อุดรฯเปิดใช้อาคารผู้โดยสารใหม่ รองรับสนามบินนานาชาติ
อุดรธานี แม้ไม่ใช่เมืองชายแดนและเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างหนองคาย จังหวัดเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน
โดย...ยุทธพงษ์ กำหนดแน่
อุดรธานี แม้ไม่ใช่เมืองชายแดนและเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างหนองคาย จังหวัดเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน แต่อุดรธานีนั้นเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจมายาวนาน โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของอุดรธานีนั้นมีอยู่พร้อม
ล่าสุดวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ก็มีการเปิดอาคารที่พักผู้โดยสารระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี เสริมความเข้มแข็งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเศรษฐกิจภาคอีสาน และเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย ซึ่งจะเชื่อมต่อกับเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอินโดจีน
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานอุดรธานีได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ จ.อุดรธานี และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนายุทธศาสตร์ชายแดน เพราะอยู่ห่างจากเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคายเพียง 50 กิโลเมตร นอกจากจะให้บริการผู้โดยสารในจังหวัด ยังให้บริการผู้โดยสารภาคอีสานตอนบน ตลอดไปจนถึงผู้โดยสารประเทศเพื่อนบ้าน
“ปัจจุบันท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานีมีสายการบิน 5 สาย วันละ 48 เที่ยวบิน โดยในปี 2556 มีผู้โดยสารใช้บริการ 1,325,320 คน ในปี 2557 ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 1,682,808 คน ซึ่งเท่ากับมีผู้โดยสารเติบโต 26.97% สำหรับปี 2558 นับถึงเดือน ก.ค.มีผู้โดยสารแล้ว 1,246,654 คน ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่เร็วมาก”
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศไทย ในด้านการเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการขนส่งทางอากาศทั้งในและต่างประเทศ มุ่งส่งเสริมการใช้ประโยชน์อากาศยานภูมิภาคมากขึ้น โดยการพัฒนาด้านการบินและอื่นๆ ที่กรมการบินพลเรือนมีความพร้อมในการผลักดันท่าอากาศยานในภูมิภาค ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ได้
“การพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ยังเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของประเทศด้วย โดยมีแผนจะขยายลานจอดเครื่องบิน และลานจอดรถ เพื่อรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารจากต่างประเทศ”
ทั้งนี้ กรมการบินพลเรือน (บพ.) ได้รับงบประมาณปรับปรุงก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารที่พักผู้โดยสารท่าอากาศยานหลังเดิม พร้อมระบบต่างๆ มีพื้นที่ใช้สอย 8,536 ตารางเมตร ประกอบด้วย ห้องพักผู้โดยสารเข้า-ออก ห้องโถงพักรอบริการ หนังสือเดินทาง ศุลกากร ด่านตรวจพืช ด่านตรวจโรค พร้อมระบบอื่นๆ ได้แก่ สะพานเทียบเครื่องบิน สายพานลำเลียงสัมภาระ ระบบลิฟต์คนพิการ-บันไดเลื่อน ระบบรักษาความปลอดภัย ภัตตาคาร ร้านค้า รองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน 400 คน/ชั่วโมง เมื่อเปิดให้บริการร่วมกับอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึงชั่วโมงละ 1,200 คน