posttoday

นักการเมืองถือหุ้นสื่อผิดไหม? ในประเทศอื่นอาจจะไม่

25 เมษายน 2562

ในหลายประเทศ การที่นักการเมืองถือครองหุ้นสื่อ ถือเป็นการแสดงออกถึงสังคมที่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น

 

ในเวลานี้ไม่มีข่าวไหนที่จะร้อนแรงเท่ากับการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหาต่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีถือครองหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นกิจการประเภทสื่อ จนเข้าข่ายเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ และผิดและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในเวลานี้ โพสต์ทูเดย์ได้ทำการสำรวจกฎหมายการถือครองสื่อและกฎหมายเลือกตั้งในประเทศต่างๆ ว่ามีข้อห้ามในลักษณะเดียวกับไทยหรือไม่ และมีทางออกเช่นไร หากนักการเมืองต้องถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อ

เว็บไซต์เครือข่ายความรู้เรื่องการเลือกตั้ง (The ACE Electoral Knowledge Network) ชี้ว่า พรรคการเมืองที่เป็นเจ้าของสื่อ มักเป็นเจ้าของสื่อประเภทหนังสือพิมพ์ แต่ในหลายประเทศ พรรคการเมืองไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นเจ้าของสถานีวิทยุ/โทรทัศน์ เนื่องการครอบครองคลื่นความถี่โดยกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง ถือเป็นการจัดสรรทรัพยากรของชาติอย่างไม่เป็นธรรม และอาจถูกนำไปใช้เอื้อผลประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ตัวอย่างเช่นในตุรกี ในปี 2011 ได้ตรากฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งบริษัท วิทยุและโทรทัศน์และบริการสื่อ ระบุว่า “ไม่สามารถให้ออกใบอนุญาตแพร่ภาพกระจายเสียงแก่พรรคการเมือง (และองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง)” และ “พรรคการเมืองไม่สามารถถือหุ้นของผู้ให้บริการสื่อ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

ที่บราซิล รัฐธรรมนูญระบุชัดว่า ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อโดยเด็ดขาด แต่จากการศึกษาโดยองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (RSF) พบว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหพันธรัฐ 32 คนและวุฒิสมาชิก 8 คน เกี่ยวข้องบริษัทสื่อ หรือบางครั้งหุ้นของสื่ออยู่ในกำมือของสมาชิกในครอบครัวนักการเมือง บราซิลจึงเป็นตัวอย่างของประเทศที่มีข้อห้ามนักการเมืองถือหุ้นสื่อ แต่ไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการเอาผิดทางกฎหมาย

ส่วนประเทศประชาธิปไตยตะวันตก มักจะไม่ห้ามนักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ เพื่อรักษาหลักเสรีภาพในการแสดงความเห็น และความหลากหลาย หรือความเป็นพหุนิยมในสังคม แต่ในขณะเดียวกันมีกระแสความกังวลเรื่องการกระจุกตัวของสื่อในมือของนักการเมือง

เช่น ที่อิตาลี หนังสือพิมพ์มักเป็นกระบอกเสียงของพรรคการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ จะเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ นักการเมืองในอิตาลีจะครอบครองสื่ออย่างโจ่งแจ้งโดยไม่ผิดกฎหมาย เช่น เจ้าพ่อสื่ออย่างซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี ใช้ช่องทางสื่อด้านต่างๆ ในเครือ Mediaset ช่วยหนุนให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และหลังจากนั้นยังใช้สื่อช่วยประคับประคองอำนาจมาโดยตลอด แต่การที่นักการเมืองมีสื่อในกำมือ ทำให้เกิดกระแสกังวลเรื่องการผูกขาดช่องทางการสื่อสารกับประชาชน

ที่เยอรมนี ศูนย์พหุนิยมและเสรีภาพสื่อ (Centre for Media Pluralism and Freedom) รายงานว่า ในบางกรณีพรรคการเมืองในเยอรมนี เป็นผู้ถือหุ้นของหนังสือพิมพ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratic Party) และยังเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยโดยทางอ้อมของสถานีวิทยุ/โทรทัศน์ แต่พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องชี้แจงการมีส่วนร่วมในบริษัทสื่อต่อประธานรัฐสภา และแถลงการณ์เหล่านี้จะถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองจะไม่ได้รับอนุญาตให้ถือหุ้นในสถานีวิทยุ/โทรทัศน์แห่งชาติ

ในเวลานี้ ประเทศประชาธิปไตยบางแห่งเริ่มกังวลกับการผูกขาดสื่อมากเกินไป จึงมีการเสนอให้แก้ไขกฎหมาย เพื่อส่งเสริมให้สื่อปลอดจากการผูกขาดจากบุคคลบางกลุ่มมากเกินไป เช่น ที่ออสเตรเลียมีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายครอบครองสื่อ เนื่องจากธุรกิจหนังสือพิมพ์ถึง 70% ตกอยู่ในกำมือนักธุรกิจเพียง 1 คน คือรูเพิร์ต เมอร์ด็อก แห่ง News Corp

มาเลเซียไม่มีกฎหมายห้ามนักการเมืองถือครองหุ้นสื่อ แต่เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลมาเลเซียเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ที่จะจำกัดการถือครองหุ้นในสื่อของผู้นำทางการเมืองหรือพรรคการเมือง เพื่อให้สื่อรายงานด้วยความเป็นกลางมากขึ้น

 

 

Photo by Jewel SAMAD / AFP