posttoday

Boring Summer

03 สิงหาคม 2557

และแล้วก็ถึงช่วงที่ประเทศจีนเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มตัวระหว่างเดือน ก.ค.-ส.ค.

และแล้วก็ถึงช่วงที่ประเทศจีนเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มตัวระหว่างเดือน ก.ค.-ส.ค. ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงวันเวลาแห่งการเป็นอิสระของนักเรียน นักศึกษาทั่วไป เพราะเป็นฤดูกาลแห่งการผ่อนคลายแบบยาวๆ ในช่วงที่อากาศไม่เหมาะแก่การเรียนการสอนอย่างมาก ส่วนใหญ่แล้วนักศึกษาก็มักจะแยกย้ายกันกลับสู่ภูมิลำเนาไปอยู่กับครอบครัว จะมีก็แต่เด็กๆ ตั้งแต่วัยอนุบาลเรื่อยไปจนถึงวัยมัธยมนี่แหละที่เรียกว่าปิดก็เหมือนไม่ได้ปิด เพราะตารางเรียนเสริมวิชาพิเศษ คอร์สฤดูร้อน... จิปาถะรอคิวอยู่ยาวเหยียด

เวลาที่พูดถึงคำว่า “ปิดเทอมฤดูร้อนในแบบฉบับของคนจีน” ก็เป็นอันเข้าใจตรงกันว่าประกอบด้วยกิจกรรม 3 อย่างในช่วงปิดเทอมใหญ่ของเด็กวัยเรียน ซึ่งก็มีการเรียนพิเศษ (หรือไม่ก็คอร์สสันทนาการ) เล่นเกมหรือดูโทรทัศน์อยู่กับบ้าน แล้วก็ทำการบ้านปิดเทอม นับวันกิจกรรมอย่างแรกจะกลายเป็นที่นิยมของผู้ปกครอง แต่กลับเป็นเรื่องเหนื่อยใจของเด็กๆ ทั้งหลาย เพราะแทบไม่มีเวลาเป็นของตัวเองเลย

Boring Summer

 

เมื่อเทียบกับกิจกรรมที่เด็กอเมริกันทำกันในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนอย่างไปตั้งแคมป์ ไปท่องเที่ยว ไปห้องสมุด ไปเป็นอาสาสมัคร... ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่การได้ผ่อนคลายกายใจแล้ว เด็กจีนยุคนี้ถือว่าไม่ได้ดื่มด่ำกับความรู้สึกเช่นนั้นเท่าใดนัก เพราะจะเน้นไปที่การเรียนเสริมวิชาต่างๆ มากกว่า ตารางการเรียนเสริมพิเศษในช่วงปิดเทอมก็ยังคงเน้นที่วิชาการเป็นหลัก อาจมีเสริมวิชาสันทนาการบ้าง แต่ก็มีสัดส่วนน้อยกว่ามาก

จริงๆ แล้ว รูปแบบการใช้เวลาของเด็กๆ ในช่วงปิดเทอมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจทั้งผู้ปกครองและตัวเด็กๆ เอง เพราะค่าใช้จ่ายในการเรียนแต่ละวิชา รวมๆ กันก็ปาเข้าไปหลายพันหยวนหรืออาจมากเป็นหมื่นหยวนทีเดียว นี่ยังไม่นับครอบครัวที่ลูกๆ อยากเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศซึ่งเป็นภาระทางการเงินจำนวนไม่น้อย หลายคนหาเงินกันจนหัวปั่น แต่ก็ต้องกัดฟันทน เพราะเห็นเป็นเรื่องจำเป็นในการเพิ่มทักษะความรู้ให้ลูกๆ เพื่อสามารถแข่งขันกับคนอื่นได้

Boring Summer

 

ปัจจุบันการเข้าเรียนในระดับประถม มัธยม ล้วนเต็มไปด้วยการแข่งขันทั้งสิ้น พ่อแม่มักคาดหวังให้ลูกได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ค่านิยมเช่นนี้ยังคงหยั่งรากลึกอย่างไม่เสื่อมคลาย หากลูกตัวเองไม่ได้เรียนเสริมในช่วงปิดเทอมเหมือนเด็กคนอื่น อาจไม่มีศักยภาพเพียงพอ เป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดัง เพราะนั่นหมายถึงโอกาสทางการงานที่สดใส

แนวคิดเช่นนี้ของผู้ปกครองกับระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ ถือเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตในช่วงปิดภาคฤดูร้อนของเด็กยุคนี้ และก็เป็นช่องทางของบรรดาสถาบันสอนพิเศษที่มักโฆษณาชวนเชื่อว่ามีมาตรฐานการสอนดีเยี่ยม แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้เป็นตามที่อวดอ้างสรรพคุณ ทว่าพ่อแม่ที่ต้องทำงานหาเงินทั้งสองคนไม่มีทางเลือก ครั้นจะปล่อยให้ลูกอยู่บ้านลำพังก็ไม่วางใจ ดังนั้นการส่งลูกเรียนพิเศษ นอกจากจะได้ความรู้เพิ่มเติมแล้ว ยังไม่ต้องหาคนมาช่วยดูแลอีกด้วย

ปิดเทอมฤดูร้อนที่เต็มไปด้วยการเรียนที่อัดแน่นกลายเป็น “ภาคเรียนที่ 3” ของเด็กยุคนี้ไปโดยปริยาย พวกเขาต้องท่องสูตรทางคณิตศาสตร์ ต้องเรียนวิชาดนตรี เรียนวิชาเขียนพู่กัน เรียนภาษาต่างประเทศ ฯลฯ ไม่ต่างจากตอนเปิดเทอมมากนัก แต่งานบ้านง่ายๆ อย่างการล้างจาน ถูบ้าน เช็ดโต๊ะ ซักเสื้อผ้า กลับไม่ได้แตะเลย ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้การใช้ชีวิต ไม่ค่อยได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เพราะวันๆ ก็ใช้เวลาไปกับการเรียนและการเดินทาง

Boring Summer

 

ลึกๆ แล้ว ผู้ปกครองอยากให้ลูกๆ มีความสุขกับการปิดเทอม และอยากให้ได้ทำอะไรที่ชอบมากกว่าที่จะให้เรียนอย่างเป็นบ้าเป็นหลังแบบที่เป็นกันอยู่นี้ แต่ความรู้สึกเหล่านี้ก็ถูกหักล้างด้วยเหตุผลที่ว่า “ไม่ควรปล่อยให้ลูกแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้ออกสตาร์ท” “คะแนนสอบที่ดีสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด” จึงเป็นที่มาของการลงทุนไปกับการเรียนเสริม ถือเป็นการลิดรอนอิสรภาพของลูกแบบไม่ตั้งใจ ทำให้เด็กๆ ไม่ค่อยมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีจินตนาการ ความหวังดีที่พ่อแม่มอบให้กลับไม่ได้สร้างความรู้สึกผ่อนคลายให้แก่ชีวิตช่วงปิดเทอมของลูกๆ เลย

การเลือกเรียนพิเศษตามความชอบของลูก การพาไปสัมผัสวิถีชีวิตที่เรียบง่ายยังชนบท การสอนให้รู้จักซื้อของ ฯลฯ อาจเป็นทางเลือกในการใช้ชีวิตช่วงปิดเทอมที่สร้างความสุขให้แก่ลูกๆ มากกว่าการเพิ่มความรู้อย่างอัดแน่น แต่สิ่งเหล่านี้คงเกิดขึ้นได้ลำบาก หากระบบการศึกษาที่เน้นการสอบแข่งขันของจีนยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป