เชียงราย : ประตูเศรษฐกิจ การค้าไทย-ลาว-พม่า-จีน
ผมเดินทางไปเก็บข้อมูลสินค้าเกษตรที่ จ.เชียงราย กับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนย.) กระทรวงพาณิชย์
โดย... อัทธ์ พิศาลวานิช
ผมเดินทางไปเก็บข้อมูลสินค้าเกษตรที่ จ.เชียงราย กับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนย.) กระทรวงพาณิชย์ เลยถือโอกาสไปเก็บข้อมูลด่านศุลกากรเชียงของ และด่านแม่สาย จ.เชียงราย หลังจากที่อาเซียนมีภาษีเป็นศูนย์ ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจมากครับ
จ.เชียงราย มีตำแหน่งที่ตั้งที่ได้เปรียบ เพราะติดกับประเทศเมียนมา ระยะทางยาว 153 กม. และลาวระยะทาง 155 กม. ทั้งสองประเทศนี้ติดกับประเทศจีนและอินเดีย เป็นตลาดที่สำคัญมากในขณะนี้ ไม่น่าจะมีจังหวัดในประเทศไทยเหมือนกับเชียงรายที่ติดกับอาเซียน อาเซียน+3 และอาเซียน+6
ขณะนี้มีด่านชายแดนที่สำคัญ 3 ด่าน คือ ด่านแม่สายที่ถูกวางตำแหน่งให้เป็น “Trading City” ที่เชื่อมโยงระหว่างเชียงราย เมียนมา และจีน ด่านเชียงแสนถูกวางตำแหน่งเป็น “Port City” เชื่อมเชียงราย เมียนมา ลาว และจีน และด่านเชียงของถูกวางตำแหน่งเป็น “Logistics City” ที่เชื่อมโยงเชียงราย ลาว และจีน
นอกจากนี้ เชียงรายจะถูกตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ก่อนที่จะลงในรายละเอียดผมขอนำเสนอข้อมูลด่านของประเทศไทยก่อนว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไรกันบ้าง
ในปี 2552 ไทยมีมูลค่าชายแดนรวม (มูลค่าส่งออกบวกนำเข้า) อยู่ที่ 6 แสนล้านบาท และปี 2557 เพิ่มเป็น 1.1 ล้านล้านบาท เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 7 หมื่นล้านบาท
จังหวัดที่มีมูลค่าการค้ารวมมากที่สุดคือ จ.ตาก ที่ด่านแม่สอด ตามด้วย จ.ระนอง และ เชียงราย ที่ด่านแม่สอดมีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 26,568 ล้านบาท ในปี 2552 และเพิ่มเป็น 62,522 ล้านบาท ในปี 2557 ในขณะที่มูลค่าการค้าของเชียงรายรวมในปี 2557 เท่ากับ 14,000 ล้านบาท (ส่งออกบวกนำเข้า) แต่ข้อมูลของด่านศุลกากรแม่สายและเชียงของรายงานว่าในปี 2558 มูลค่าการค้ารวมของเชียงของเท่ากับ 9,906 ล้านบาท และด่านแม่สาย เท่ากับ 17,162 ล้านบาท
ตรงบริเวณด่าน อ.แม่สาย ติดกับจังหวัดท่าขี้เหล็ก สามารถเดินทางไปยังเมืองเชียงตุง (จากเมืองเชียงตุงไปยังด่านมูเชของเมียนมาและรุ่ยลี่ของจีนระยะทาง 700 กม.) รัฐฉานของเมียนมาด้วยระยะทาง 164 กม. และต่อไปยังชายแดนเมียนมาที่เมืองลา (Muang La) กับด่านต้าลั่ว สิบสองปันนา ระยะทาง 90 กม.
คนเมียนมาบริเวณด่านเมืองลา-ต้าลั่วพูดภาษาจีนและใช้เงินหยวน เส้นทางจากแม่สายถึงด่านต้าลั่วเรียกว่า “R3B” สินค้าที่ไทยส่งออกตรงด่านแม่สาย ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง สุรา เบียร์ ไวน์ เครื่องดื่ม น้ำดื่ม ปูนซีเมนต์ สังกะสี เหล็กเส้น รถยนต์และส่วนประกอบ ขนมปัง และเครื่องจักร ส่วนสินค้านำเข้า ได้แก่ แร่แมงกานีส แร่ดีบุก ใบชา ส้มสด กระเทียม เครื่องแต่งกาย และเศษเหล็ก สินค้าไทยที่ส่งไปยังเมียนมาจะขึ้นไปถึงเมืองเชียงตุงร้อยละ 70 และตองยีร้อยละ 30 โดยคลังสินค้าอยู่ที่ท่าขี้เหล็ก
นอกจากด่านแม่สายที่ติดกับเมียนมาแล้ว จ.เชียงราย ยังมีด่านที่ติดกับ สปป.ลาว คือ ด่าน อ.เชียงของ หากพิจารณาจากด่านชายแดนไทยทั้งหมดที่ติดกับ สปป.ลาว ทั้ง 11 ด่านศุลกากร (หนองคาย มุกดาหาร พิบูลมังสาหาร ท่าลี่ เชียงแสน ทุ่งช้าง เชียงของ นครพนม เขมราฐ บึงกาฬ และเชียงคาน) ในปี 2552 มูลค่าการค้ารวมที่ด่านเชียงของเท่ากับ 707 ล้านบาท และปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 805 ล้านบาท โดยสินค้าที่ไทยส่งออกที่สำคัญคือ น้ำมันดีเซล สินค้าอุปโภคบริโภค ผลไม้สด (มังคุด ทุเรียน ลำไย ส้มโอ และเงาะ) ส่วนสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีน ได้แก่ พืชผัก ผลไม้ เครื่องจักรกลการเกษตร ดอกไม้และไม้ประดับ
สำหรับส่วนที่นำเข้าจาก สปป.ลาว ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เป็นไม้ ที่บริเวณ อ.เชียงของ ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของไทยเพราะ หนึ่ง เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เชียงของ ที่ประกอบด้วยศูนย์กระจายสินค้า โลจิสติกส์ปาร์ค และโรงงานอุตสาหกรรม และ สอง สามารถพัฒนาเป็นศูนย์การค้าระหว่างประเทศเพราะติดกับสองประเทศ คือ ลาวและเมียนมา ที่สำคัญเชื่อมต่อไปจีนได้ นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวได้อีกด้วย
แม้ว่าความสะดวกด้านถนนของ จ.เชียงราย มีความสะดวกในการขนส่ง แต่สิ่งที่ประเทศไทยกับเมียนมาต้องเร่งดำเนินการโดยด่วนคือการใช้แบบ Form D เพื่อสำแดงแหล่งกำเนิดสินค้า เพราะปัจจุบันฝั่งเมียนมายังไม่ใช้แบบ Form D โดยมีการจัดเก็บภาษีเอง ทำให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการไทยในการส่งสินค้าไปขายที่เมียนมา อีกอย่างหนึ่งที่ควรเร่งดำเนินการทำในขณะนี้คือ การทำ “ASEAN Single Window” ปัจจุบันที่ดำเนินการแล้วส่วนใหญ่เป็นประเทศอาเซียนเก่า ส่วนประเทศอาเซียนใหม่ หรือ “CLMV” นั้นยังไม่ได้กำเนิดการเลย หากไม่เร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม เชียงรายก็ไม่สามารถไปถึงฝันของการเป็นเมืองเศรษฐกิจการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านได้