เส้นทางและตลาดขายส่ง ผลไม้ไทยในเวียดนาม/จีน (จบ)
บทความฉบับที่แล้วมา ผมได้บอกว่าตัวเลขของผลไม้ไทยไม่มีสถิติปรากฏที่ด่านหยวนอี้กวน
โดย...ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช
บทความฉบับที่แล้วมา ผมได้บอกว่าตัวเลขของผลไม้ไทยไม่มีสถิติปรากฏที่ด่านหยวนอี้กวน เพราะส่วนใหญ่ส่งกันไปที่ด่านปู้จ้ายมากกว่า เนื่องจากมีการเสียภาษีน้อยกว่า
ที่น่าสนใจไปมากกว่านั้นก็คือ ผลไม้ไทยที่ส่งผ่านทางเวียดนามจะกลายเป็นผลไม้ของเวียดนาม เพราะจะได้รับสิทธิของคนบริเวณชายแดนสองประเทศให้มีงานทำในการขนส่งผลไม้ผ่านด่านปู้จ้าย
เมื่อด่านปู้จ้ายไม่เป็นด่านสากล สถิติทางการค้าคงไม่ต้องพูดถึงไม่มีแน่นอนครับ ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยว่าตัวเลขการค้าชายแดนของไทยจึงลดลงในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการนิยมใช้ด่านปู้จ้าย เพราะมีขั้นตอนที่สะดวกรวดเร็วมากกว่าและมีต้นทุนที่ถูกกว่า (ด่านปู้จ้ายเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ประมาณ 15 หยวน/ลังพลาสติก 25 กก.) จากด่านหยวนอี้กวน
ผมตามผลไม้ไทยไปยังตลาดขายส่งผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของเมืองหนานหนิงด้วยระยะทาง 170 กม. คือ ตลาดไฮกรีน (HiGreen) ซึ่งเป็นตลาดขายส่งสินค้าเกษตรที่มีความทันสมัยแห่งใหม่ของนครหนานหนิง ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นศูนย์กระจายผลไม้อาเซียนที่ใหญ่ที่สุดของมณฑลจีนทางตะวันตกเฉียงใต้
ตลาดไฮกรีนตั้งอยู่บนพื้นที่ 252.5 ไร่ มีพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง 5.2 แสน ตร.ม. และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 1,340 ล้านหยวน การก่อสร้างไฮกรีน แบ่งออกเป็น 3 เฟส มีปริมาณซื้อขายผักและผลไม้เฉลี่ย 2,500 ตัน โดยมีรถบรรทุกสินค้าขนาด 20 ตัน ผ่านเข้า-ออกเฉลี่ยวันละ 100-150 คัน ผลไม้มาจากทั้งในประเทศและอาเซียน ผลไม้ในประเทศ ได้แก่ ลิ้นจี่ ลำไย ส้มโอ กล้วย องุ่น แคนตาลูป สาลี่หอมจากซินเจียง แอปเปิ้ลจากมณฑลซางตง ลูกแพรจากมณฑลอันฮุยและพุทราเขียวจากมณฑลเหอเป่ย
ส่วนผลไม้จากอาเซียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลไม้จากประเทศไทย ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลำไย ส่วนของเวียดนามจะเป็นแก้วมังกร ผลไม้ไทยจะถูกขนส่งเข้ามาทางด่านปู้จ้าย ซึ่งวิ่งมาตามเส้นทางถนนต่างๆ ที่เชื่อมระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม-กว่างซี (R9, R8 และ R12) โดยในการขนส่ง มีการเปลี่ยนตู้สินค้า 2 ครั้ง ครั้งแรก ในช่วงจากไทยเข้าเวียดนาม และครั้งที่สองในช่วงจากเวียดนามเข้าจีน ตลาดไฮกรีนมีผู้ประกอบการอยู่กว่า 6,530 ราย กระจายกันอยู่ทั่วกว่างซี
นอกจากนี้ บริษัทที่ให้บริการส่งผลไม้ให้กับซูเปอร์มาร์เก็ต 6 รายใหญ่ในกว่างซี (วอลมาร์ท เป่ยจิงฮวาเหลียน หนานเฉิงป่ายฮั่ว) ก็ได้เข้ามาที่ตลาดไฮกรีน
ผมได้มีโอกาสเจอ “ล้งจีนตัวจริงเสียงจริง” (ผมไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้) เป็นคนจีนที่มาเปิดบริษัทที่ประเทศไทย โดยคนจีนคนนื้ถือหุ้น 40% ที่เหลือเป็นคนไทยถือหุ้น ผลไม้ที่ซื้อขึ้นกับฤดูกาล รูปแบบในการดำเนินการซื้อขายผลไม้ไทยของล้งจีนท่านนี้ ยังไม่ถึงขั้นเข้าไปเหมาสวน แต่รับซื้อจากผู้รวบรวม 2 เจ้า คือ เป็นคนจีนที่พูดไทยได้ ซึ่งอยู่เมืองไทยมา 20 ปี ซึ่งทำหน้าที่ดูแลสัญญาในการซื้อขายได้ค่าจ้างต่อครั้ง 1 หมื่นบาท
นอกจากนี้ยังมีคนไทยอีกท่านหนึ่ง ทำหน้าที่รวบรวมผลไม้จากเกษตรกรได้ค่าจ้าง กก.ละ 5,000 บาท ผมยังไปเก็บข้อมูลที่ตลาดเจียงหนานที่มีขนาดใหญ่กว่าตลาดไฮกรีนหลายเท่า ผลไม้ที่เป็นที่นิยมของชาวจีน ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มังคุด กล้วย
คู่แข่งสำคัญในการส่งออกผลไม้เมืองร้อนของไทย คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และไต้หวัน นอกจากทุเรียน มังคุด ลำไย ที่เป็นสินค้าหลักของไทยแล้ว กลุ่มผลไม้ที่มีแนวโน้มเติบโตดีในตลาดจีน คือ กล้วยไข่ เงาะ ชมพู่ มะขามหวาน ขนุน ส้มโอ มะม่วง และสละ ผลไม้ไทยในตลาดจีนที่ยังไม่มีคู่แข่ง คือ ทุเรียน ตลาดทั้งสองเป็นตลาดที่ล้งผลไม้จีนนำสินค้าไทยเข้ามาขายทั้งสิ้น
ส่วนตลาดในเวียดนามก็จะเป็นล้งผลไม้เวียดนามที่นำผลไม้ไทยเข้ามาขาย ความแตกต่างระหว่างล้งผลไม้จีนและล้งผลไม้เวียดนามที่เข้ามาทำธุรกิจผลไม้ในไทยนั้น พบว่าล้งผลไม้จีนจะดำเนินการครบวงจรและหลากหลายรูปแบบ
ในขณะที่ล้งผลไม้เวียดนามนั้นส่วนใหญ่จะซื้อจากสหกรณ์การเกษตรและซื้อจากผู้รวบรวมคนไทยอย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นล้งผลไม้จีนหรือล้งผลไม้เวียดนาม
ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องหาทางออกเรื่องล้งต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจผลไม้ไทย ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ครับ