posttoday

อาเซียนจับมือ WEF พัฒนาทักษะแรงงานดิจิทัล

01 ธันวาคม 2561

ต้องยอมรับว่าการพัฒนาทักษะแรงงานเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงประเทศในยุคดิจิทัล

โดย ปิยนุช ผิวเหลือง

ต้องยอมรับว่าการพัฒนาทักษะแรงงานเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงประเทศในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มคนฐานราก เพราะเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้มีทักษะ รู้จักนำเครื่องมือด้านดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อสร้างรายได้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ จะยั่งยืน

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงหลักในการขับเคลื่อนด้านดิจิทัลของประเทศไทย เห็นความสำคัญในการยกระดับทักษะแรงงาน จึงได้ร่วมมือกับเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (World Economic Forum : WEF) ภายใต้โครงการ “ดิจิทัล อาเซียน” ในการดึงกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกและภูมิภาคเข้ามาพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แรงงานในอาเซียนจำนวน 20 ล้านคน ภายในปี 2563 โดยเน้นกลุ่มเอสเอ็มอี

พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า การพัฒนาทักษะแรงงานดิจิทัลในอาเซียน จะช่วยส่งเสริมการค้า การลงทุนในภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถของประชาชนผ่านการฝึกฝน การเรียนรู้ทักษะ และเสริมสร้างความเชี่ยวชาญ

สำหรับกลุ่มบริษัทชั้นนำที่เข้าร่วมในเวที อาทิ บริษัท ซิสโก้ กูเกิล ไมโครซอฟท์ ลาซาด้า Grab Tokopedia และ Sea Group ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในอาเซียนและนอกอาเซียน ผ่านการให้ทุนการศึกษา เปิดโอกาสให้นักศึกษามหาวิทยาลัยในอาเซียนได้เข้าฝึกงานกับบริษัท การอบรมเจ้าหน้าที่ และการร่วมสร้างหลักสูตรเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ในสถาบันการศึกษา คาดว่าจะสร้างให้เกิดการจ้างแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล 2 แสนคนในอาเซียน ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงดีอีและเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่มเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ดิจิทัล อาเซียน” ซึ่งริเริ่มโดยภาคเอกชน เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมในเอเชีย 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ด้านการพัฒนาบุคลากร โดยดึงเอาบริษัทใหญ่มาร่วมพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับเอสเอ็มอี 2.ด้านไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ระหว่างกัน 3.ด้านธรรมาภิบาลของข้อมูล (Data Governance) ทั้งการส่งเสริม การคุ้มครอง ซึ่งครอบคลุมไปถึงข้อมูลในส่วนที่ข้ามประเทศ (Cross Border) และ 4.ด้านอี-เพย์เมนต์ ระบบชำระเงินและการแลกเปลี่ยน ซึ่งประเทศไทยมีโครงการที่ทำแล้วและน่าจะเป็นประโยชน์ได้ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้แก่ พร้อมเพย์ และการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงอีกด้าน คือ การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Access) ในส่วนของประเทศไทย มีโครงการเน็ตประชารัฐ ที่จะนำไปสร้างการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้

ขณะที่ปี 2562 ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียน จึงได้เตรียมหารือประเด็นดิจิทัล อาเซียนด้วย ทั้งในระดับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ASEAN TELMIN) และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (TELSOM)

จัสติน วู้ด หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และสมาชิกคณะกรรมการบริหารของสภาเศรษฐกิจโลก เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้มีการพัฒนาทักษะแรงงานด้านดิจิทัลในภูมิภาคนี้ไปแล้วประมาณ 8.5 ล้านคน และมีจำนวนมากที่อยู่ในประเทศไทย

“การสร้างทักษะพื้นฐานให้กับเอสเอ็มอีอาเซียน รวมทั้งไทย จะเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือดิจิทัล การใช้อี-คอมเมิร์ซช่วยค้าขาย และอี-เพย์เมนต์ เป็นต้น ส่วนการพัฒนาทักษะระดับสูงขึ้น เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์หรือเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จะมุ่งที่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา” วู้ด กล่าว