‘กำเนิด IT เกาหลี’
มีคำถามชวนสงสัยมาว่า “กว่าเกาหลีจะมาเป็นผู้นำด้านไอที และบรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหลาย
โดย...เพียงออ วิไลย [email protected]
มีคำถามชวนสงสัยมาว่า “กว่าเกาหลีจะมาเป็นผู้นำด้านไอที และบรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหลาย เขาไปทำอะไรมา และทำไมเราถึงไม่ได้ทำอย่างนั้นบ้างล่ะ”... พูดถึงเรื่องนี้ ขอยกให้ “ปัจจัยแวดล้อมในอดีตที่เกาหลีจำเป็นต้องอยู่รอดหลังสงครามกับลักษณะนิสัยขยันขันแข็งพร้อมที่จะวิ่งชนเป้าหมายที่ตั้งไว้ในหน้าที่ของตน” เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในยุคเริ่มต้น ...หลังสงครามเกาหลีเมื่อ 60 กว่าปีก่อน เกาหลีจับกระแสของสินค้าถูกจุด เลือกที่จะหาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญคือต้องขี่กระแสนั้นไปให้ได้ตลอดค่ะ กล่าวคือ ในยุคสมัยหนึ่ง สินค้าหนึ่งอาจเป็นที่นิยมตาม วิถีชีวิต เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อพ้นสมัยไปแล้วก็มีสินค้าอื่นเข้ามาแทนที่ตามวิถีชีวิต เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นหลักการของ “วงจรชีวิตสินค้า” หรือที่เรียกกันว่า Product Life Cycle
ตัวอย่าง เช่น สมัยก่อนนักเรียนด้านไอที ต้องมานั่งเจาะรูกระดาษเพื่อเก็บข้อมูลเป็นตั้งๆ ต่อมาเก็บข้อมูลลงม้วนเทป แล้วก็เป็นแผ่น Floppy Disk แผ่นใหญ่ เก็บได้ไม่กี่ร้อย K ก็หรูมากแล้ว !! ตัวอย่างใกล้มาหน่อยเป็นแผ่นซีดี ซึ่งมีอายุในความนิยมหรือ Shelf Life เพียงแค่ 10 กว่าปี วันนี้ได้ยินว่าโรงงานผลิตแผ่นซีดีญี่ปุ่นรายใหญ่ซึ่งเคยเป็นที่เชิดหน้าชูตาว่ามีเทคโนโลยีล้ำสมัยมากของพวกเราชาวนิคมอุตสาหกรรม ก็ได้ปิดสายการผลิตไปแล้ว คนเขาหันไปใช้ Handy Drive เล็กๆ ความจุมหาศาลกันหมด ... พูดถึงเรื่องนี้ทำให้คิดถึงชีวิตของเพื่อนเกาหลีคนหนึ่งขึ้นมาได้ เขาเคยเป็นเจ้าของโรงงานผลิตม้วนวิดีโอเทป ขายดีมาก ร่ำรวยอู้ฟู่ ในเวลาต่อมาไม่นานสินค้าพ้นสมัยแล้วจึงต้องเลิกกิจการ โชคดีที่ตอนทำกิจการได้เก็บเงินไว้เยอะ ซื้อที่ดินและอาคารเก็บไว้ให้คนเช่าจึงไม่เดือดร้อน ทำอะไรเรื่อยเปื่อยอยู่หลายปีก่อนลาจากโลกนี้ไปเพราะหลังจากปิดกิจการเอาแต่นั่งๆ นอนๆ อยู่บ้าน ดูแลลูก คนเคยทำงานแล้วไม่ได้ทำงานจิตใจห่อเหี่ยว ไม่แข็งแรงเพราะไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย อายุเพียงแค่ 50 ต้นๆ เท่านั้น แต่หัวใจวายเสียชีวิตกะทันหันค่ะ เป็นเรื่องเศร้า...ด้วยเหตุนี้ ผู้บริหารกิจการต้องศึกษาตลาดอยู่ตลอดเวลาและวางแผนหาสินค้าทดแทนเตรียมพร้อมไว้ต่ออายุของกิจการ (และต่ออายุตนเองด้วย)...
กราฟวงจรชีวิตสินค้า ภาพ : consumerpsychologist
สำหรับฝั่งเกาหลี เนื่องจากสงครามได้ทำลายโครงสร้างเศรษฐกิจและธุรกิจเกาหลีย่อยยับ รัฐบาลเกาหลีรุ่นหลังสงครามจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพึ่งพาอาศัยกลุ่มธุรกิจของตระกูลต่างๆ ที่ยังคงเหลือรอดชีวิตมาได้ โดยให้เป็นผู้ขับดันเศรษฐกิจของประเทศ รัฐต้องจับมือกับกลุ่มคนเหล่านั้นโดยช่วยเหลือให้สามารถพัฒนาธุรกิจตามสายที่ตนเองถนัด ซึ่งต่อมากลายเป็นกลุ่มก้อนธุรกิจตระกูลที่ผูกขาด ซึ่งเรียก “แชบอล” การพัฒนาอุตสาหกรรมเริ่มต้นจริงๆ จังๆ กันหลังจากที่ประธานาธิบดีปักจองฮี (ท่านบิดาของประธานาธิบดีปัก คึน ฮเย คนปัจจุบัน) ขึ้นบริหารประเทศ ตั้งแต่นั้นมาทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศค่ะ ดังนั้น การพัฒนาทางด้านไอทีก็มีทิศทางที่ชัดเจน และกำหนดตัวเจ้าภาพมาตั้งแต่หลายสิบปีก่อนแล้วซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น ซัมซอง (ซัมซุง) และ คึมซอง (หรือ LG ในปัจจุบัน)... (ต่อฉบับหน้า)