posttoday

เขตศก.พิเศษเกาะกง ประตูการค้าไทย-กัมพูชา

26 กรกฎาคม 2560

เขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงเปรียบเหมือนประตูการค้าระหว่างไทยกับกัมพูชา เนื่องจากถูกหยิบยกขึ้นมาเชื่อมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษตราดของฝั่งไทยเพื่อรองรับการลงทุน

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

เขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงเปรียบเหมือนประตูการค้าระหว่างไทยกับกัมพูชา เนื่องจากถูกหยิบยกขึ้นมาเชื่อมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษตราดของฝั่งไทยเพื่อรองรับการลงทุน อีกทั้งยังเป็นส่วนช่วยเสริมศักยภาพการค้าและการลงทุนของทั้งไทยและกัมพูชาในตลาดโลก

ด้วยเหตุผลที่ว่า จ.ตราด วางตำแหน่งตัวเองไว้ว่าจะเป็นเมืองสีเขียว ดังนั้นการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษฝั่งไทยจะเน้นไปที่อุตสาหกรรมเบาและอุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนภาคอุตสาหกรรมก็สามารถขยับเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงได้ไม่ยาก

ธิติเดช ทองภัทร์ รองประธานบริหารเกาะกงรีสอร์ทและเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง หนึ่งในธุรกิจในเครือบริษัท ลี.ยง.พัด.กรุ๊ป บอกถึงแนวคิดจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงว่า ต้องการให้เป็นแหล่งสร้างงานให้กับชาวกัมพูชา เพื่อที่จะได้ไม่ต้องออกไปทำงานแบบผิดกฎหมายและเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ก็ทำหน้าที่เป็นตัวพัฒนาความเจริญและกระจายรายได้ของจังหวัดเกาะกง เริ่มต้นพัฒนามาตั้งแต่ปี 2549 บนพื้นที่ 2,100 ไร่ มีบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนแล้วประมาณ 5-6 ราย หรือประมาณ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งยังมีพื้นที่เหลืออีกมากที่เปิดกว้างรองรับการลงทุน

“ฟังดูแล้วอาจจะคิดว่าศักยภาพไม่น่าสนใจหรืออย่างไร ถึงมีนักลงทุนสนใจเข้าไปลงทุนเพียงเท่านี้ ทั้งที่เปิดดำเนินการมานานนับ 10 ปีแล้ว ต้องบอกเลยว่าไม่ใช่แน่นอน เพราะทำเลที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงอยู่ในจุดศูนย์กลางที่จะเชื่อมโยงกับเมืองสำคัญทั้งของไทยและกัมพูชา โดยตั้งอยู่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพียง 330 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯ 400 กิโลเมตร ห่างจากพนมเปญเพียง 297 กิโลเมตร และห่างจากท่าเรือสีหนุวิลล์ 233 กิโลเมตร” ธิติเดช กล่าว

นอกจากนี้ ปัจจุบันเส้นทางการขนส่งทางบกจากตราดเข้าไปยังเกาะกงมีความสะดวกสบายมากขึ้น จากการเปิดเส้นทางชายฝั่งทะเลไทย-กัมพูชา-เวียดนาม (ถนนสาย R10) ที่เชื่อมเข้าถนนสาย 48 ในจังหวัดเกาะกง เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้แห่งนี้ถูกใช้เป็นเส้นทางขนส่งวัตถุดิบและสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วจากฐานรากการผลิตในกัมพูชาไปสู่ท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งออก เชื่อมโยงการผลิตระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา-เวียดนาม รวมถึงการกระจายสินค้าจากฐานการผลิตในเวียดนาม หรือบางส่วนที่เป็นสินค้าขาเข้าจากการย้ายฐานการผลิตของไทยไปยังกัมพูชา

“เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องขยายการลงทุนให้เต็มพื้นที่ภายในเมื่อไหร่ หรือตั้งเป้าที่จะรับการลงทุนกี่ราย เพราะเราต้องการเลือกการลงทุนที่จะเข้ามาในเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง เนื่องจากต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาชีวิตของคนเกาะกง จะเห็นได้ว่าโรงงานในนี้ไม่มีปล่องปล่อยมลพิษหรือของเสีย จึงทำให้ไม่มีเป้าโตแบบก้าวกระโดด เพราะที่ผ่านมาเราขายด้วยตัวเอง เรียนรู้ด้วยตัวเอง ดิวกับบริษัทที่สนใจเข้ามาลงทุนเอง และโชคดีที่ได้บริษัทแบรนด์ระดับโลกเข้ามาลงที่นี่” ธิติเดช กล่าว

สำหรับจุดที่ดึงดูดนักลงทุนให้สนใจเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงคือ มีแรงงานจำนวนมาก และยังมีค่าจ้างต่ำ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 200 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน หรือตกประมาณเดือนละ 7,000 บาทเท่านั้น นอกจากนั้น ยังได้สิทธิประโยชน์หลายด้าน เช่น ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบทั้งในการก่อสร้างและในโรงงาน ยกเว้นภาษีรายได้ 9 ปี จากนั้นเสียภาษีรายได้ 20%

ที่สำคัญยังมีสำนักงานศุลกากรบริการส่งออก-นำเข้าแบบวันสต็อปเซอร์วิส ในบริเวณด้านหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง สามารถทำธุรกรรมส่งออก-นำเข้าได้โดยไม่ต้องไปผ่านพิธีการศุลกากรที่พนมเปญ รวมทั้งยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ในการส่งออกจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

ธิติเดช บอกอีกว่า อยากให้มองกัมพูชาใหม่ อย่ามองแบบดูถูก เพราะคนกัมพูชาไม่ได้เป็นอย่างที่คิด วันนี้เขาพัฒนาไปไกลและเร็วมาก และขอแนะนำว่า ธุรกิจขนาดเล็กๆ เลยยังไม่ควรเข้ามา แต่สำหรับธุรกิจขนาดกลางถึงใหญ่ เมื่อเข้ามาจะมีโอกาสสูงกว่า และถ้าเข้ามาทำที่นี่แล้วไม่ได้ที่อื่นก็อย่าหวังไปเลย เพราะการจะเข้ามาลงทุนในเกาะกงง่ายและสะดวกมาก ทั้งตัวผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกง และคนทำงานที่นี่ส่วนใหญ่ล้วนพูดได้ 2 ภาษา คือ ทั้งไทยและอังกฤษ

อย่างไรก็ดี สินค้าที่ผลิตในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ ไม่ได้ผลิตเพื่อขายในประเทศกัมพูชา หรือว่าไทยเท่านั้น แต่ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก เกาะกงในวันนี้จึงไม่ใช่แค่แหล่งกาสิโน แต่เป็นชุมชนทางเศรษฐกิจใหม่บนเส้นทางระเบียงใต้เชื่อมไทยและกัมพูชาให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอาเซียนและโลก