เปิดเบื้องหลังภาพประวัติศาสตร์

06 ตุลาคม 2559

คำบอกเล่าจากช่างภาพสำนักข่าว AP ผู้ถ่ายภาพประวัติศาสตร์ และร่วมตามมาบุคคลในภาพถ่ายกับโปรเจค The People in the Picture

คำบอกเล่าจากช่างภาพสำนักข่าว AP ผู้ถ่ายภาพประวัติศาสตร์ และร่วมตามมาบุคคลในภาพถ่ายกับโปรเจค The People in the Picture

ภาพของศพชายคนหนึ่งที่ถูกแขวนคอกลางท้องสนามหลวง ใบหน้าฟกช้ำไปด้วยร่องรอยจากการถูกทำร้าย ชายอีกคนกำลังยกเก้าอี้ขึ้นเตรียมฟาดไปที่ร่างไร้วิญญาณ ผู้คนมากมายรอชมด้วยสีหน้าสะใจ บ้างก็ยิ้มและหัวเราะ...

ภาพดังกล่าวถูกถ่ายในวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2519 วันแห่งประวัติศาสตร์อันมืดมน เมื่อเจ้าหน้าที่และกลุ่มชาวบ้านฝ่ายขวาจัดเข้าปิดล้อมนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมเลือนและตั้งใจให้ลบหายนี้ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นทุกๆปี ในวันครบรอบของเหตุการณ์

เด็กไทยรุ่นใหม่ดูภาพนี้ แล้วถามผมว่าภาพนี้มาจากที่ใด คำกล่าวจากนักสร้างภาพยนตร์ชาวออสเตรเลีย เดวิด ทักเกอร์ ผู้ตั้งใจสร้างสารคดีเพื่อตามหาว่าบุคคลในภาพเหล่านี้คือใคร? ในชื่อโปรเจคว่า The People in the Picture

ทักเกอร์กล่าวว่า เด็กไทยรุ่นใหม่บางคนไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับ 6 ตุลา บ้างก็ว่าภาพนี้ต้องเกิดขึ้นในต่างประเทศ และเชื่อว่าเหตุการณ์ที่คนไทยฆ่ากันเองเช่นนี้ไม่มีทางเคยเกิดขึ้น แน่นอนว่าบรรดาผู้คนรุ่นเก่าล้วนยังจำเหตุการณ์ในวันนั้นได้ แต่ประเด็นการสนทนากลับถูกหลีกเลี่ยง และกลายเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครเต็มใจจะพูดถึง

ภาพดังกล่าวได้รับรางวัลชนะเลิศ Pulitzer Prize ในปี 2520 แต่ตลอด 40 ปีที่ผ่านมายังไม่สามารถระบุได้ว่าชายคนที่ถือเก้าอี้ หรือเด็กคนที่ยืนหัวเราะในภาพเป็นใคร ทักเกอร์ได้ร่วมมือกับนักวิจัยในไทยในการตามหาบุคคลในภาพ รวมถึงบุุคลผู้ถ่ายภาพนี้

มันเหมือนกับว่ารัฐบาลไม่ต้องการให้ผู้คนพูดถึงเหตุการณ์นี้ ทักเกอร์กล่าว แต่ในความคิดของผมคิดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นยากเกินกว่าจะทำใจยอมรับได้ ว่าคนไทยทำต่อกันเช่นนั้นได้อย่างไร ประเทศไทยเป็นประเทศผู้คนใจดีโอบอ้อมอารีต่อกัน ดังนั้นเมื่อส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์บ่งบอกว่าเคยมีการฆ่า และใช้ความรุนแรงกันอย่างโหดเหี้ยมใจกลางกรุงเทพ จึงเป็นการยากที่จะรับได้

นีล อูเลวิช ช่างภาพจากสำนักข่าว AP ผู้ถ่ายภาพในวันนั้นเล่าให้ฟังว่า ภาพนี้เป็น 1 ใน 12 ภาพถ่ายที่ทำให้เขาได้รับรางวัล หลังเขารีบออกมาจากมหาวิทยาลัยเพราะกังวลว่าฟิลม์ของเขาจะถูกยึดโดยรัฐบาล

อูเลวิช ให้สัมภาษณ์ ในโคโลราโด บ้านเกิดของเขา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เมื่อเขาเดินออกมาจากประตูมหาวิทยาลัย เขาเห็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่มุงกันที่ต้นไม้ของสวน เขาตัดสินใจเดินเข้าไปดูและเห็นชายคนหนึ่งกำลังเอาเก้าอี้ฟาดเข้าไปที่ร่างของชายที่ถูกแขวนอยู่ ท่ามกลางเสียงหัวเราะ และรอยยิ้มของผู้คนรอบๆ ที่ต้นไม้อีก 2 ต้นข้างๆก็มีร่างถูกแขวนอยู่เช่นกัน แน่นอนทั้งหมดกลายเป็นศพไปแล้ว

รายงานผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการจากเหตุการณ์ระบุไว้ที่ 46 แต่ในความเป็นจริงตัวเลขผู้เสียชีวิตเชื่อว่าสูงกว่า 100 คน เมื่อทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ในวันต่อมา ข่าวสารทั้งหมดถูกปิดทันที รวมถึงใครก็ตามที่เฟยแพร่ฟุตเทจของเหตุการณ์จะถูกจับ แต่ภาพที่ถูกถ่ายโดยนักข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศนี้ได้เปิดเผยความจริงที่ช็อกผู้คนทั่วโลก

เป็นเวลาถึง 20 ปีต่อมากว่าจะเริ่มมีการสร้างอนุสรณ์สถานให้แก่เหตุการณ์สังหารหมู่ในวันนั้น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์หลายเล่มที่พูดถึงเหตุการณ์ การจัดพิธีรำลึกเหตุการณ์ที่อนุสรณ์กลายเป็นธรรมเนียมในทุกๆปี ยกเว้ยในปี 2557 ที่รัฐบาลทหารสั่งห้าม

ภาพถ่ายของอูเลวิช กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเหตุการณ์ และการออกแบบโปสเตอร์ ตลอดจนสื่อต่างๆที่ใช้กล่าวถึง 6 ตุลา รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้ อโนชา สุวิชากรพงษ์ ผู้กำกับหญิงสร้างภาพยนตร์เรื่อง "By the Time It Gets Dark" หรือชื่อไทยว่า ดาวคะนอง ซึ่งเล่าเรื่องราวของทีมสร้างหนัง ที่หยิบยกเรื่องราวจากนิยายของนักศึกษาผู้เคยอยู่ในเหตุการณ์มาสร้างเป็นภาพยนตร์

การตามหาบุคคลในภาพยังคงดำเนินต่อไป และภาพถ่ายของอูเลวิชจะทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจ ซึ่งอโนชาได้กล่าวถึงภาพนี้ว่าช่วยย้ำเตือนสังคมไทยที่ครั้งหนึ่งเคยจมลงไปสู่ความบ้าคลั่ง และป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกครั้ง

คุณผู้อ่านสามารถมีส่วนในการตามหาบุคคลในภาพได้ที่นี่ http://6oct-photo.com/

 

Thailand Web Stat