จับตาสะพานข้ามโขงลาว-พม่า พลิกโฉม‘สามเหลี่ยมทองคำ’
การเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 เชื่อมระหว่าง อ.เชียงของ จ.เชียงราย กับแขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว
โดย...ชินภัทร์ ไชยมล
การเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 เชื่อมระหว่าง อ.เชียงของ จ.เชียงราย กับแขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว ได้สร้างรูปธรรมอย่างชัดเจนให้กับเส้นทาง R3A เชื่อมจีนตอนใต้ ลาว และไทย แต่ไม่นานนักลาวและพม่าได้ร่วมกันสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ที่เมืองเชียงลาบ ฝั่งลาว กับเมืองลอง ในฝั่งพม่า ห่างจาก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ไปทางทิศเหนือ 82 กิโลเมตร เพื่อรองรับการคมนาคมจากจีน ผ่านลาว ตรงเข้ามายังพื้นที่พม่าที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งถือเป็นทางเลือกใหม่
ปัจจุบันเส้นทางคมนาคมเชื่อม จ.เชียงราย กับประเทศเพื่อนบ้าน แบ่งออกได้เป็น 3 สาย ได้แก่ 1.เส้นทางแม่น้ำโขง จากท่าเรือเชียงแสน ไปยังท่าเรือระหว่างทางในเขตพม่า ลาว และปลายทางที่เมืองจิ่งหงหรือเชียงรุ่ง จีนตอนใต้ ระยะทาง 330 กิโลเมตร 2.เส้นทางข้ามแม่น้ำโขง ที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 จาก อ.เชียงของ ผ่านแขวงบ่อแก้ว แขวงหลวงน้ำทา ตรงสู่เมืองเชียงรุ่ง และนครคุนหมิง ของจีน ระยะทางประมาณ 245 กิโลเมตร 3.เส้นทางด่านแม่สาย เข้าสู่ท่าขี้เหล็กของพม่า ไปยังเมืองเชียงตุง เข้าเมืองลา สู่ประเทศจีนระยะทาง 244 กิโลเมตร และสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ดังกล่าวซึ่งจะเปิดใช้ได้อย่างเป็นทางการในเดือน พ.ค.นี้ ก็จะเป็นทางเลือกใหม่ที่ย่นระยะทางจากเส้นทางเดิมได้กว่า 100 กิโลเมตร
ต้องยอมรับว่าการติดต่อระหว่างเชียงรายและจีนตอนใต้ในปัจจุบันนั้นคึกคักอย่างมาก จากการที่สายการบินไชน่า อีสเทิร์น บินตรงจากท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงรายไปยังนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน สัปดาห์ละ 3 วัน ขณะที่กลุ่มทุนจีนปักหลักเช่าพื้นที่ในเขตประเทศลาวใกล้ชายแดนไทยด้าน อ.เชียงแสน เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษมาก่อนหน้านี้เกือบสิบปีแล้ว ดังนั้นหากสะพานและเส้นทางสายใหม่แห่งนี้เปิดใช้ ก็จะเป็นอีกด้านหนึ่งที่สินค้าจากจีนจะทะลักเข้ามายังพม่าและไทย
ขณะเดียวกัน เส้นทางสายใหม่ที่น่าจะจับตาเป็นอย่างมาก ภายใต้ความพยายามในการผลักดันจากทุกภาคส่วน ทั้งจากฝ่ายไทยและพม่า นั่นคือเส้นทางถนนเชื่อมจากเชียงตุงไปยังเมืองตองยี เมืองหลวงของรัฐฉาน เพื่อใช้ขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว ในอนาคต โดยถนนสายเชียงตุง-เมืองตองยี จึงเป็นถนนสายยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกเส้นหนึ่ง
เชียงรายนั้นเป็นพื้นที่ซึ่งกลุ่มทุนจีนหมายตาจับจ้องเอาไว้นานแล้ว จากอดีตซึ่งกลุ่มทุนจีนเข้ามาตั้งฐานการค้าในพื้นที่ อ.เชียงแสน เป็นจำนวนมาก รองรับการขนส่งสินค้าทางเรือ แต่อนาคตหากเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ อ.เชียงของ เกิดขึ้นจริง กลุ่มทุนจีนก็เตรียมแผนลงทุนสร้างคลังสินค้ารองรับไว้แล้ว ซึ่งคาดว่าจะเป็นโครงการใหญ่มูลค่าการลงทุนหลายพันล้านบาท
บางทีอาจไม่ใช่แค่ อ.แม่สอด จ.ตาก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ที่รัฐบาลเดินหน้าผลักดันเขตเศรษฐิจพิเศษให้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนเท่านั้น แต่อนาคตของ จ.เชียงราย ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ชัดเจน