"สงครามอวกาศ" สนามชิงมหาอำนาจโลก
ภารกิจพิชิตอวกาศไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักของชาติมหาอำนาจอีกต่อไป แต่การใช้อวกาศเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองและทางทหาร คือสิ่งที่ผงาดขึ้นมาแทนที่
ภารกิจพิชิตอวกาศไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักของชาติมหาอำนาจอีกต่อไป แต่การใช้อวกาศเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองและทางทหาร คือสิ่งที่ผงาดขึ้นมาแทนที่
************************
โดย...จุฑามาศ เนาวรัตน์
ภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจของฉาก "สงครามอวกาศ" ที่เห็นได้บ่อยครั้งในหนังไซไฟฟอร์มยักษ์อาจกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเร็วๆ นี้ เมื่อภารกิจพิชิตอวกาศไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักของชาติมหาอำนาจอีกต่อไป แต่การใช้อวกาศเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองและทางทหาร คือสิ่งที่ผงาดขึ้นมาแทนที่
เมื่อวงโคจรของโลกกำลังกลายเป็นพื้นที่แห่งการช่วงชิงความเป็นใหญ่เช่นนี้ ความหวาดกลัวที่เพิ่มขึ้นจึงส่งผลให้รัฐบาลของแต่ละประเทศเริ่มวิตกกังวลว่า ดาวเทียมหรือสถานีอวกาศอาจถูกโจมตีโดยแฮ็กเกอร์ หรือถูกคุกคามจากอาวุธอวกาศรูปแบบใหม่ได้ จนต้องเร่งสร้างแผนป้องกัน ก่อนที่โครงการอวกาศของตัวเองจะกลายเป็นเหยื่อในสงครามนี้
นิกเกอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า มหาอำนาจที่เห็นได้ชัดว่ากำลังเร่งแข่งขันกัน เพื่อครองผลประโยชน์จากอวกาศคือ จีน สหรัฐ และรัสเซีย โดยข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อความมั่นคงของโลก ระบุว่า ทั้ง 3 ประเทศได้ทดลองอาวุธที่สามารถทำลายดาวเทียม โดยเป็นขีปนาวุธที่ถูกปล่อยตัวจากโลกและทะยานพุ่งโจมตีดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลกได้ทันที
นอกจากนี้ ยังมีอาวุธอวกาศที่เรียกว่า โค-ออร์บิทอลส์ (Co-orbitals) ซึ่งเป็นดาวเทียมที่ติดตั้งขีปนาวุธหรือจรวดเอาไว้ และเมื่อดาวเทียมถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรโลก ขีปนาวุธก็จะแยกตัวออกจากดาวเทียม และพุ่งไปในวงโคจรของดาวเทียมเป้าหมาย และเข้าโจมตีในที่สุด
จีน-สหรัฐจุดชนวน
เมื่อปี 2007 "จีน" ได้สร้างความตื่นตะลึงให้แก่ทั่วโลก จากการที่จีนประสบความสำเร็จในการทำลายหนึ่งในดาวเทียมพยากรณ์อากาศของตัวเอง ส่งผลจนทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 3 ของโลกที่มีความสามารถในการทำลายดาวเทียม จากก่อนหน้านี้ที่มีเพียงแค่สหภาพโซเวียตและสหรัฐเท่านั้น
ความสามารถด้านอวกาศอันโดดเด่น ของจีนถูกทำให้เด่นชัดมากขึ้นอีกครั้ง เมื่อล่าสุดจีนสามารถนำยานสำรวจ ฉางเอ๋อ 4 (Chang'e 4) ลงจอดในด้านมืดหรือด้านไกลของดวงจันทร์ได้สำเร็จ ใน วันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นภารกิจที่ไม่เคยมีประเทศไหนในโลกสามารถทำได้มาก่อน และนับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์ หน้าใหม่ในการสำรวจดวงจันทร์ของมนุษย์
ความทะเยอทะยานของจีนยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะจีนตั้งเป้าว่าจะส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวอังคารให้ได้ภายในปี 2020 และจะมีสถานีอวกาศที่โคจรรอบโลกราวปี 2022 ซึ่งทางการจีนระบุว่า ภารกิจทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ และสถานีอวกาศที่กำลังพัฒนาอยู่นั้นก็จะเปิดรับสมาชิกจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ทุกประเทศ
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญหลายรายต่างระบุตรงกันว่า โครงการด้านอวกาศของจีนไม่ได้มีไว้เพื่อมวลมนุษยชาติอย่างที่จีนกล่าวอ้าง โดย ดีนเฉิง นักวิจัยจากเฮอริเทจ ฟาวน์เดชั่น กล่าวว่า ทุกความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศของจีนล้วนเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองและทางทหาร
สำหรับ "สหรัฐ" ที่เป็นเจ้าแห่งอวกาศในขณะนี้นับว่ามีความชัดเจนมากที่สุด สำหรับความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่สงครามอวกาศในครั้งนี้ ด้วยการก่อตั้ง "กองทัพอวกาศ"
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ได้สั่งให้กระทรวงกลาโหมจัดตั้งกองทัพอวกาศขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะนำเจ้าหน้าที่จากหน่วยงาน
ทหารด้านอวกาศที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว เข้ามาทำงานในกองทัพอวกาศ 600 คน และจะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 1,000 คน ในเร็วๆ นี้ และคาดว่าต้องใช้งบประมาณมากถึง 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 25.5 ล้านล้านบาท) ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้เป้าหมายของกองทัพอวกาศสำเร็จ
เป้าหมายของกองทัพอวกาศของสหรัฐนั้นสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนจากคำกล่าวของ ไมค์ เพนช์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ระบุว่า สถานการณ์ในอวกาศได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง มันไม่ได้เป็นพื้นที่แห่งความสงบสุขและสันติอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความเป็นปรปักษ์ นอกจากนี้จีนและรัสเซียก็กำลังพัฒนาอาวุธอวกาศหลายอย่าง เช่น อาวุธเลเซอร์หรือ
ขีปนาวุธทำลายดาวเทียม ดังนั้นแล้วการจัดตั้งกองทัพอวกาศ จึงเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวอเมริกันในอวกาศและสหรัฐจะไม่ยอมเป็นผู้พ่ายแพ้ ในความท้าทายนี้
"ญี่ปุ่น-อินเดีย" ตื่นงัดแผนตั้งรับ
ราเชสวารี พิลลัย ราชาโกพลัน ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์และมั่นคงทางอวกาศจากมูลนิธิออบเซอร์ฟเวอร์ รีเสิร์ช ระบุว่า จากสถานการณ์เช่นนี้ได้บีบให้ "ญี่ปุ่น" และ "อินเดีย" มหาอำนาจ ด้านอวกาศอันดับที่ 4 และ 5 ของโลก ต้องเร่งปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทาง อวกาศ จากเดิมที่เน้นพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อความสงบสุข ให้เปลี่ยนไปเป็นเพื่อจุดมุ่งหมายทางทหารและ ความมั่นคงของชาติมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ บทบาทของอินเดียในด้านอวกาศจะเน้นไปที่การพัฒนาธุรกิจดาวเทียมที่มีต้นทุนต่ำ ซึ่งเคยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐให้สามารถสร้างดาวเทียมของตัวเองในมูลค่าเพียงแค่ 76 ล้านดอลลาร์ (ราว 2,426 ล้านบาท) แต่ปัจจุบันอินเดียกำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อความมั่นคงของชาติแทน
เหตุการณ์ที่เด่นชัดว่าเป้าหมาย ด้านอวกาศของอินเดียได้เปลี่ยนแปลงไปคือ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา อินเดียได้เปิดตัวดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร ทางทหารดวงที่ 3 ของประเทศ ในชื่อ จีแซท-7เอ (GSAT-7A) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับฐานทัพ ฐานเรดาร์ เครื่องบินทหาร และเครือข่ายควบคุมโดรนได้ นอกจากนี้ อินเดียยังมีแผนที่จะสร้างสถานีภาคพื้นดินขนาดใหญ่ 5 แห่ง และขนาดเล็กอีกกว่า 500 แห่ง ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ภูฏาน เนปาล บังกลาเทศ มัลดีฟส์ และศรีลังกา
"จีนกำลังเร่งพัฒนาขีดความสามารถ ทางอวกาศ เพื่อใช้ในอนาคต สถานการณ์ เช่นนี้บีบบังคับให้อินเดียต้องเข้าสู่สงครามอวกาศนี้ ซึ่งหากไม่เร่งพัฒนา ศักยภาพ อินเดียก็จะต้องเผชิญกับการ เสียผลประโยชน์ เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น จริงๆ" ราชาโกพลัน กล่าว
ขณะที่ญี่ปุ่นก็ได้ประกาศแนวทางด้านความมั่นคงของชาติฉบับใหม่ เมื่อเดือน ธ.ค. โดยเน้นย้ำว่าปัญหาการโจมตีทางอวกาศนั้นถือเป็นความกังวลใหญ่ของประเทศ และเป็นภัยคุกคามที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ หากจะต้องรับมือกับสงครามอวกาศที่มีผู้เล่นยักษ์ใหญ่อย่าง จีน สหรัฐ และรัสเซีย แล้วนั้น การผนึกกำลัง เข้าด้วยกันจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่อินเดีย และญี่ปุ่นเลือกใช้ โดยทั้งสองประเทศ ได้ร่วมกันอภิปรายด้านอวกาศ ซึ่งเป็นความร่วมมือที่ไม่ใช่แค่การสำรวจ ดวงจันทร์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยัง ให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงด้วย และ รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลด้านการเฝ้าระวัง ร่วมกัน
นอกจากอินเดียและญี่ปุ่นแล้วนั้น หลายประเทศก็กังวลกับสถานการณ์นี้เช่นกัน ส่งผลให้แนวคิดเรื่องการเฝ้าระวังทางอวกาศ (SSA) แพร่หลายมากขึ้น โดยหลายประเทศเริ่มใช้ระบบเรดาร์และเซ็นเซอร์จากภาคพื้นดิน เพื่อติดตามสถานการณ์และภัยคุกคามในอวกาศ ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ก็ได้พยายามผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติการในอวกาศ โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
"ที่ผ่านมา เราได้เห็นความร่วมมือระหว่างประเทศด้านทหารและนโยบายต่างประเทศมาแล้ว แต่ในเวลาอันใกล้นี้ความร่วมมือด้านอวกาศกำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านความมั่นคงของหลายชาติในเอเชีย" เฉิง กล่าวทิ้งท้าย