วันฟ้าหม่น ‘แอร์เอเชีย’ ผจญอุปสรรคเพียบ

21 กุมภาพันธ์ 2558

หลังสายการบิน “แอร์เอเชีย” บริหารโดยรัฐบาลมาเลเซียขาดทุนอย่างหนัก ทาง “ตัน ศรี โทนี เฟอร์นันเดซ”

โดย...ณัฏฐญา เมฆสมณะศักดิ์

หลังสายการบิน “แอร์เอเชีย” บริหารโดยรัฐบาลมาเลเซียขาดทุนอย่างหนัก ทาง “ตัน ศรี โทนี เฟอร์นันเดซ” นักธุรกิจแดนเสือเหลืองจึงตัดสินใจเข้าซื้อพร้อมหนี้สินในปี 2001 โดยนักธุรกิจรายนี้ตั้งเป้าจะสร้างกลุ่มธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ เพราะเห็นว่าตลาดการบินในเอเชียกำลังขยายตัว

เฟอร์นันเดซมุ่งใช้กลยุทธ์ที่จะทำให้แอร์เอเชียเป็นเหมือนแมคโดนัลด์ในโลกการบิน ผ่านการทำบริษัทร่วมทุน (จอยท์เวนเจอร์) ในรูปแบบเหมือนแฟรนไชส์ ภายใต้ชื่อแอร์เอเชีย โดยวิธีการดังกล่าวทำให้แอร์เอเชียมีบริษัทในเครือถึง 9 บริษัทด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แอร์เอเชียกำลังเผชิญความท้าทายหลายอย่าง ทางเว็บไซต์หนังสือพิมพ์วอลสตรีท เจอร์นัล สหรัฐจึงไล่เรียงถึงอุปสรรคต่างๆ ของสายการบินต้นทุนต่ำแห่งนี้ไว้รอบด้าน

ปัจจัยแรก คือเหตุโศกนาฏกรรมเครื่องบินสายการบินอินโดนีเซีย แอร์เอเชีย หนึ่งในบริษัทในเครือของแอร์เอเชีย เที่ยวบินคิวแซด 8501 ตกช่วงปลายปีที่แล้ว ส่งผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตทั้งหมด 162 คน โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่าเหตุการณ์นี้จะส่งผลต่อรายได้ในปี 2014 ที่จะประกาศช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้แน่นอน

ปัจจัยต่อมา คือ การแข่งขันระหว่างสายการบินที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้ส่งผลให้กำไรของแอร์เอเชีย เบอร์ฮัด ของมาเลเซียเองมีผลกำไรลดลง ขณะที่ไทย แอร์เอเชียกลับไม่มีผลกำไร ส่วนในกรณีของอินโดนีเซีย แอร์เอเชีย และฟิลิปปินส์ แอร์เอเชียเอง ก็กำลังเดินหน้ากับการปรับโครงสร้างอยู่

ข้อมูลของศูนย์เพื่อการบินเอเชียแปซิฟิก (ซีเอพีเอ) ประเมินว่า ปี 2014 ทางแอร์เอเชียกรุ๊ป ซึ่งหมายรวมถึงบริษัทในเครือทั้ง 9 แห่ง จะมียอดผู้โดยสารอยู่ที่ 50 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 9.3% ทว่าจะเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เฟอร์นันเดซเข้ามากุมบังเหียนของแอร์เอเชียในปี 2002

วันฟ้าหม่น ‘แอร์เอเชีย’ ผจญอุปสรรคเพียบ

 

ส่วนปัญหาที่สาม ก็คือ รูปแบบการทำธุรกิจแบบแฟรนไชส์ที่กำลังทำร้ายศักยภาพการแข่งขันทางด้านราคาของแอร์เอเชียเอง

การดำเนินธุรกิจบริษัทร่วมทุนแบบแฟรนไชส์ ทำให้แอร์เอเชีย เบอร์ฮัดเองถือหุ้นอยู่ในบริษัทในเครือต่างๆ ด้วย แม้ว่าจะเป็นส่วนน้อยก็ตาม ทว่าบริษัทใหญ่ของมาเลเซียนี้ได้มีบทบาทควบคุมบริษัทในเครือ ตั้งแต่การทำแบรนด์ไปจนถึงการขายตั๋ว ซึ่งมาตรการดังกล่าวก็นับว่าได้สร้างมาตรฐานให้กับแอร์เอเชียเป็นอย่างดี

ทว่า ธุรกิจแบบแฟรนไชส์กำลังเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ศักยภาพการแข่งขันทางราคาของแอร์เอเชียลดลง เนื่องจากบริษัทในเครือมีต้นทุนสูงกว่าแอร์เอเชีย เบอร์ฮัด โดยบริษัทในเครืออาจต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับแอร์เอเชีย เบอร์ฮัด ไม่ว่าจะเป็นค่าบำรุงรักษา และค่าเช่าเครื่องบิน

จากข้อมูลของแอร์เอเชียพบว่า ต้นทุนต่อกิโลเมตร/ที่นั่งของแอร์เอเชีย ในมาเลเซียไตรมาส 3 ปีที่แล้ว อยู่ที่ 3.99 เหรียญสหรัฐ ขณะที่อินโดนีเซีย แอร์เอเชีย อยู่ที่ 5.14 เหรียญสหรัฐ ส่วนไทย แอร์เอเชีย อยู่ที่ 5.24 เหรียญสหรัฐ

ปัญหาสุดท้าย คือ การควบคุมแฟรนไชส์ และความแตกต่างด้านวัฒนธรรมได้ขัดขวางการขยายตัวในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และเวียดนาม โดยกรณีของญี่ปุ่นเกิดจากความพยายามของแอร์เอเชียที่จะเข้าควบคุมการทำงานหุ้นส่วนในอนาคตมากเกินไป

โฆษกของสายการบินออล นิปปอน แอร์เวย์ส (เอเอ็นเอ) ซึ่งเคยจะจับมือกับแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า หนึ่งในข้อขัดแย้งคือ แอร์เอเชียพึ่งพาการจองตั๋วออนไลน์ถึง 85% ขณะที่การจองตั๋วในญี่ปุ่นจะผ่านบริษัทท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ไม่เพียงเท่านั้น แอร์เอเชียไม่ต้องการที่จะเปลี่ยนระบบที่บังคับให้ผู้โดยสารต้องเช็กอินก่อนเวลาเครื่องออก 45 นาทีด้วย

สำหรับเวียดนาม ปัญหามาจาก 2 ประการ ได้แก่ หนึ่งแอร์เอเชียระบุว่า ไม่ได้รับการอนุมัติจากเวียดนามให้ใช้ชื่อแอร์เอเชีย ซึ่งบริษัทระบุว่าเป็นพื้นฐานที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ และสอง แหล่งข่าวภายในที่เกี่ยวข้องระบุว่า เกิดจากความต่างทางวัฒนธรรมที่ทำให้การจับมือล้มเหลว โดยต่างฝ่ายต่างต้องการบริหารองค์กรตามรูปแบบของตนเอง

Thailand Web Stat