เย็น การเลือกใช้สมุนไพรที่เหมาะแก่สภาพร่างกาย ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะสามารถให้คุณให้โทษต่อร่างกายได้ทั้งสิ้น จึงไม่ควรมองข้ามการศึกษาสรรพคุณของสมุนไพรแต่ละชนิด เพื่อสามารถเลือกใช้ให้เหมาะแก่สภาพร่างกายของคนในครอบครัว

การดื่มซุปร้อนๆ ที่เพิ่งขึ้นจากเตาถือเป็นสุดยอดปรารถนาของชาวจีนจำนวนมาก เพราะคิดว่าอุดมไปด้วยสารอาหาร รสชาติก็สดใหม่ แต่นิสัยการรับประทานเช่นนี้นอกจากจะลวกปาก ส่งผลเสียต่อระบบการย่อยอาหารแล้ว ยังอาจนำไปสู่โรคมะเร็งหลอดอาหารอีกด้วย อันที่จริงแล้ว ช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหารสามารถรองรับอุณหภูมิระดับ 60 องศาเซลเซียส หากมีระดับสูงกว่านั้น จะส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อของส่วนต่างๆ ที่กล่าวมา ที่น่าสนใจคือ ในช่วงฤดูหนาวที่อากาศหนาวเย็น หลายคนมักนิยมดื่มซุปร้อนๆ เพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย อุณหภูมิของน้ำซุปที่เหมาะแก่การดื่มควรรักษาให้อยู่ในระดับไม่สูงกว่า 50 องศาเซลเซียส