posttoday

ผลวิจัยชี้ "น้ำแข็งขั้วโลก" ละลายเร็วกว่าที่คิดจากภาวะโลกร้อน

16 มกราคม 2562

ผลวิจัยของนักวิทยาศาสตร์พบว่าภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งใน "แอนตาร์กติกา" ละลายเร็วขึ้นกว่าเมื่อ 39 ปีที่แล้ว ถึง 6 เท่า

ผลวิจัยของนักวิทยาศาสตร์พบว่าภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งใน "แอนตาร์กติกา" ละลายเร็วขึ้นกว่าเมื่อ 39 ปีที่แล้ว ถึง 6 เท่า

ผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์น้ำแข็งจาก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ พบว่า ภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งบริเวณทวีปแอนตาร์กติกาละลายเร็วขึ้นกว่าเมื่อ 39 ปีที่แล้ว ถึง 6 เท่า โดยระหว่างปี 1979-1990 ทวีปแอนตาร์กติกาสูญเสียน้ำแข็งราว 40,000 ล้านตันต่อปี ขณะที่ปี 2009-2017 น้ำแข็งละลายถึง 252,000 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลที่น่าตกใจอีกว่า จุดที่มีเสถียรภาพและเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดอย่างพื้นที่ฝั่งตะวันออกของทวีป ก็พบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน โดยน้ำแข็งละลายไปถึง 56,000 ล้านตัน ทั้งที่เมื่อปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์พบว่าน้ำแข็งในพื้นที่นี้ละลายน้อยมาก หนำซ้ำในอดีตยังมีน้ำแข็งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในจุดนี้

ข้อมูลดังกล่าวได้จากการเก็บข้อมูลน้ำแข็งในจุดต่างๆ ของทวีปแอนตาร์กติกาถึง 172 จุด โดยใช้ทั้งภาพถ่ายทางอากาศ เรดาร์ดาวเทียม และการจำลองทางคอมพิวเตอร์ ตรวจวัดการละลายของน้ำแข็งตั้งแต่ปี 1979 ซึ่งถือเป็นการศึกษาพฤติกรรมของน้ำแข็งขั้วโลกในช่วงเวลายาวนานที่สุด

ก่อนหน้านี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์สถานการณ์เลวร้ายที่สุดว่า หากน้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างต่อเนื่อง ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอีก 1.8 ม. ในปี 2100 และทะลักเข้าท่วมหลายเมืองแถบชายฝั่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบกับประชาชนนับล้านๆ คน และหากน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาละลายทั้งหมด น้ำทะเลจะสูงขึ้นถึง 57 เมตร

ภาพ เอเอฟพี

ที่มา www.m2fnews.com