โรงแรมในไอร์แลนด์ตอกกลับ "ยูทูปเบอร์สาว" หลังขอพักฟรีแลกทำรีวิวให้
โรงแรมในไอร์แลนด์ตอกกลับยูทูปเบอร์สาวชาวอังกฤษ "แล้วใครจะจ่ายค่าแรงพนักงาน" หลังขอพักฟรีแลกทำรีวิวให้
โรงแรมในไอร์แลนด์ตอกกลับยูทูปเบอร์สาวชาวอังกฤษ "แล้วใครจะจ่ายค่าแรงพนักงาน" หลังขอพักฟรีแลกทำรีวิวให้
เมื่อเร็วๆ นี้เกิดประเด็นร้อนขึ้นเมื่อ "คนดัง" ชาวอังกฤษในยูทูบคนหนึ่งชื่อ แอล ดาร์บี้ ซึ่งมีผู้ติดตาม 87,000 คน ออกมาเผยว่า เธอได้ติดต่อโรงแรม The White Moose Café ในกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ เพื่อที่จะขอพักฟรีโดยแลกกับการรีวิวสถานที่ โดยให้เหตุผลว่า เธอเป็นผู้ทรงอิทธิพลในโลกโซเชียล หรืออินฟลูเอนเซอร์ (Influencers) ในสาขาไลฟ์สไตล์ ความสวยความงาม และการท่องเที่ยว และอยากจะขอพักที่โรงแรมในช่วงก่อนวันวาเลนไทน์โดยไม่ต้องจ่ายเงิย แต่จะให้ผลประโยชน์แลกด้วยการช่วยโฆษณาผ่านยูทูปและอินสตาแกรมให้มีคนเห็นและจะได้มีผู้มาใช้บริการมากขึ้น พร้อมกับยกตัวอย่างมาอ้างว่า เมื่อปีที่แล้วเธอมีดีลแบบเดียวกันกับ Universal Orlando ที่รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐ ซึ่งทางนั้นรู้สึกอะเมซิ่งสุดๆ กับผลประโยชน์ที่ได้รับ
ปรากฏว่า พอล สเตนสัน เจ้าของโรงแรมตอบกลับยูทูปเบอร์คนดังด้วยจดหมายเปิดผนึกที่โพสต์ในเฟซบุ๊กของทางโรงแรมว่า เธอกล้ามากที่ส่งอีเมลติดต่อมา แต่ไม่ค่อยมีความละอายสักเท่าไหร่ พร้อมกับร่ายยาวว่า ถ้าคิดจะใช้รีวิวมาแลกของฟรี แล้วใครจะเป็นคนจ่ายค่าแรงให้กับพนักงานที่ต้องคอยรับรองเธอไม่รู้จักกี่คน
ที่สำคัญก็คือทางโรงแรมมีผู้ติดตามในเฟซบุ๊กถึง 186,000 คน และในอินสตาแกรมอีก 32,0000 คน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าอินฟลูเอนเซอร์ด้วยซ้ำ จากนั้นเขาแนะนำว่า ต่อไปหากจะเสนอทำแบบนี้ให้จ่ายค่าบริการไปก่อน ถ้าโรงแรมเห็นว่าข้อเสนอของเธอมีประโยชน์ ก็อาจจะตอบแทนบ้าง
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายออกมาเปิดเผยเรื่องที่เกิดขึ้น ปรากฏว่าทั้งตัวอินฟลูเอนเซอร์และโรงแรมถูกโจมตีอย่างหนักหน่วง โดยทางเจ้าของโรมแรมถูกตำหนิว่าทำตัวไม่เป็นมืออาชีพและสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจตัวเอง ขณะที่อินฟลูเอนเซอร์สาวถูกกระหน่ำโจมตีด้วยถ้อยคำแสดงความเกลียดชัง และต่อมาเจ้าของโรงแรมประกาศห้ามวล็อกเกอร์ (Vloggers) มาใช้บริการที่โรงแรมแบบฟรีๆ พร้อมกับอ้างว่า แอล ดาร์บี้ แนะให้แฟนๆ มารีวิวโจมตีโรงแรม
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งมีสถานะที่กำกวมระหว่างการเป็นสื่อที่ต้องวิจารณ์อย่างเป็นกลางกับการทำหน้าที่เป็นพีอาร์ที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของผู้จ่ายเงินจ้าง หรือให้สิ่งตอบแทนอื่นๆ
หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ คระกรรมาธิการปกป้องการแข่งขันทางการค้าและผู้บริโภคของไอร์แลนด์ เผยว่า กำลังพิจารณากระบวนการตรวจสอบพฤติกรรมของอินฟลูเอนเซอร์ เพราะบางรายมีการโฆษณาเกินจริง และชี้นำผู้บริโภคด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยใช้จำนวนผู้ติดตามเป็นปัจจัยหนุน
ที่มา www.m2fnews.com