posttoday

‘เชื้อเพลิงชีวภาพ’ พระเอกพลังงาน หรือ ผู้ร้ายอาหารโลก

08 กุมภาพันธ์ 2558

ราวหนึ่งทศวรรษก่อน เมื่อความต้องการใช้พลังงานไม่สอดคล้องกับความจำเป็นในการทะนุถนอมโลกใบนี้

ราวหนึ่งทศวรรษก่อน เมื่อความต้องการใช้พลังงานไม่สอดคล้องกับความจำเป็นในการทะนุถนอมโลกใบนี้ การขวนขวายหาทางออกจึงเกิดขึ้น ก่อนมาลงตัวที่พลังงานหมุนเวียน โดยมีพลังงานทางเลือกหน้าใหม่มาแรงอย่าง “ไบโอฟูเอล” (เชื้อเพลิงชีวภาพ) เป็นพระเอกที่ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ

เพราะนอกจากจะเป็นพลังงานสะอาดที่สกัดจากพืช ซึ่งไม่ก่อก๊าซคาร์บอนในกระบวนการเผาไหม้แล้ว พืชที่นำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพอย่าง ถั่วเหลือง ข้าวโพด หรืออ้อย ยังกลายเป็นพืชทางเศรษฐกิจมูลค่านับล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคุ้มค่าต่อการลงทุนและยังช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจโต

‘เชื้อเพลิงชีวภาพ’  พระเอกพลังงาน หรือ ผู้ร้ายอาหารโลก

 

แต่มีได้ย่อมมีเสีย การโหมปลูกพืชเพื่อเชื้อเพลิงชีวภาพกลายเป็นการแย่งชิงพื้นที่เพาะปลูกเพื่ออาหาร ซ้ำร้ายไบโอฟูเอลยังเป็นผู้ร้ายที่ทำให้ราคาอาหารพุ่งทะยานสูงขึ้นจนน่าตกใจ กระทบต่อคนจนค่อนโลกในการเข้าถึงอาหาร

ระยะเวลากว่า 10 ปี แม้ไม่ยาวนานนัก แต่ก็อาจถือได้ว่าเพียงพอที่จะชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์เชื้อเพลิงชีวภาพกับความจำเป็นในการดำรงชีวิตมนุษย์ โดยล่าสุด สถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (เอ็นจีโอ) ในกรุงวอชิงตัน สหรัฐ ประกาศว่า

‘เชื้อเพลิงชีวภาพ’  พระเอกพลังงาน หรือ ผู้ร้ายอาหารโลก

 

“การเปลี่ยนข้าวโพดและน้ำตาลให้เป็นพลังงานเป็นเรื่องที่สูญเปล่า อีกทั้งยังเป็นการเบียดเบียนผืนดินที่ควรจะนำไปใช้ได้ดีกว่าในการผลิตอาหาร” รวมถึงแนะนำให้รัฐบาลทั่วโลกยกเลิกการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ และจำกัดปริมาณเอทานอลที่จะต้องผสมลงไปในน้ำมันเบนซินเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

สถาบันแห่งนี้ยังใช้ผลการศึกษาวิจัยยืนยันอีกว่า การสนับสนุนผลักดันให้สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทั่วโลกอยู่ที่ 20% ภายในปี 2050 จำเป็นต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกในขณะนี้เพิ่มถึง 2 เท่า สอดคล้องกับรายงานองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ซึ่งวิตกว่า พื้นที่เพาะปลูกเพื่ออาหารขณะนี้ลดน้อยลง ส่วนหนึ่งเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้พื้นที่ปลูกพืชเพื่อการพลังงาน

‘เชื้อเพลิงชีวภาพ’  พระเอกพลังงาน หรือ ผู้ร้ายอาหารโลก

 

นอกจากนี้ ความพยายามส่งเสริมไบโอฟูเอลในฐานะพลังงานสะอาด ยังทำให้ช่องว่างความต้องการอาหารและความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้น จนโลกเผชิญ “ช่องว่างอาหาร” (Food Gap) สูงถึง 70% หรือผลิตผลเพื่อการบริโภคในปีนี้ไม่สามารถตอบสนองความจำเป็นต่อการบริโภคที่จะเพิ่มมากขึ้นในปี 2050 ถึง 70% แถมข้อเสนอของรัฐบาลสหรัฐและยุโรปที่สนับสนุนไบโอฟูเอล ยังเบียดเบียนพืชผลทางการเกษตรที่ผลิตในปัจจุบันไปอีก 30%

“เราๆ ท่านๆ จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับประเด็นนี้กันเสียใหม่” ทิม เสิร์ชอินเจอร์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ หัวเรี่ยวหัวแรงหลักผู้เขียนรายงานฉบับนี้สรุป

กินได้กับกินไม่ได้

อย่างไรก็ตาม คงลำเอียงเกินไป หากพิจารณาข้อมูลจากสถาบันทรัพยากรโลกเพียงฝ่ายเดียว

เพราะเมื่อหันไปถามความเห็นจากผู้ผลิตพืชเศรษฐกิจเพื่อเชื้อเพลิงชีวภาพ แพต กรูเบอร์ ประธานกรรมการบริหาร (ซีอีโอ) บริษัท จีโอ อิงค์ ในรัฐโคโลราโด สหรัฐ ระบุชัดว่า รายงานนี้ไม่เข้าใจคำว่า “อาหาร” แถมเน้นย้ำความสำคัญของข้าวโพดและน้ำตาลในฐานะอาหารเกินความจริง เนื่องจากข้าวโพดไม่ได้มีคุณค่าทางโภชนการมากเมื่อเทียบกับอาหารอื่น

‘เชื้อเพลิงชีวภาพ’  พระเอกพลังงาน หรือ ผู้ร้ายอาหารโลก

 

ด้าน คีธ อัลเวอร์สัน แห่งสมาคมผู้ปลูกข้าวโพดแห่งชาติสหรัฐ ยืนยันว่า มีปริมาณข้าวโพดเพียงพอ ไม่ว่าจะเพื่ออาหาร เพื่อพลังงาน หรือเพื่อเลี้ยงสัตว์ ดังนั้นประเด็นเรื่องอาหารเป็นเรื่องที่ไม่ควรต้องห่วง

ไร้ทางเลือก

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งแย้งอีกว่าขณะนี้ยังจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทำให้การเผาไหม้ของน้ำมันเบนซินสะอาดมากขึ้น

“ในสหรัฐไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากน้ำมันเอทานอล” ซาริม มอร์ซีย์ นักวิเคราะห์ด้านการเงินเพื่อพลังงานใหม่จากบลูมเบิร์ก กล่าว พร้อมเสริมว่า ต่อให้ต้องแย่งชิงพื้นที่เพาะปลูกกับพืชเพื่อการอาหาร ความจำเป็นบวกกับผลตอบแทนคุ้มค่า ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกสนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ และต่อให้เริ่มมีการตั้งคำถามถึงผลได้ผลเสียของเชื้อเพลิงชีวภาพกับความจำเป็นในการใช้งาน ความต้องการเอทานอลและไบโอฟูเอลในตลาดปัจจุบันก็ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงสั่นคลอน

อาหารกับพลังงาน

แม้ความกังขาระหว่างความจำเป็นของการใช้พืชเพื่อเลี้ยงชีวิตกับพืชเพื่อพลังงานมีแนวโน้มยากหาข้อสรุป เหมือนเช่นที่ภาวะโลกร้อนส่งผลดีหรือร้ายต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้กันแน่

แต่อย่างน้อยที่สุด ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสำนักระบุตรงกันว่า การตั้งคำถามต่อเชื้อเพลิงชีวภาพก็ได้จุดประกายให้ผู้คนเริ่มหันมาครุ่นคิดกันมากขึ้นถึงทางเลือกกับทางรอด

ซึ่งแท้จริงแล้ว สิ่งใดสำคัญต่อมนุษย์มากกว่ากัน ระหว่างอาหารกับพลังงาน โลกกำลังเดินมาถึงทางแยกที่เลือกยากอีกครั้งแล้ว...