‘ผู้นำที่ปราศจากผู้ตาม’
การขี่จักรยานในเช้าวันหยุด แสวงหาอากาศบริสุทธิ์และทิวทัศน์ที่สวยงามนอกเมือง กลายเป็นกิจกรรมยอดฮิต
โดย...เพียงออ วิไลย [email protected]
การขี่จักรยานในเช้าวันหยุด แสวงหาอากาศบริสุทธิ์และทิวทัศน์ที่สวยงามนอกเมือง กลายเป็นกิจกรรมยอดฮิตในปัจจุบัน คนขับรถยนต์ที่ไม่เคยขี่จักรยานบนถนนมาก่อน คงไม่มีใครเข้าใจความรู้สึก “เสียวสันหลังวาบ” เวลารถยนต์ขับปาดหน้าจักรยาน บางครั้งอาจจะถึงขั้นรู้สึก “เหมือนตายแล้วเกิดใหม่” ...ทว่า เมื่อได้ลองขี่จักรยานตามท้องถนนแล้ว ทำให้หลายๆ คนรวมทั้ง “เชกา” ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการขับรถไปเลยค่ะ เห็นจักรยานคราใดจะยิ่งเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นและยอมให้จักรยานผ่านไปก่อนทุกครั้ง เพราะมีความเข้าใจในความรู้สึกและข้อจำกัดของผู้ขี่จักรยาน
ในทำนองเดียวกัน “หากจะเป็นผู้นำที่ดี จะต้องเรียนรู้การเป็นผู้ตามที่ดีเสียก่อน” ผู้นำที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์การเป็นผู้ตามมาเลย คงไม่สามารถรู้ได้ว่า ผู้ตามเขาคิดและมีความกดดันอย่างไร... Leaders ที่เคยเป็นผู้ตามที่ดีมักจะสามารถสร้าง Followers หรือผู้ตามที่ดีได้ ...แม้ว่า Leaders จะเป็นผู้ที่นำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายแต่ก็เป็นเพียงแค่ครึ่งเดียว ส่วนที่เหลืออยู่ที่ผู้เล่นอีกฝ่าย คือ ผู้ปฏิบัติงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย ได้แก่ Followers หรือผู้ตาม ...ผู้นำจะต้องเป็นประกายไฟที่สปาร์กพลังงานที่ซุกซ่อนอยู่ของผู้ตามให้ลุกท่วมร่าง และต้องชื่นชมเมื่อเขาทำงานจนสำเร็จ...ด้วยเหตุนี้ ในช่วงสุดท้ายของ “หลักสูตรการสร้างผู้นำของมหาวิทยาลัยฮันยาง” นอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องการจัดการกับธุรกิจแล้ว นักศึกษาทุกคน-ทุกคณะจะได้รับการปลูกฝัง ให้เชื่อว่า “Leaders are nothing without followers” ...
พิจารณาแล้วให้รู้สึกคล้อยตามความจริงข้อนี้ “ผู้นำที่ไม่มีผู้ตามเลยสักคนก็แทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย” ผู้นำองค์กรที่คนอื่นๆ ในองค์กรไม่เชื่อถือ และไม่สามารถทำให้ลูกน้องปฏิบัติตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ ไม่อาจจะเรียกว่าเป็น “ผู้นำที่แท้จริง” ...ดังนั้น นอกจากเรียนรู้เรื่อง “ภาวะผู้นำ-Leadership” แล้ว ผู้นำยังต้องเรียนรู้ “ภาวะผู้ตาม-Followership” อีกด้วย...
นักศึกษาปริญญาโทและเอก ที่ฮันยาง...ทำงานวิจัยก็สลับกัน เป็นผู้นำและผู้ตาม
บ่อยครั้งที่ผู้นำต้องมีบทบาทเป็นผู้ตามที่ดีเพื่อสนับสนุนผู้ตามให้ทำงานสำเร็จ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการหยิบยื่นโอกาสแก่ลูกน้องให้ฉายแสงเจิดจรัสบนเวทีให้คนอื่นเห็นบ้างเพื่อความก้าวหน้าของเขาในอาชีพการงาน ผู้นำที่ให้โอกาสและไม่ขโมยซีนผู้ตาม ก็จะเป็นที่รักของผู้ตามเสมอ...จากประสบการณ์การทำงานในองค์กรใหญ่ของเกาหลีแห่งหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับผู้ตามเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อความสำเร็จขององค์กร จึงต้องมีการฝึกฝนวิธีการสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งเราเรียกว่า Membership Training...
นับว่าเป็นวิสัยทัศน์ชั้นเลิศของฮันยางที่จะพัฒนานักศึกษาของตนในระดับ “เวิลด์คลาส” จึงได้สอนเรื่องภาวะผู้ตามเพื่อให้นักศึกษาได้มองเหรียญทั้งสองด้าน...สิ่งที่ฮันยางสอน คือ ให้นักศึกษาได้เข้าใจผู้ตาม รู้ว่าผู้ตามมีความสำคัญอย่างไร การเป็นผู้ตามที่ดีควรเป็นอย่างไร...ผู้ตามมีหลายประเภท เช่น ผู้ตามที่คิดเชิงลบอยู่ตลอดเวลา ผู้ตามที่ไม่ค่อยจะตาม ผู้ตามที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ หรือใช้งานได้หลากหลาย ผู้ตามที่ตามอย่างเดียวไม่คิดอะไรเองเลย และผู้นำจะมีวิธีการรับมือกับผู้ตามแต่ละประเภทที่แตกต่างกันอย่างไร...