เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ'น้ำซุป'(จบ)
การเคี่ยวซุปที่ใช้วัตถุดิบเพียงชนิดเดียวเพื่อถนอมความสดใหม่ของน้ำซุปถือเป็นการประกอบอาหาร
หมายเหตุบรรณาธิการ : กันย์ผกา เป็นนักเขียนที่จบปริญญาด้านภาษาจีนมาโดยเฉพาะ หลังจากนั้นก็ยังจับเรื่องจีนมาตลอด ปัจจุบันยังทำงานที่เดินทางไปดินแดนมังกรอย่างต่อเนื่อง
การเคี่ยวซุปที่ใช้วัตถุดิบเพียงชนิดเดียวเพื่อถนอมความสดใหม่ของน้ำซุปถือเป็นการประกอบอาหารที่ชาวจีนจำนวนไม่น้อยนิยมทำกัน ยกตัวอย่างเช่น ซุปไก่ ซุปกระดูกหมู ซุปเนื้อปลา ฯลฯ หรืออาจเป็นจำพวกซุปผักนานาชนิดอย่างซุปผักกาดขาว ซุปหัวไช้เท้า ซุปฟัก ฯลฯ ทว่า หลายคนไม่ได้ตระหนักว่า การดื่มซุปที่ใช้วัตถุดิบเพียงชนิดเดียวไปนานๆ จะทำให้ร่างกายขาดสมดุลทางโภชนาการ อีกอย่างซุปบางชนิดก็มีโปรตีนและไขมันในปริมาณค่อนข้างสูง หากดื่มบ่อยๆร่างกายก็จะมีสารอาหารเหล่านี้มากเกินความจำเป็น
ในส่วนของซุปผักที่ใส่เฉพาะอย่างนั้นอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อร่างกายเท่าใดนักและยังมีส่วนช่วยระบายไอร้อนภายในร่างกายได้อีกทางหนึ่งด้วย แต่การดื่มซุปผักชนิดเดียวบ่อยครั้ง อาจสร้างภาระให้แก่ระบบการขับปัสสาวะ ถึงแม้การขับปัสสาวะจะถือเป็นการขับของเสียออกจากร่างกายแต่หากขับออกในปริมาณที่มากเกินไป สารอาหารที่เป็นประโยชน์ก็จะถูกชะล้างออกมาด้วยเช่นกัน นำไปสู่ภาวะการขาดสมดุลระหว่างธาตุหยิน-ธาตุหยางในร่างกาย การดื่มซุปที่นำเนื้อสัตว์และผักมาเคี่ยวรวมกันในช่วงที่อากาศหนาวเย็น จะทำให้ได้น้ำซุปที่มีสัดส่วนทางโภชนาการที่ลงตัว ถือเป็นการรับประทานที่ช่วยเอื้อประโยชน์ให้แก่ร่างกายอย่างมาก
แต่ก็มีหลายคนที่มีรสนิยมในการเคี่ยวซุปที่อุดมไปด้วยสารอาหาร จึงมักเลือกวัตถุดิบประเภทเนื้อสัตว์ที่ให้พลังงานและไขมันสูงและยังมีการเติมส่วนผสมที่เป็นเครื่องในสัตว์ลงไปเพื่อประสิทธิภาพในการ"บำรุงร่างกาย"การดื่มซุปที่อุดมไปด้วยไขมันสัตว์ถือเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ร่างกายได้ดี แต่ไขมัน คอเลสเตอรอลและสารพิวรีนที่อยู่ในน้ำซุปล้วนมีอยู่ในปริมาณสูงทั้งสิ้น นอกจากจะเพิ่มภาระให้แก่การทำงานของกระเพาะอาหารแล้ว อาจนำไปสู่การเกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ยิ่งถ้าดื่มในปริมาณมากโอกาสที่จะเสี่ยงต่อภาวะโรคอ้วนก็มีสูง ไม่รวมถึงระดับไขมันในเลือดที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจรวมไปถึงผู้ป่วยโรคเกาต์และผู้ที่มีกรดยูริกในปัสสาวะสูงอาจทวีความรุนแรงขึ้น
ยิ่งในช่วงฤดูหนาวที่คนส่วนมากมักรับประทานเยอะขึ้น แต่มีกิจกรรมน้อยลงบรรดาอาหารที่มีไขมันสูงถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการย่อยอาหาร ดังนั้น การดื่มซุปที่ให้ไขมันและพลังงานสูงในปริมาณที่พอเหมาะพยายามเกลี่ยน้ำมันที่ลอยอยู่พื้นผิวด้านบนออกจะช่วยให้ดื่มที่ไม่เลี่ยนและอุดมไปด้วยสารอาหาร
คนส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับคำกล่าวที่ว่า"กินอะไรก็บำรุงอย่างนั้น ดื่มซุปกระดูกหมูช่วยเสริมแคลเซียม" แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะแคลเซียมที่อยู่ในกระดูกหมูนั้นละลายอยู่ในน้ำซุปเพียงเล็กน้อย ซุปกระดูกปริมาณ 10 กิโลกรัม ประกอบด้วยแคลเซียมเพียงไม่ถึง 150 มิลลิกรัมเท่านั้นน้ำซุปกระดูกหมูชามหนึ่งมีส่วนประกอบของแคลเซียมเพียง 2-3 มิลลิกรัม หากคำนวณตามสัดส่วนแคลเซียมที่ผู้ใหญ่ต้องรับประทานในแต่ละวันที่ซึ่งอยู่ที่ระดับ 800 มิลลิกรัมแล้วละก็ คงต้องดื่มซุปกระดูกหมูมากถึง 300-400 ชามกันทีเดียว ด้วยเหตุนี้คำกล่าวข้างต้นจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจกันไม่ถูกต้องนัก
นอกจากนี้ การดื่มซุปก็มีความแตกต่างกันไปตามกลุ่มคน ยกตัวอย่างเช่น คนอ้วนควรดื่มซุปก่อนมื้ออาหาร20-30 นาที และเป็นชนิดซุปใสที่ไม่ค่อยมัน จะช่วยให้รู้สึกอิ่มและรับประทานอาหารในปริมาณไม่มาก คนที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ระมัดระวังในเรื่องการดื่มซุปที่มีรสเค็มขณะที่คนเป็นโรคเกาต์ไม่เหมาะที่จะดื่มซุปเนื้อสัตว์ซุปปลา ซุปทะเล ฯลฯ เพราะมีปริมาณสารพิวรีนสูง ส่วนคนที่กระเพาะอาหารไม่ดี ไม่ค่อยเจริญอาหาร หากต้องการดื่มซุปเนื้อสัตว์ก็ควรรับประทานเฉพาะส่วนที่ไม่ค่อยมีน้ำมัน
สำหรับผู้สูงวัยหรือผู้ที่ชอบรับประทานอาหารชุ่มๆ ด้วยการราดน้ำแกงให้ท่วม มักไม่ค่อยใส่ใจกับการเคี้ยวอาหารให้ละเอียดนานวันเข้า กระเพาะอาหารก็ทำงานหนัก นำไปสู่การป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร ดังนั้นความเคยชินในการรับประทานข้าวในลักษณะดังกล่าวไม่ส่งผลดีต่อการทำงานของร่างกาย
มีข้อน่าสังเกตว่าคนจีนยุคใหม่มักรับประทานอาหารนอกบ้าน เพราะไม่มีเวลาประกอบอาหาร คนกลุ่มนี้ควรระมัดระวังเรื่องการรับประทานซุปเป็นพิเศษโดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน เพราะโดยมากมักใส่เครื่องปรุงรสอย่างเกลือผงชูรสเพื่อเพิ่มรสชาติในปริมาณมาก หากรับประทานบ่อยๆจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ
การรับประทานซุปให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือ รับประทานซุปที่ปรุงสดใหม่ ใช้วัตถุดิบในการทำที่หลากหลาย ไม่ใส่เครื่องปรุงรสมากจนเกินไป ถือเป็นการรับประทานที่ช่วยเพิ่มสารอาหารให้แก่ร่างกายได้ดีวิธีหนึ่ง