posttoday

Training Center โรงแรม โอกาสของไทยในกัมพูชา

07 มีนาคม 2562

หากพูดถึงการลงทุนจากไทยไปยังประเทศกัมพูชานั้น หลายคนอาจนึกถึงภาพการลงทุนในอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่คุ้นเคย

เรื่อง ภัทรานิษฐ์ เอี่ยมศิริ นักวิเคราะห์ Economic Intelligence Center (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์

หากพูดถึงการลงทุนจากไทยไปยังประเทศกัมพูชานั้น หลายคนอาจนึกถึงภาพการลงทุนในอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่คุ้นเคย เช่น ค้าปลีก เกษตร ก่อสร้าง หรือขนส่ง แต่หากพิจารณาเชิงโครงสร้างจะพบว่า 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจกัมพูชามีการเปลี่ยนผ่านจากภาคเกษตรสู่ภาคการบริการและภาคการผลิตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดช่องว่างทางด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในภาคการเกษตรแรงงานส่วนใหญ่เป็น Unskilled labor

ในขณะที่ภาคการผลิตและภาคบริการกลับมีความต้องการ Skilled labor เป็นจำนวนมาก ในส่วนของภาคบริการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ในปี 2018 มีเม็ดเงินลงทุนถึง 2.6 หมื่นล้านบาท หรือเกือบ 16% ของการลงทุนทั้งหมด จึงเป็นโอกาสที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย ให้เข้ามาลงทุนในธุรกิจ Training Center เพื่อช่วยปิดช่องว่างที่สำคัญนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่คนไทยมีความชำนาญเป็นพิเศษอย่าง “ธุรกิจการโรงแรม”

จากผลสำรวจโดยกระทรวงแรงงานกัมพูชา จากผู้ประกอบการกว่า 1,700 แห่ง พบว่าการขาดแคลนแรงงานคุณภาพนี้ รุนแรงที่สุดในอุตสาหกรรมการโรงแรม สะท้อนจากตัวเลข 78% ของผู้ประกอบการโรงแรมทั้งหมดไม่พึงพอใจกับผู้สมัครงานปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาด้านความสามารถของผู้สมัครไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ (Skill mismatch) โดยทักษะส่วนใหญ่ที่ผู้สมัครขาด ได้แก่ การให้บริการลูกค้า การทำงานร่วมกับผู้อื่น การใช้ภาษาและการสื่อสาร แต่ด้วยการเติบโตที่รวดเร็วของอุตสาหกรรมนี้ ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทวีความรุนแรงขึ้น

ที่ผ่านมาจำนวนโรงแรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเพียง 2.6 หมื่นห้อง ในปี 2011 เป็น 4.6 หมื่นห้อง ในปี 2018 กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประมาณการว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าตัวในปี 2030 ทั้งนี้เกือบ 60% จะเป็นโรงแรม 4-5 ดาว (เติบโตจาก 45% ในปี 2018) ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการแรงงานในโรงแรม 4-5 ดาวเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1.08 ล้านคน ภายในปี 2030 ยิ่งกว่านั้นผลสำรวจโดยกระทรวงแรงงานยังพบอีกว่า ผู้ประกอบการกว่า 900 แห่ง มีความต้องการสถาบันเพื่อพัฒนาทักษะด้านการโรงแรมสูงเป็นอันดับ 2 รองจากภาคการศึกษา เนื่องจากจำนวนสถาบันที่ได้รับมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับจากสากลยังมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในกัมพูชา

อีไอซี มองว่า ปัจจัยเหล่านี้นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการชาวไทยที่จะเข้าไปตั้งธุรกิจ Training Center เนื่องจากประเทศไทยมีประสบการณ์ และศักยภาพที่สูงทางด้านบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีขนาดอุตสาหกรรมติด 1 ใน 10 ของโลก อีกทั้งยังมีข้อได้เปรียบเชิงความใกล้ชิดทางด้านวัฒนธรรมระหว่างไทย-กัมพูชา ทำให้สามารถเข้าถึงชาวกัมพูชาได้ไม่ยากนัก ซึ่งผู้ประกอบการควรมุ่งเน้นหลักสูตรที่จะช่วยยกระดับทักษะขั้นพื้นฐานไปสู่ระดับกลาง (อาทิ เชฟ พนักงานต้อนรับ พนักงานฝ่ายขาย) และผู้บริหารระดับกลาง (อาทิ หัวหน้าฝ่าย Food & Beverage หัวหน้าฝ่ายแม่บ้าน ผู้จัดการแผนกต้อนรับลูกค้า) เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีความต้องการมากในโรงแรมระดับ 4-5 ดาว โดยรูปแบบการทำธุรกิจนั้นสามารถเป็นได้หลายลักษณะ เช่น การร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยท้องถิ่น การจัดตั้งสถาบันวิชาชีพ การเปิดการสอนแบบมอบใบประกาศนียบัตร การจัดตั้ง Management Training School หรือการสร้างสรรค์ Training Course ที่เฉพาะเจาะจงตามความต้องการของแต่ละบริษัท เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจต้องเผชิญกับความท้าทายเมื่อดำเนินกิจการเหล่านี้ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคทางด้านการใช้ภาษา การบริหารคนในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และการจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาสอนในสายอาชีพ ซึ่งอีไอซีแนะนำว่า ปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จในการลงทุน คือผู้ประกอบการควรจับมือกับคนท้องถิ่น หรือคนไทยที่มีความคุ้นชินกับการทำงานร่วมกับชาวกัมพูชา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารและการเรียนการสอน และควรร่วมมือกับสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดีของ Training Center ไม่ช้าก็เร็วเราอาจเห็นแฟรนไชส์ Training Center ของไทยเติบโตในภูมิภาคก็เป็นได้