กางโผธุรกิจรุ่ง ลงทุนเขตทวาย

28 มกราคม 2559

โอกาสหนึ่งที่น่าสนใจคือ นักธุรกิจไทยมาเช่าพื้นที่ทำการเกษตรในเมืองทวาย

โดย...อัทธ์ พิศาลวานิช

โครงการทวายอยู่ห่างจากชายแดนไทยที่ด่านถาวรบ้านพุน้ำร้อน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี 138 กม. ส่วนตัวเมืองทวายห่างจากด่านบ้านพุน้ำร้อน 120 กม. ห่างจากกรุงเทพฯ 300 กม. ห่างจากท่าเรือแหลมฉบัง 450 กม. ห่างจากย่างกุ้ง 600 กม. ห่างจากเมืองหวังเต่า (Vung Tau)  1,050 กม. และห่างจากท่าเรือเชนไน 1,200 กม.

การเดินทางไปเมืองทวายไปได้ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ แต่ผมเลือกใช้เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี จากนั้นเดินทางต่อไปยังด่านถาวรบ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ในช่วง 60 กม.แรก เป็นถนนดินลูกรัง 2 เลน คดเคี้ยว ตัดผ่านภูเขา มีฝุ่นฟุ้งตลอดเส้นทาง

เศรษฐกิจของเมืองทวายขึ้นกับการทำประมง มีสัตว์น้ำทะเลตัวใหญ่ทุกประเภท ทั้งปลาตัวใหญ่กุ้ง และปลาหมึก สัดส่วนของกิจกรรมประมงคิดเป็น 40% ของจีดีพี รองลงมาคือ การปลูกยางพารา  เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ที่มีโรงงานแปรรูป 20 โรงงาน ผลผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์ส่งออกไปประเทศจีนทั้งหมด ด้วยราคากิโลกรัมละ 300 บาท โดยเปลือกทำเชื้อเพลิงได้ แต่ที่น่าเสียดายคือ โรงงานส่วนใหญ่จะทิ้งผลมะม่วงหิมพานต์ หากมีโรงงานไทยเข้ามาแปรรูปน่าจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสของไทย

หมากเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของทวาย เพราะใช้ทั้งบริโภคภายในประเทศและส่งออก ตามด้วยการปลูกอ้อยและกล้วย ตลอดสองข้างทางพบว่าดินทวายมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการทำการเกษตรกรรม

ดังนั้น โอกาสหนึ่งที่น่าสนใจคือ นักธุรกิจไทยมาเช่าพื้นที่ทำการเกษตรในเมืองทวาย

อีกธุรกิจที่น่าสนใจคือ การท่องเที่ยว เพราะทวายมีชายหาดทะเลที่สวยมาก ยังสะอาด และบริสุทธิ์ หากการเดินทางสะดวกกว่าปัจจุบัน มีโรงแรมและรีสอร์ทพร้อมกว่านี้ ไปรุ่งแน่ๆ

ขณะที่ส่วนของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนั้น  เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2555 รัฐบาลไทยและเมียนมาได้ทำเอ็มโอยูเพื่อพัฒนาพื้นที่  และต่อมาปรับลดพื้นที่เหลือ 197 ตร.กม. หรือเท่ากับ 123,125 ไร่  มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารโครงการ โดยปัจจุบันมีคณะกรรมการร่วมที่แบ่งเป็นระดับนโยบาย ที่มีนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และประธานาธิบดีเต็งเส่ง และคณะกรรมการร่วมระดับสูง (JHC)

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2556  คณะกรรมการ JHC มีมติจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ซึ่งไทยและเมียนมาจะถือหุ้นในสัดส่วน 50% เท่ากัน โดยฝ่ายไทยมีสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ. หรือเนด้า) และฝ่ายเมียนมามีกรมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (FERD)  มีการตั้งบริษัท ทวายเอส อี แซด ดีเวลล็อปเมนต์ ซึ่งจะเริ่มพัฒนาโครงการระยะแรก ใช้งบกว่า 5.9 หมื่นล้านบาท

การพัฒนาเฟสแรกมีพื้นที่ 27 ตารางกิโลเมตร ในระยะเวลา 50 ปี และต่อได้อีก 25 ปี  โดยจะครอบคลุมการลงทุนสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 9 ส่วน คือ 1.ถนนเชื่อมต่อโครงการทวายมายังบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ระยะทาง 138 กม. ขนาด  2 เลน ต้องเสร็จในเวลา 2 ปีครึ่ง (แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกระยะ51 กม. ช่วงสอง 43 กม. และช่วงสาม 44 กม.) มูลค่าก่อสร้างประมาณ 4,500 ล้านบาท โดยรัฐบาลไทยจะปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 0.2% ให้รัฐบาลเมียนมาผ่านเนด้า 2.ท่าเรือขนาดเล็ก 2 แห่ง ท่าเรือแรกรองรับ 400 TEU และท่าเรือที่สองขนาด 1,600 TEU 3.พัฒนาเขตอุตสาหกรรมซึ่งประกอบด้วยเขตอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า เครื่องหนัง อาหารแปรรูป อาหารทะเลแช่เย็น ยา เครื่องดื่มและบรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพทั้งสิ้น

4.สถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 5.ระบบโทรคมนาคม 6.โรงไฟฟ้า 7.ที่อยู่อาศัย 8.โรงงานก๊าซ และ 9.อ่างเก็บน้ำ โดยทั้ง 9 โครงการต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 8 ปี ระหว่างปี 2559-2566 คิดเป็น 65% ของโครงการทวายทั้งหมด

ปัจจุบันบริษัท ITD ร่วมกับบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะได้ตั้งบริษัท MIE (MyanDawei Industrial Estates)  รวมทั้งมีบริษัทอื่นๆ มาร่วมลงทุนในอนาคต เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในโครงการระยะแรก ได้แก่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า หรือ “เอ็กโก กรุ๊ป” และบริษัท แอล เอ็น จี พลัส อินเตอร์เนชั่นแนล

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2558 มีการลงนามระหว่างผู้ถือหุ้นบริษัทDawei SEZ Development โดยให้ธนาคารความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JBIC) เข้าถือหุ้นทำให้ทั้งสามฝ่าย ไทย เมียนมา และญี่ปุ่น ถือหุ้นฝ่ายละ 33.33%

ขณะนี้มีผู้สนใจลงทุนโครงการทวายเฟสแรก 78 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนไทย รองลงมาคือ นักลงทุนญี่ปุ่น และอุตสาหกรรมที่นักลงทุนสนใจ คือ เสื้อผ้าและเฟอร์นิเจอร์

หากนักลงทุนไทยต้องการได้รับสิทธิประโยชน์การลงทุนมากที่สุด ก็แนะนำให้ไปลงทุนใน “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ซึ่งมีสิทธิประโยชน์ภาษีนิติบุคคลที่จูงใจพอสมควร

การเช่าที่ดินเป็นอีกประเด็นที่สำคัญมากๆ และใหญ่พอๆ กับสิทธิประโยชน์ภาษีสำหรับนักลงทุนซึ่งตามกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษปี 2554 ครั้งแรกจะให้สิทธิการเช่าที่ดิน 30 ปีแรกก่อน หลังจากนั้นจะแยกตามประเภทธุรกิจดังนี้ สิทธิการเช่าที่ดินสูงสุด 75 ปี ให้เฉพาะนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้น ส่วนธุรกิจขนาดกลางได้สิทธิเช่าที่ดินสูงสุด 60 ปี ธุรกิจขนาดเล็กได้สิทธิเช่าที่ดินเพียง 40 ปี

ส่วนนี้แตกต่างกับกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษปี 2557 ที่เริ่มแรกจะให้สิทธิเช่าที่ดินก่อน 50 ปี และเพิ่มสูงสุดเป็น 75 ปี โดยไม่มีเงื่อนไขอื่นๆ

หากนับตั้งแต่ปี 2551 ถือว่าเกือบสิบปีแล้วที่โครงการทวายเป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก แต่ก็มีความคืบหน้าน้อยมาก ผมหวังว่าการเริ่มต้นรอบใหม่ครั้งนี้  ที่เปลี่ยนโฉมหน้าการบริหารจัดการใหม่ น่าจะมีอะไรเป็นรูปเป็นร่างมากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม หากไทยต้องการให้ จ.กาญจนบุรี และประเทศไทยเป็น “ประตูเศรษฐกิจตะวันตก” ในระยะสั้นที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างด่วน คือ การทำถนนลาดยาง 2 เลน ระยะทาง 138 กม. คือเส้นทางเศรษฐกิจระหว่างทวายกับไทยที่สำคัญมากๆ เพราะสภาพตอนนี้ไม่เอื้ออำนวยต่อทั้งการเดินทางและขนส่งสินค้า หากถนนเส้นทางไม่เกิด ธุรกิจก็ไม่เกิดแน่นอน อีกอย่างต้องอำนวยความสะดวกบริเวณด่านชายแดนทั้งสองฝั่ง ซึ่งจะทำให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวและนำเข้าส่งออกสินค้ามากขึ้น

Thailand Web Stat