ย้อนคดี "ไมเคิล เฟย์" เมื่อโจ๋มะกันซ่าผิดที่ เจอสิงคโปร์สั่งเฆี่ยน-จำคุก
ย้อนดูคดี "ไมเคิล เฟย์" วัยรุ่นชาวสหรัฐที่ถูกสิงคโปร์ลงโทษด้วยการเฆี่ยนและจำคุก หลังก่อเหตุพ่นสีสเปรย์สร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินผู้อื่น
ย้อนดูคดี "ไมเคิล เฟย์" วัยรุ่นชาวสหรัฐที่ถูกสิงคโปร์ลงโทษด้วยการเฆี่ยนและจำคุก หลังก่อเหตุพ่นสีสเปรย์สร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินผู้อื่น
เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง สำหรับกรณีที่ "นาธาน บาร์ทลิ่ง" หรือ เนท หนุ่มชาวสหรัฐ ยูทูปเบอร์ชื่อดังเจ้าของช่อง My Mate Nate ที่กำลังถูกเจ้าหน้าที่เอาผิดหลังทำคลิปนำเหรียญไปวางบนรางรถไฟเพื่อให้รถไฟวิ่งทับ โดยเจ้าหน้าที่พบร่องรอยความเสียหายที่เกิดขึ้นบริเวณรางรถไฟ
หลายคนตั้งคำถามว่า หากชาวต่างชาติไปสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินสาธารณะในประเทศอื่นๆจะเกิดอะไรกับผู้ก่อเหตุบ้าง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1994 ชื่อของ "ไมเคิล ปีเตอร์ เฟย์" หรือ Michael P. Fay วัยรุ่นอายุ 18 ปีชาวสหรัฐตกเป็นประเด็นข่าวที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก หลังจากที่ เฟย์ ถูกทางการสิงค์โปร์สั่งลงโทษด้วยการเฆี่ยนด้วยหวาย 6 ครั้ง พร้อมจำคุก 4 เดือน และปรับ 3,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 74,000 บาท ด้วยข้อหาทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น
การถูกสั่งลงโทษครั้งนั้นทำให้ เฟย์ กลายเป็นพลเมืองสหรัฐคนแรกที่ถูก สิงคโปร์ลงโทษด้วยการเฆี่ยน
คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือนต.ค.ปี 1993 หนังสือพิมพ์ สเตรทไทมส์ของสิงคโปร์รายงานข่าวว่า พบรถยนต์หลายคันถูกทำลายด้วยการพ่นสี รถยนต์คันหนึ่งที่จอดในอพาร์เม้นท์เสียหายจากการถูกราดน้ำมันและถูกพ่นด้วยสีสเปรย์ แท๊กซี่คันหนึ่งถูกเจาะยาง และในที่จอดรถใจกลางเมืองพบรถยนต์หลายคันมีรอยขีดข่วนและถูกทุบ ชายคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าเขาต้องซ่อมรถถึงหกครั้งตลอดหกเดือนเนื่องจากรถยนต์ถูกกรีดจนสีลอก
ต่อมา ตำรวจได้จับกุม เด็กชายวัย 16 ปี ชื่อ แอนดี้ ซิว ชี โฮ ชาวฮ่องกง ถูกจับเนื่องจากขโมยรถยนต์ของบิดามาขับโดยไม่มีใบขับขี่ หลังจากนั้น ตำรวจได้ขยายผลโดยการสอบปากคำนักเรียนในโรงเรียน สิงคโปร์ อเมริกัน สกูล (Singapore American School) รวมทั้งเฟย์ด้วยและพบว่าเฟย์มีความผิดจากการทำลายทรัพย์สินสาธารณะ และตำรวจจึงได้จับกุมทั้งสองด้วยข้อหาทำลายทรัพย์สิน ซึ่งเฟย์ได้สารภาพว่า ได้ก่อเหตุพ่นสีทำลายป้ายจราจรจริงแต่ไม่ได้เป็นผู้ทำลายรถยนต์
ภายใต้กฎหมายบัญญัติการทำลายทรัพย์สินสาธารณะในปี 1966 ของสิงคโปร์ ระบุว่า ห้ามพ่นสีสเปรย์หรือ พ่นลายสัญลักษณ์ทางการเมืองในที่สาธารณะ จากกฎหมายดังกล่าวทำให้วันที่ 3 มี.ค. 1994 เฟย์ถูกตัดสินจำคุก 4 เดือน ปรับ 3,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ และถูกเฆี่ยน 6 ครั้ง ส่วนแอนดี้ถูกตัดสินจำคุก 8 เดือน และถูกเฆี่ยนตีถึง 12 ครั้ง
ด้านรัฐบาลสหรัฐได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า สหรัฐเคารพสิทธิในการลงโทษเฟย์ ถ้าหากการลงโทษนั้นเป็นไปตาม"กระบวนการทางกฎหมาย" แต่การลงโทษด้วยการเฆี่ยนตีนั้น ถือว่าเป็นการลงโทษที่เกินกว่าเหตุสำหรับวัยรุ่นที่ก่ออาชญากรรมไม่รุนแรง (non-violent crime)
สถานทูตสหรัฐฯในสิงคโปร์ได้ออกแถลงการณ์ว่า ถึงแม้การทำลายทรัพย์สินโดยการพ่นสีตามที่สาธารณะยังสามารถลบออกได้ แต่การลงโทษด้วยวิธีการรุนแรงต่อเฟย์จะกลายเป็นบาดแผลทั้งกายและจิตใจให้กับเด็กอายุที่อายุเพียง18 ปี
บิล คลินตัน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในขณะนั้น ได้กล่าวว่าการลงโทษเฟย์ เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และกดดันสิงคโปร์ให้ลดโทษเฟย์ และมีส.ว.สหรัฐ 24 คนได้ลงนามยื่นจดหมายให้ผ่อนผันโทษเฟย์ต่อรัฐบาลสิงคโปร์
ขณะที่ รัฐบาลสิงคโปร์ได้แถลงว่า หากชาวสิงคโปร์กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวก็จะถูกลงโทษเช่นเดียวกับเฟย์และยืนยันว่า ด้วยกฎหมายนี้ทำให้สิงคโปร์เป็นบ้านเมืองที่สะอาดเป็นระเบียบปราศจากความรุนแรงซึ่งต่างจากมหานครนิวยอร์ก
หนังสือพิมพ์สเตรทไทม์สได้วิพากษ์วิจารณ์การแทรกแซงกิจการภายในสิงคโปร์ของรัฐบาลสหรัฐฯอย่างดุเดือด อย่างไรก็ตามประธานาธิบดี ออง เท็ง เชียง ของสิงคโปร์ได้ลดโทษให้แก่เฟย์จากการเฆี่ยน 6 ครั้ง เหลือ 4 ครั้ง ส่วนแอนดี้ ได้รับการลดโทษจากเฆี่ยน 12 ครั้งเหลือ 6 ครั้ง โดยเฟย์ได้ถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยน เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 1994
กรณีของเฟย์เป็นที่สนใจของสื่อหลายสำนักในสหรัฐ เช่น นิวยอร์กไทมส์, วอชิงตัน โพสต์, ลองแองเจลิส ไทมส์ นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า กรณีการลงโทษเฟย์เป็นความขัดแย้งกันทางวัฒนธรรมและค่านิยมในเอเชียกับมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศตะวันตก
ความคิดเห็นของชาวอเมริกันมีทั้งเห็นด้วยกับการลงโทษด้วยวิธีการเฆี่ยนตีเพราะจะทำให้คนในสังคมไม่กล้าที่จะทำผิด แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่า การเฆี่ยนเป็นการลงโทษที่เกินกว่าเหตุต่อเด็กในวัยนี้
บางส่วนเห็นว่า ชาวอเมริกันไม่ว่าจะเดินทางไปประเทศใดก็ควรจะเคารพสิทธิและกฏหมายของประเทศนั้น โดยสถานทูตสิงคโปร์ประจำสหรัฐได้รับจดหมายสนับสนุนอย่างท่วมท้นในการลงโทษเฟย์ด้วยการเฆี่ยนตี และผลสำรวจบางส่วนระบุว่าชาวอเมริกันเห็นด้วยต่อการลงโทษด้วยวิธีดังกล่าว
หลังจากได้รับการปล่อยตัวในเดือน มิ.ย. 1994 เฟย์ได้เดินทางกลับไปยังสหรัฐและอาศัยอยู่กับพ่อของเขา โดยเฟย์ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ พร้อมยอมรับว่าได้พ่นสีสเปรย์ทำลายทรัพย์สินจริง แต่ปฏิเสธการทำลายรถยนต์
หลังจากกลับมาสหรัฐฯเขาติดการดม แก๊สบิวเทน โดยให้เหตุผลว่า "มันทำให้เขาลืมสิ่งที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์" ในปี 1998 เขาอาศัยอยู่ที่ฟลอริด้าและถูกจับในข้อหาครอบครองกัญชาและอุปกรณ์เสพยาแต่ก็ถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา
ในปี 2004 ลี กวน ยู ได้ให้สัมภาษณ์กับซีซีทีวีของจีน ถึงกรณีเฟย์ว่าเฟย์ได้ทุบตีพ่อของเขาขณะกลับถึงสหรัฐฯแต่ถูกปิดบังโดยสื่ออเมริกัน
นอกจากกรณีของเฟย์แล้ว ในปี 2010 ยังมีกรณีของ โอลิเวอร์ ฟลิกเกอร์ ที่ปรึกษาด้านไอที ชาวสวิสเซอร์แลนด์ ถูกทางการสิงคโปร์ลงโทษจำคุก 5 เดือน และเฆี่ยนด้วยหวาย 3 ครั้งจากความผิดฐาน ทำลายทรัพย์สินบนรถไฟของสิงคโปร์ด้วย
ภาพจาก huffingtonpost, ipezone.blogspot.com