posttoday

ภูมิภาคเอเชีย ศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่โลก

26 ตุลาคม 2559

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ตั้งของเศรษฐกิจสำคัญทั้งญี่ปุ่นและตลาดเกิดใหม่อย่างจีนและอินเดีย

โดย...ทศพล หงษ์ทอง

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ตั้งของเศรษฐกิจสำคัญทั้งญี่ปุ่นและตลาดเกิดใหม่อย่างจีนและอินเดีย รวมถึงตลาดอาเซียน ที่กำลังเป็นทำเลทองของนักลงทุนทั่วโลกต่างพุ่งเป้ามายังภูมิภาคนี้

สุนีล ภารตี มิททัล ประธานหอการค้านานาชาติ (ไอซีซี) เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะประสบปัญหาภาวะชะลอตัว ทว่าเศรษฐกิจอาเซียนยังมีเสถียรภาพขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ดีจากประเทศที่มีกำลังการบริโภคอย่างจีน ส่งผลให้อาเซียนยังเป็นทำเลทองของนักลงทุนทั่วโลก ที่ต้องการขยายฐานการผลิตเพื่อให้สอดรับกับอุปสงค์ขนาดใหญ่จากตลาดจีนและอินเดียจากความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและจำนวนแรงงานกลุ่มใหญ่

นอกจากนี้ มูลค่าการค้าในกลุ่มชาติอาเซียนยังมีอัตราเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 5-10% ด้วยสนธิสัญญาทางการค้าทั้งอาร์เซ็ป ทีพีพี เอฟทีเอ และเออีซี ทั้งยังมีแผนลงทุนเส้นทางสายไหมใหม่ของจีนที่จะเชื่อมการค้า 3 ภูมิภาคที่มีจำนวนประชากรหลายพันล้านคน ซึ่งจะยิ่งทำให้มูลค่าเศรษฐกิจอาเซียนขยายตัวได้อีกมากในอนาคต

สอดรับกับการคาดคะเนว่าในปี 2573 ภูมิภาคเอเชียจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของโลก ทำให้มีกลุ่มทุนใหม่อีกมากมายจะหลั่งไหลเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในอนาคตควบคู่ไปกับภาวะการแข่งขันทางตลาดที่จะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

อ๊าค บุน ลี ประธานกรรมการ บริษัทนานาชาติ ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนคาดการณ์ว่าในปี 2573 มูลค่าเศรษฐกิจในอาเซียนจะทะยานถึง 1.22 ล้านล้านบาท ประกอบกับพื้นที่ในการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างจะมีความต้องการอีกมากในอนาคต เพื่อรองรับความต้องการทางเศรษฐกิจทั้งด้านที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจพลังงาน ตลอดจนห้างสรรพสินค้า และสิ่งอำนวยความสะดวก โดยภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวโน้มเติบโตดีในอาเซียนที่เรียกเม็ดเงินลงทุนตรงต่างชาติ (เอฟดีไอ) ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี)

เกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในอนาคตมองว่าภาคธุรกิจของผู้ประกอบการไทยที่จะไปได้ดีในอาเซียน ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการผลิตอาหารและอาหารแปรรูป ธุรกิจบริการ ตลอดจนธุรกิจด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะตลาดผู้สูงอายุกลุ่มรายได้สูง ที่ต่างต้องการเข้ามาใช้บริการในประเทศไทย ส่วนอีกภาคธุรกิจที่ไทยควรต่อยอด คือ การเปิดประเทศเป็นศูนย์กลางการศึกษาแห่งใหม่ในภูมิภาค ด้วยในภูมิภาคนี้ยังไม่มีแหล่งการศึกษาที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะรองรับประชากรวัยรุ่นที่มีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของประชากรอาเซียน ตลอดจนประเทศไทยยังมีภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางภูมิภาคง่ายต่อการเดินทางของนักศึกษาอีกด้วย

ฮัซ ปาตี ซิงห์ยา ผู้อำนวยการหอการค้านานาชาติประจำทวีปเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมหลายด้านที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของประชากรจำนวนมาก อย่างประเทศอินเดียในอนาคต อาทิ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งยังคงต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนารูปแบบสินค้าอีกมากเพื่อตอบสนองอุปสงค์ตลาดในอนาคต

“อินเดียมีมูลค่าการค้าด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สูงถึง 1.85 หมื่นล้านบาท/ปี แนวโน้มในอนาคตที่ความต้องการสินค้าดังกล่าวจะขยายตัวมากขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของประชากรอินเดีย เป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยที่มีความสามารถและมาตรฐานสากลในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก” ฮัซ กล่าว

จอร์น ดานิโลวิค คณะกรรมการบอร์ดบริหารหอการค้านานาชาติ กล่าวว่า ตลาดเกิดใหม่อย่างทวีปแอฟริกายังคงมีประสิทธิภาพจากการเติบโตของเศรษฐกิจและการเกิดของประชากรรายได้ปานกลางใกล้เคียงกับอาเซียน แต่ทว่ายังด้อยด้านการพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการสมัยใหม่ รวมถึงจุดอ่อนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในสินค้าบริการ

ทำให้เป็นโอกาสของนักลงทุนอาเซียนในการเข้าไปทำตลาด และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกระหว่างชาติอาเซียนและทวีปแอฟริกา