ตอกย้ำไทยฮับภูมิภาค
รัฐบาลย้ำเชื่อมั่นนักลงทุน เร่งดันไทยฮับโลจิสติกส์อาเซียนเชื่อมจีนสู่ยุโรป มูลค่าเศรษฐกิจ 21 ล้านล้านเหรียญ
รัฐบาลย้ำเชื่อมั่นนักลงทุน เร่งดันไทยฮับโลจิสติกส์อาเซียนเชื่อมจีนสู่ยุโรป มูลค่าเศรษฐกิจ 21 ล้านล้านเหรียญ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยในงาน Asean Forum ที่มีนักลงทุนต่างชาติ 250 รายร่วมงาน จัดโดยบริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) ว่า รัฐบาลไทยจะเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเร่งด่วนรวม 20 โครงการ มูลค่า 1.796 ล้านล้านบาท และมั่นใจว่าสามารถเริ่มก่อสร้างทุกโครงการได้ภายในปีนี้ และดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อสร้างความได้เปรียบหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยเฉพาะการลดต้นทุนด้านระบบคมนาคมขนส่ง ซึ่งไทยมีขีดความสามารถ เป็นฮับโลจิสติกส์ในอาเซียนได้
ทั้งนี้ หากไทยสามารถเชื่อมต่อ ระบบคมนาคมขนส่งเชื่อมเศรษฐกิจในเส้นทางสายไหมทางบก (New Silk Road Economic Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) ที่มุ่งเชื่อมโยงอาเซียนสู่ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกาผ่านประเทศจีน ถือเป็นเส้นทางที่มีประชากรรวมกันประมาณ 4,400 ล้านคน และมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจประมาณ 21 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับโครงการลงทุนระบบคมนาคมขนส่งต่างๆ ของไทย จะเป็นแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งประเทศจีน โดยเฉพาะโครงการรถไฟไทย-จีน จะทำให้ไทยเชื่อมระบบรางผ่านลาวไปถึงจีนได้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้สู่ภูมิภาค
"กรณีความร่วมมือรถไฟไทย-จีน อยู่ระหว่างหาข้อสรุปเรื่องการลงทุน เนื่องจากยังติดการหารือเรื่องสัดส่วนการลงทุนและสิทธิในการใช้พื้นที่ริมทางรถไฟของทั้งสองประเทศ" นายอาคม กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมลุ่มน้ำเจ้าพระยากับท่าเรือน้ำลึกที่แหลมฉบังและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ตามการพัฒนาระบบขนส่งแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) ประกอบด้วย โครงข่ายทางหลวง 4 โครงการ ได้แก่ 1.ทางหลวงหมายเลข 12 เส้นทางแม่สอด 2.ทางหลวงพิเศษเชื่อมต่อกับซูเปอร์คลัสเตอร์บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง 3.เส้นทางท่าเรือทวาย-กาญจนบุรี (เขตเศรษฐกิจพิเศษ) 4.ทางหลวงสายหลัก 3 เส้นทาง ได้แก่ ทางหลวงพัทยา-มาบตาพุด ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือน เม.ย. และทางหลวงบางปะอิน-นครราชสีมา รวมถึงทางหลวงบางใหญ่-กาญจนบุรี
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมนักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความมั่นใจกับนโยบายเร่งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย โดยเฉพาะ รมว.คมนาคม ที่รับผิดชอบโครงการต่างๆ เป็นผู้ที่มีความรู้จริงในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ในเวทีอาเซียน ฟอรั่ม ครั้งนี้ ยังมีองค์การส่งเสริมการค้า ต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) มาร่วมให้ข้อมูลด้วย และยืนยันว่าญี่ปุ่นจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ รวมถึงอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาฟังข้อมูลในงานนี้เพิ่มมากขึ้น