posttoday

Sherman กระหึ่มไกลในซีแอลเอ็มวี

02 สิงหาคม 2559

“ความสำเร็จมิใช่เรื่องบังเอิญ” คงเป็นวลีเริ่มต้นที่ดีสุดสำหรับกิจการของ Sherman

โดย...ทศพล หงษ์ทอง

“ความสำเร็จมิใช่เรื่องบังเอิญ” คงเป็นวลีเริ่มต้นที่ดีสุดสำหรับกิจการของ Sherman ที่เริ่มต้นจากห้องแถวเล็กๆเมื่อ 18 ปีก่อน ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน จนสามารถผลิตเครื่องเสียงเป็นแบรนด์ไทยเจ้าแรก ที่สามารถสร้างการยอมรับได้ในตลาดซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ภายใต้การบริหารของ เอกพล กิตติรัตนาภินันท์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท นิคอน ไทยเซลล์ แอนด์ เซอร์วิส

จุดเริ่มต้นแบรนด์ Sherman มาจากไอเดียเล็กๆ ที่ต้องการผลิตเครื่องเสียงที่เข้ากับอุปนิสัยรสนิยมของคนไทยด้านลักษณะของเสียงที่ต้องเน้นเบสเข้ม เสียงหนักแน่น กระจายไปได้ไกล

ตลอดจนกิจกรรมสำคัญของคนไทยที่มักมีเครื่องเสียงเป็นตัวชูโรงแทบทุกงาน ซึ่งไม่แตกต่างจากประชากรประเทศเพื่อนบ้าน อย่างกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่มีวัฒนธรรมไม่แตกต่างกันนัก ส่งผลให้ตลาดเครื่องเสียงมีศักยภาพด้านความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ตลาดเครื่องเสียงในซีแอลเอ็มวีจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าปีละ 10% 

ในช่วงแรกของการทำธุรกิจเครื่องเสียง จะเน้นการทำตลาดโดยใช้คนเพื่อเปิดตลาดในแต่ละพื้นที่ทั้งในรูปแบบเซลส์ขายของและการขายผ่านตัวแทนดีลเลอร์ ตลอดจนวางรากฐานสินค้าบนห้างสรรพสินค้า ทำให้มีความแข็งแกร่งด้านตลาดออฟไลน์ ก่อนส่งไม้ต่อมาสู่รุ่นที่สอง คือ เอกพล ที่ต่อยอดกิจการด้วยการปรับรูปลักษณ์สินค้าให้มีความทันสมัยควบคู่กับการเพิ่มเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างหลากหลาย ที่กรุยทางเพื่อเปิดรับลูกค้าหน้าใหม่จากหลากหลายระดับ

เอกพล เล่าต่อถึงแผนขยายตลาดในซีแอลเอ็มวีว่า การทำตลาดเครื่องเสียงในตลาดกลุ่มนี้ต้องเน้นการลงพื้นที่เพื่อเข้าหาลูกค้าควบคู่ไปกับสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับดีลเลอร์ท้องถิ่น ตลอดจนประชาสัมพันธ์โฆษณาสินค้าในงานบุญและงานประเพณีต่างๆ เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายในงานรื่นเริงของซีแอลเอ็มวีที่มีเครื่องเสียงเป็นส่วนสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เขายังเน้นอีกว่าการตลาดออนไลน์ในปัจจุบันมีบทบาทอย่างมาก เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายประชากรอายุน้อย โดยเฉพาะเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซอย่างไอทรูมาร์ท ลาซาด้า หรือแม้แต่อาลีบาบาที่ได้รับความนิยมอย่างมาก สอดคล้องกับตัวเลขจำนวนประชากรในซีแอลเอ็มวีที่กว่า 45% อายุน้อยกว่า 30 ปี ทำให้โอกาสการเจาะกลุ่มเป้าหมายได้โดยเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล

ส่วนหัวใจสำคัญในการทำตลาดที่ขาดไม่ได้ คือ เทรนด์ของลูกค้า ซึ่งเอกพลบอกถึงพฤติกรรมการซื้อสินค้าทุกชนิดของลูกค้าซีแอลเอ็มวีว่ามีลักษณะที่เหมือนกัน คือ มีนิสัยชอบซื้อสินค้าตามกันซึ่งสอดคล้องกับนิสัยการบอกเล่าสินค้าแบบปากต่อปาก ซึ่งส่วนใหญ่ชอบที่จะได้ทดสอบสินค้าจากหน้าร้าน ซึ่งหากถูกใจจะซื้อเลยโดยไม่มีปัญหาด้านการต่อราคา

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการมีฉลากการรับรองสินค้าจากรัฐบาลไทย (Thailand Trust Mark) จะทำให้ผู้ซื้อยอมซื้อสินค้าแม้จะราคาสูงกว่าเจ้าอื่น ด้วยความเชื่อใจในมาตรฐานของสินค้าไทย

พร้อมเสริมต่อถึงนิสัยการใช้เครื่องเสียงว่าแทบจะไม่แตกต่างจากชาวไทยในต่างจังหวัดที่มักซื้อเครื่องเสียงมาเปิดแข่งกันด้วยความภาคภูมิใจ รวมถึงยังมีแนวโน้มสร้างห้องโฮมเธียเตอร์ภายในบ้านเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนเป้าหมายในปีนี้ของ Sherman เตรียมเข้ายึดหัวหาดใน สปป.ลาว ด้วยยอดขายในครึ่งปีหลังไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ตลอดจนวางแผนเข้ายึดส่วนแบ่งตลาดให้ได้เกินกว่า 70% ในอนาคตอันใกล้ โดยมีจุดยุทธศาสตร์อยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ เมืองจำปาสัก และเมืองหลวงพระบาง นอกจากนี้ยังวางแผนขนสินค้ารูปแบบใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลที่รองรับการทำงานของสมาร์ทโฟนเข้าไปตีตลาดในเวียดนาม ที่ค่านิยมของประชากรเปิดรับเทคโนโลยีรูปแบบใหม่มากที่สุดในซีแอลเอ็มวี

นอกจากรูปแบบการขายแบบธุรกิจต่อผู้บริโภค (บีทูซี) แล้ว Sherman ยังต้องการส่วนแบ่งตลาดธุรกิจต่อธุรกิจ (บีทูบี) อย่างโครงการที่พักอาศัยคอนโดมิเนียม หมู่บ้าน หรือโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเติบโตอย่างมากทั้งในเมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งจากยุทธศาสตร์การขยายตลาดดังกล่าว ที่ผลักดันให้แบรนด์ Sherman ประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดกลุ่มนี้

ขณะที่ปัญหาการทำธุรกิจในซีแอลเอ็มวี เอกพล เล่าว่า ปัญหาหลักที่เผชิญคือแบบฟอร์มเอกสารการส่งออกสินค้าและเรื่องกรอบภาษีเอฟทีเอ ซึ่งมากไปด้วยขั้นตอนจนทำให้เสียเวลาและโอกาสการทำธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการขนส่งและกระจายสินค้า (โลจิสติกส์) อย่างความปลอดภัยการขนส่งสินค้าและขั้นตอนการเข้าออกด่านชายแดนโดยเฉพาะในเมียนมาและกัมพูชา

ท้ายที่สุด ผู้บริหาร Sherman ยังได้ฝากแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าไปขยายตลาดในซีแอลเอ็มวีว่า ตลาดซีแอลเอ็มวีมีโอกาสอีกมาก หากแต่ผู้ประกอบการต้องมีไอเดียและตีโจทย์สินค้าให้แตก ซึ่งเรื่องเงินไม่สำคัญเพราะต้นทุนการทำตลาดยังไม่สูงมาก อีกทั้งการแข่งขันในพื้นที่ยังมีน้อย ตลอดจนข้อได้เปรียบด้านการค้าขายตามแนวชายแดน รวมถึงภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าไทย โดยผู้ประกอบการต้องพยายามร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อทลายกำแพงภาษีและขั้นตอนทางการค้าในแต่ละประเทศ รวมรู้จักสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อสร้างตัวแทนจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะที่สิ่งสำคัญที่สุดที่เอกพลยึดถือ คือ “การตลาดอาจทำให้เราขายดีกว่าคนอื่น แต่ความอดทนจะทำให้เราก้าวถึงเป้าหมาย”