ทำไม'คาตาลัน'อยากชูธงเอกราช
เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นคาตาลันประกาศลงประชามติแยกประเทศจากสเปน แต่รัฐบาลกลางแดนกระทิงไม่อยากยอมรับ ความขัดแย้งรอบใหม่ที่รอวันปะทุ
เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นคาตาลันประกาศลงประชามติแยกประเทศจากสเปน แต่รัฐบาลกลางแดนกระทิงไม่อยากยอมรับ ความขัดแย้งรอบใหม่ที่รอวันปะทุ
โดย...ชยพล พลวัฒน์
คาตาลันหรือคาตาลุญญา หนึ่งในแคว้นของสเปนที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์อย่างโดดเด่นกำลังจะต้องเผชิญความท้าทายรอบใหม่เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นกาตาลันยังคงยืนยันถึงการแยกตัวออกเป็นเอกราชผ่านการลงประชามติในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ แม้ว่าอัยการศาลสูงของรัฐบาลกลางสเปนจะสั่งห้ามการลงประชามติด้วยเหตุผลว่า ขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม ข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นของแคว้นคาตาลัน โดยมีนายคาร์เลส ปุยเดมองต์ ผู้นำรัฐบาลแคว้นคาตาลัน กับรัฐบาลกลางของสเปนนำโดยนายกรัฐมนตรีมาเรียโน ราฆอย ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายฝ่ายจึงจับตามองว่า การลงประชามติของแคว้นคาตาลันในครั้งนี้ อาจนำพาสเปนเข้าสู่วิกฤตทางการเมืองที่เลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่การสิ้นสุดยุคเผด็จการของนายพลฟรั่งโกเมื่อสี่ทศวรรษที่ผ่านมา
ที่มาของ Vote ในครั้งนี้
สำหรับแคว้นคาตาลัน เป็นภูมิภาคที่ร่ำรวยที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน เป็นหนึ่งใน 17 แคว้นที่มีรัฐบาลอิสระในการปกครองตนเองหรือที่เรียกว่า "Generalitat" ซึ่งมีอิสระในการดูแลนโยบายด้านภาษี สาธารณะสุข และการศึกษา คาตาลันมีวัฒนธรรมเก่าแก่หลายศตวรรษ มีภาษาและประเพณีของตนเอง ความต้องการแยกตัวเป็นเอกราชถูกกระตุ้นโดยช่วงเศรษฐกิจขาลงของสเปน ชาวคาตาลันจำนวนมากไม่พอใจที่ส่งเงินภาษีสูงถึง 16% ให้รัฐบาลกลางในกรุงมาดริด นำไปช่วยเหลือภูมิภาคอื่นๆ ที่ยากจนกว่า กระแสเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชในแคว้นคาตาลัน ได้ทวีความแข็งแกร่งขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ อีกทั้งยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการจัดลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ของแคว้นสกอตแลนด์เมื่อ 18 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา ที่กลายเป็นปัจจัยปลุกเร้าให้ชาวคาตาลันที่มีจำนวนมากกว่า 7.5 ล้านคนต้องการออกเสียงเพื่อกำหนดอนาคตของดินแดนของตน
ผู้นำรัฐบาลท้องถิ่นของแคว้นคาตาลัน นายคาร์เลส ปุยเดมองต์ จากพรรค Junts pel Si หรือ Together for Yes ได้ประกาศนับตั้งแต่คราวหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นว่าเขาจะใช้ความพยายามในการเรียกร้องให้คาตาลันเป็นชาติเอกราชจากรัฐบาลกลางสเปนอย่างเต็มรูปแบบ นายปุยก์เดอมงต์กล่าวว่า รัฐบาลกลางสเปนในกรุงมาดริดทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือกตั้ง นอกจากจัดการลงประชามติ “ตอนพวกเขาถามเราว่า ชาวคาตาลันต้องการอะไร เราได้ยื่นข้อเสนอทุกรูปแบบแก่พวกเขาแล้ว แต่พวกเขาปฏิเสธหรือวางข้อจำกัดอย่างรุนแรงโดยไม่มีข้อยกเว้น”
นายคาร์เลส ปุยเดมองต์ ผู้นำแคว้นคาตาลัน
ย้อนกลับไปในยุคเผด็จการของนายพลฟรังโกซึ่งเข้าควบคุมการบริหารจัดการท้องถิ่นของแคว้นคาตาลัน เขาได้ยึดอำนาจพิเศษรวมทั้งปราบปรามการใช้ภาษาท้องถิ่น จนกระทั่งภายหลังจากนายพลฝรั่งโกเสียชีวิตในปี 1979 ภูมิภาคนี้ได้รับสิทธิในการบริหารตนเองอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งฝ่ายอนุรักษ์นิยมมักกล่าวหาว่ารัฐบาลกาตาลันใช้อำนาจพิเศษของตนจำกัดการใช้ภาษาสเปนและสอนประวัติศาสตร์อย่างมีอคติ ต่อมาในปี 2006 รัฐบาลกลางสเปนได้สนับสนุนให้คาตาลันมีสิทธิและอำนาจในการบริหารมากขึ้นด้วยการ ให้สถานะความเป็น "ชาติ" พร้อมทั้งระบุใน มาตรา 2 ของกฎหมายฉบับใหม่ ระบุว่า ประชากรแคว้นคาตาลันถือเป็น “บุคคลอธิปไตย” (sovereign subject) ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับ “เงื่อนไขทางการเมือง” ของตนเอง
กระแสการเรียกร้องเอกราชของคาตาลันกลับมามีเพิ่มมากขึ้นในช่วงปี 2013 จากวิกฤตยูโรโซนของสหภาพยุโรปที่เศรษฐกิจของสเปนถดถอย ประกอบกับการเห็นตัวอย่างการลงประชามติของสก็อตแลนด์ในปี 2014 ทั้งนี้ในปีเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญสเปนมีคำตัดสินให้การลงประชามติปี 2014 ของชาวคาตาลันเป็นโมฆะ เพียง 5 วันก่อนที่จะลงประชามติจะมีขึ้นในวันที่ 9 พ.ค. แต่นายอาร์ตูร์ มาส ประธานาธิบดีคาตาลันในขณะนั้น ยังผลักดันจัดการลงประชามติต่อ แม้จะเป็นในเชิงสัญลักษณ์และมีผู้มาใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่ง แต่คะแนนเสียงกว่า 80% ชี้ว่า พวกเขาต้องการแยกตัวเป็นอิสระ การดึงดันของนายมาส ทำให้เขาถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานขัดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ และถูกลงโทษห้ามรับตำแหน่งสาธารณะเป็นเวลา 2 ปี โดยนายปุยก์เดอมงต์กล่าวว่า เขาเตรียมพร้อมที่จะรับผลที่ตามมาแบบเดียวกัน
บาร์เซโลน่า VS เรอัลมาดริด เมื่อฟุตบอลไม่ใช่แค่กีฬา
เมื่อถึงคราวการแข่งขันฟุตบอลแมตช์ระหว่างทีมบาร์เซโลน่า กับ เรอัลมาดริด คนทั่วไปอาจดูเพราะต้องการความสนุก เชียร์นักเตะที่เราชอบ เชียร์ทีมที่เรารัก แต่สำหรับทีมฟุตบอลบาร์เซโลน่านั้นสำหรับชาวคาตาลันเป็นมากว่าทีมฟุตบอลของท้องถิ่น เนื่องจากทีมบาร์ซ่า มีความหมายอย่างมากต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง และเป็นตัวแทนสัญลักษณ์หนึ่งของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของชาวคาตาลันมาหลายทศวรรษ
การเข้ามาของกีฬาฟุตบอลในยุคนั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการพัฒนาทางสังคมและการเมืองในเมืองบาร์เซโลนา ฟุตบอลถูกมองว่าเป็น "สิ่งใหม่" เป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย ความเป็นยุโรป การก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ประจวบเหมาะกับในยุคนั้น เป็นยุคที่ความเป็นชาตินิยมของแคว้นคาตาลันเพิ่มสูงขึ้น มีการก่อตั้งพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ชาตินิยมของชาวคาตาลันเพื่อต่อสู้ในเกมการเมืองสเปน หลายต่อหลายครั้งทีมบาร์ซ่ามักถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงถึงความทันสมัยของบาร์เซโลน่าในฐานะเมืองท่าสำคัญของยุโรปและแคว้นคาตาลัน นอกจากนั้น ผู้ก่อตั้งทีมซึ่งเป็นชาวสวิตเซอร์แลนด์ ก็เล็งเห็นถึงโอกาศในการระดมเงินทุนจากบรรดาชนชั้นกลางของเมือง จึงทำให้ทีมบาร์ซ่าถูกสร้างขึ้นมาให้เสมือนเป็นตัวตน (Identity) ของชาวคาตาลันอย่างแท้จริง มีการเปลี่ยนตราสโมสรจากตราเมืองบาร์เซโลนาไปเป็นตราที่มีธงของแคว้นคาตาลัน เขาเปลี่ยนภาษาทางการของสโมสรบาร์ซาจากภาษาสเปนไปเป็นภาษาคาตาลุญญา มีการเปิดโรงเรียนสอนภาษาคาตาลุญญาให้กับผู้เล่นและสมาชิกสโมสร มีการจัดแคมเปญเพื่ออิสรภาพของชาวคาตาลัน
ในช่วงทศวรรษที่ 1939-1975 ทีมบาร์ซ่าถูกมามองว่าเป็นตัวแทนของชาวคาตาลันในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการของนายพลฟรังโก ซึ่งในตอนนั้น บาร์ซ่าและแฟนฟุตบอลชาวคาตาลันก็โดนจำกัดสิทธิ์หนักหน่วงกว่าเดิม นายพลฟรังโกพยายามอย่างมากในการสร้างค่านิยมความเป็นชาติสเปน รัฐบาลลัทธิฟาสซิสต์ของนายพลฟรังโกพยายามควมคุมกิจกรรมทางกีฬาทุกอย่าง มีการบังคับให้ในสนามแข่งขันแสดงสัญลักษณ์และดำเนินกิจกรรมของลัทธิฟาสซิสต์ บาร์ซ่าถูกเปลี่ยนชื่อให้มีความเป็นสเปนมากขึ้น มีการเอาคนใกล้ชิดของนายพลฟรังโกเข้าไปอยู่ในบอร์ดบริหารเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของสโมสรและแฟนบอล
กระนั้น สนามฟุตบอลของบาร์ซ่าก็ถือว่าเป็นที่ชุมนุมเดียวของชาวคาตาลัน ซึ่งเป็นที่ที่พวกเขาสามารถพูดภาษาของตนเองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง ที่เหนือไปกว่านั้น ในทุกๆ ครั้งที่ทีมของพวกเขามีชัยชนะต่อทีมเรอัล มาดริด จากเมืองหลวง ชาวคาตาลันในยุคนั้น จะรู้สึกเหมือนชัยชนะของประชาธิปไตยที่มีต่อระบอบเผด็จการของนายพลฟรังโก จนเป็นที่มาของปรัชญาของทีมคือ “บาร์ซ่าเป็นมากกว่าสโมสร”
ในการรณรงค์ประชามติครั้งนี้ เรายังได้เห็น 'เป๊ป กวาร์ดิโอล่า' อดีตผู้จัดการทีมบาร์เซโลน่า กระโดดขึ้นเวทีปราศรัยหนุนลงประชามติแยกแคว้นคาตาลันออกจากสเปน โดยเขากล่าวกับผู้ชุมนุม 40,000 คนในบาร์เซโลน่าว่า เราไม่มีทางเลือกนอกจากการลงคะแนนเสียงในครั้งนี้ ยิ่งตอกย้ำให้เราเห็นว่าทีมฟุตบอลบาร์เซโลน่าไม่ใช่แค่ทีมฟุตบอลท้องถิ่นเพียงเท่านั้น แต่หากคือตัวแทนของประชาชนคาตาลันที่แฝงไปด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง
ในขณะเดียวกันแฟนบอลทีมบาร์ซ่าต่างเป็นกังวลว่า ทีมรักของพวกเขาอาจไม่ได้เล่นในลีก ลา ลีกาสเปน หากแคว้นคาตาลัน แยกตัวออกมาจากสเปนได้สำเร็จ สอดคล้องกับที่ฆาเบียร์ เตบาส ประธานฟุตบอลลีกอาชีพสเปน ยืนยันว่า สโมสร บาร์เซโลน่า จะไม่สามารถร่วมเข้าแข่งขันในลีก ลาลีกา สเปนได้อีก หากแคว้นกาตาลันประสบความสำเร็จในการขอแยกตัวเป็นอิสระ
อนาคตสเปนหลังประชามติคาตาลัน
ตลอดระยะเวลานับทศวรรษของการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชของชาวคาตาลันนั้น รัฐบาลท้องถิ่นคาตาลันมักจะยืนหยัดอย่างหนักแน่นมาโดยตลอดว่า หากแคว้นคาตาลันกลายเป็น "สาธารณรัฐคาตาโลเนีย" จะสามารถยืนหยัดเป็นเอกราชได้ไม่แพ้ชาติอื่นในยุโรป ด้วยประชากรที่มากกว่า 7 ล้านคน และมีรายได้ประชาชาติสูงถึงปีละ 3 แสนล้านยูโร อีกทั้งมีรายได้ประชากรต่อหัวมากที่สุดของสเปน ซึ่งเทียบเท่ากับประเทศโปรตุเกส นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า หากคาตาลันแยกตัวจริง จะทำให้กลายเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับ 7 และมีมูลค่าการซื้อขายมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาค
แต่สำหรับรัฐบาลแดนกระทิงแล้ว รัฐไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าหากขาดคาตาลัน แล้วสเปนจะอยู่ได้อย่างไร ถึงแม้ว่าขนาดพื้นที่ของคาตาลันจะคิดเป็นเพียงร้อยละ 6 ของสเปนเท่านั้น แต่แคว้นนี้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูงที่สุดของสเปน ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งรายได้จากการเก็บภาษีของรัฐบาลกลาง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้รัฐบาลกลางที่มาดริด ที่เอาหูไปนาเอาตาไปไร ทำเมินต่อการลงประชามติของคาตาลัน อีกทั้งยังดำเนินมาตรการต่างๆ ที่พยายามขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย เช่น การส่งเจ้าหน้าที่ไปปิดศูนย์จัดพิมพ์บัตรลงประชามติ สั่งตัดงบประมาณของรัฐบาลท้องถิ่นป้องกันการนำเงินไปใช้ในการรณรงค์จัดการลงคะแนน การเรียกบรรดานายกเทศมนตรีเมืองต่างๆ ของแคว้นมา "ปรับทัศนคติ" ว่าหากดำเนินการจัดลงประชามติ จะถือว่าทำผิดต่อหลักรัฐธรรมนูญของประเทศ หรือแม้แต่อัยการศาลของสเปนที่รัฐบาลส่งฟ้องแล้วมีคำตัดสินว่าการลงประชามติในครั้งนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญของสเปน
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การแยกตัวจากสเปนของคาตาลันจะมีแนวโน้มเป็นไปได้น้อยมาก ถึงแม้จะมีความเคลื่อนไหวจากทางคาตาโลเนียอย่างต่อเนื่อง แต่หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง ผลกระทบโดยตรงประการแรกที่จะเกิดขึ้นกับสเปนก็คือการสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาลจากภาษีที่เก็บได้ในคาตาลัน โดยเฉพาะเมื่อมองว่าสเปนเองกำลังอยู่ในภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ประชาชนจำนวน 1 ใน 4 ตกงาน ขณะที่รัฐบาลต้องบริหารประเทศแบบขาดดุลถึงปีละ 16,000 ล้านยูโร หรือกว่า 600,000 ล้านบาท
นอกจากการสูญเสียรายได้โดยตรงจากภาษี การแยกตัวเป็นเอกราชของคาตาลัน ซึ่งเป็นแหล่งแหล่งผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกถึงร้อยละ 30 ของสเปนแยกตัวเป็นเอกราชจริง ยังจะส่งผลให้เศรษฐกิจของสเปนฟื้นตัวช้าลงกว่าที่คาดไว้อีกด้วย เนื่องจากแคว้นคาตาลัน โดยเฉพาะนครบาร์เซโลนา เมืองหลวงของแคว้น เป็นบริเวณที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการจ้างงานของประเทศ
นอกจากนั้นยังส่งผลถึงความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เนื่องจากประชาชนอาจมองว่ารัฐบาลกลางขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการประเทศ ที่ปล่อยให้ดินแดนของประเทศสั่นคลอนด้วยการแยกตัวเป็นเอกราช ในสภาวะที่การเมืองและเศรษฐกิจของประเทศพึ่งฟื้นตัวจากพิษเศรษฐกิจ อาจส่งผลสร้างความไม่พอใจต่อประชาชนด้วยการตัดลดรายจ่ายและสวัสดิการของรัฐ อีกทั้งหากสามารถแยกตัวได้สำเร็จจริง บรรดาดินแดนอื่นๆ ในสเปนก็จะเอาเป็นแบบอย่าง เช่น แคว้นบาสก์ที่มีการเรียกร้องเอกราชมานานกว่า 45 ปี
อย่างไรก็ดี ตามที่นายคาร์เลส ปุยจ์เดอมองต์ นักสู้เพื่อเอกราชคาตาลัน สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของแคว้นได้ อีกทั้งยังผลักดันการแยกเอกราชอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ถึงขั้นประกาศว่าถ้าชนะการลงประชามติใน 1 ต.ค.นี้ จะประกาศแยกเอกราชอย่างเป็นทางการภายใน 48 ชั่วโมง! นั่นเป็นสิ่งที่รัฐบาลสเปน “ยอมไม่ได้” เด็ดขาด จึงต้องจับตามองว่าหลังจากผลของมติในวันที่ 1 ต.ค นี้ ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลมาดริดกับแคว้นคาตาลันจะถึงจุดแตกหักหรือไม่
ภาพ : AFP