ไต้หวันพยายามแบนหมากพลู เหตุก่อมะเร็งช่องปาก
หมากพลูกลายเป็นสินค้ายอดนิยมสำหรับผู้ใช้แรงานในไต้หวัน ถึงแม้ว่าจะมีคำเตือนว่าเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งในช่องปากก็ตาม
หมากพลูกลายเป็นสินค้ายอดนิยมสำหรับผู้ใช้แรงานในไต้หวัน ถึงแม้ว่าจะมีคำเตือนว่าเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งในช่องปากก็ตาม
หากคุณผู้อ่านไปเที่ยวไต้หวัน แล้วพบเห็นหญิงสาวนุ่งน้อยห่มน้อยกำลังนั่งทำบางสิ่งบางอย่างอยู่ในตู้กระจกใส และจะเดินออกมาเมื่อมีรถบรรทุกมาจอด พร้อมยื่นสินค้าให้ โปรดอย่าเข้าใจผิด เพราะหญิงสาวเหล่านี้ไม่ได้ขายบริการแต่อย่างใด แต่พวกเธอขายหมากพลู
หมากพลูเป็นสินค้ายอดนิยมไม่เฉพาะแค่ในเมียนมา และอินเดียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในไต้หวัน และหลายประเทศในแถบเอเชียด้วยเช่นกัน
รายงานจากองค์กรอนามัยโลกกล่าวว่า หมากพลูเป็นสินค้าที่ออกฤทธิ์ให้เกิดการเสพติดมากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก โดยเป็นรองจากยาสูบ, แอลกอฮอลล์ และคาเฟอีน
ในไต้หวันบรรดาหญิงสาวที่ทำอาชีพนี้จะถูกเรียกว่าสาวขายหมาก พวกเธอจะนุ่งสั้นเพื่อดึงดูดลูกค้า ซึ่งมักขับรถมาจอดหน้าร้านของเธอ ซึ่งลูกค้าเหล่านี้ อาจทราบหรือไม่ทราบก็สุดแล้วแต่ ว่าหมากพลูนั้นมีสารก่อมะเร็งสูง จากรายงานพบว่าผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งช่องปากในไต้หวันนั้น จำนวน 9 ใน 10 คน มีนิสัยเสพติดการเคี้ยวหมากพลู
ผู้ขับแท็กซี่รายหนึ่งในไต้หวันกล่าวว่า การเคี้ยวหมากช่วยให้เขารู้สึกดี และยังสามารถทำงานได้นานขึ้นอีกด้วย ในขณะที่ผู้หญิงบางคนก็เชื่อว่าการเคี้ยวหมากช่วยแก้อาการเมาค้างได้ โดยในไต้หวันนั้นมีหมากพลูให้เลือกหลายรส ตั้งแต่รสมะนาว รสเผ็ด ไปจนถึง รสขม และรสหวาน ซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุด
กระทรวงสาธารณสุขไต้หวันระบุว่า เมื่อปี 2555 มีชาวไต้หวันที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งช่องปากถึง 5,700 คน ในขณะที่ผู้เสียชีวิตมีถึง 2,300 คน ในเมื่อมีการประกาศ และตัวเลขผู้เสียชีวิตที่มากขนาดนี้ เหตุใดชาวไต้หวันยังคงนิยมเคี้ยวหมาก?
ฮัน เหลียง จุน ประธานกรมควบคุมหมากพลู และการเกิดมะเร็งในช่องปากให้เหตุผลว่า ผู้คนที่เสพติดการเคี้ยวหมากนั้นส่วนมากเป็นผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง หรือไม่ก็ต้องขับรถเป็นเวลานาน การเคี้ยวหมากช่วยให้พวกเขามีพลังในการทำงานมากขึ้น และยังช่วยลดการกระหายน้ำ และที่สำคัญที่สุดหมากพลูนั้นช่วยให้เกิดมิตรภาพใหม่ๆ ได้ง่ายกว่าการสูบบุหรี่เสียอีก
นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาทางการได้ออกกฏใหม่ห้ามการเคี้ยวหมากพลูในกรุงไทเป ซึ่งหากพบผู้เคี้ยวจะถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก นอกจากนั้นรัฐบาลไต้หวันยังพยายามอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงนิสัยนี้ด้วยการแทนที่แปลงของต้นหมาก ขนาด 4,800 เฮคเตอร์ ด้วยพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นแทนเช่น ใบชา และมะม่วงเป็นต้น
ส่วนประเทศอื่นๆก็มีกฏระเบียบเช่นกัน ในปาปัวนิวกินี ตามถนนหนทางจะมีจุดตรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะคอยตรวจตราว่าผู้ขับขี่นั้นเคี้ยวหมากอยู่หรือไม่ ในเมียนมาประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องวัฒนธรรมการเคี้ยวหมาก ก็มีกฏบังคับห้ามการตั้งแผงขายหมากตามที่สาธารณะ และสถานที่ท่องเที่ยวเช่นกัน
ขอบคุณภาพจาก CNN