ไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการสละราชย์ครั้งประวัติศาสตร์
ตอบทุกคำถามเพื่อความเข้าใจเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนรัชกาลในประเทศญี่ปุ่น
มีคำถามมากมายเกี่ยวกับงานพระราชพิธีครั้งประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก โพสต์ทูเดย์และสำนักข่าว AP จึงจัดทำคำถาม-คำตอบข้อสงสัยพื้นฐาน เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนรัชกาลในประเทศญี่ปุ่นโดยสังเขป
1. ถาม - ทำไมสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะจึงสละราชบัลลังก์ และแตกต่างจากการสืบทอดตามปกติอย่างไร?
ตอบ - สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงกังวลเรื่องพระพลานามัยที่อ่อนแอลง โดยในเดือนสิงหาคม 2559 ทรงมีพระราชดำริที่จะสละราชสมบัติในขณะที่พระองค์ยังมีพระพลานามัยที่แข็งแรง และยังสามารถปฏิบัติพระราชภารกิจอื่นๆ ได้ ซึ่งทรงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้นในทันที ปูทางให้รัฐบาลดำเนินการตามพระราชประสงค์ในที่สุด
ตามกฎมณเฑียรบาลของญี่ปุ่นไม่มีบทบัญญัติในเรื่องการสละราชสมบัติโดยจักรพรรดิที่กำลังครองราชย์ และระบุถึงการสืบทอดราชบัลลังก์หลังสวรรคตเท่านั้น รัฐบาลจึงออกกฎหมายเฉพาะกาลเพื่อรองรับการสละราชสมบัติครั้งแรกในรอบ 200 ปี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องราชวงศ์ญี่ปุ่นเผยกับ AP ว่าสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงต้องการให้สาธารณชนรับทราบความเป็นไปขององค์พระประมุขอยู่เสมอ เพื่อที่สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์จะไม่ถูกปิดกั้นและถูกนำใช้เพื่อหวังผลทางการเมืองเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นพระราชบิดา คือสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ในขณะผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองบางรายชี้ว่า ทรงสละราชย์ก็เพื่อทำให้สืบทอดราชสมบัติไปสู่พระราชโอรสเป็นไปอย่างราบรื่น นอกจากการสละราชสมบัติซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ในยุคปัจจุบันแล้ว พระองค์ยังทรงริเริ่มธรรมเนียมใหม่ๆ ด้วย นั่นคือ ทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิองค์แรกที่เสกสมรสกับสามัญชน คือจักรพรรดินีมิชิโกะ และยังทรงตัดสินพระทัยที่จะรับการถวายพระเพลิงพระบรมศพเมื่อสวรรคตแล้ว แทนที่จะใช้วิธีการฝังพระศพตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติมาตลอดนับพันปีที่ผ่านมา
AFP
2. ถาม - ใครเป็นรัชทายาทลำดับต่อไป และมีพระองค์ใดบ้าง
ตอบ - ผู้สืบทอดคือ มกุฏราชกุมารนะรุฮิโตะ ซึ่งจะทรงขึ้นครองบัลลังก์เบญจมาศในวันพุธ ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์โต จากทั้งหมด 2 พระองค์ของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ เจ้าชายนะรุฮิโตะทรงเป็นนักดนตรีและนักเดินทางตัวยง ปัจจุบันทรงมีพระชนมายุ 59 พรรษา ทรงผ่านศึกษาที่อ็อกซ์ฟอร์ดเป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยงักกุชูอิน ซึ่งในสมัยก่อนเคยเป็นสถาบันของชนชั้นสูง โดยทรงเขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับระบบการขนส่งแม่น้ำเทมส์ในศตวรรษที่ 18 ส่วนพระชายาคือเจ้าหญิงมาซาโกะ ทรงเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและอดีตนักการทูต ในเวลานี้พระวรกายเพิ่งจะฟื้นคืนกลับมาดีดังเดิม เนื่องจากเจ้าหญิงทรงประชวรเพราะความเครียดหลังจากมีพระประสูติกาลพระราชธิดา คือเจ้าหญิงไอโกะ โดยที่ทรงไม่มีพระโอรส
เจ้าหญิงไอโกะมีพระชนมายุ 17 พรรษา แต่ตามกฎมณเฑียรบาลแล้วจะทรงสืบราชสมบัติไม่ได้เพราะเป็นสตรี ดังนั้นสายการสืบทอดจึงตกไปสู่เจ้าชายฟุมิฮิโตะ พระอนุชาของมกุฏราชกุมารนะรุฮิโตะ และตามด้วยเจ้าชายฮิซาฮิโตะ พระชนมายุ 12 พรรรษา ซึ่งเป็นพระโอรสของเจ้าชายฟุมิฮิโตะ และเจ้าชายมาซาฮิโตะ เป็นลำดับสุดท้ายในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ญี่ปุ่น แต่พระองค์มีพระชนมายุมากแล้ว โดยทรงเป็นพระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ดังนั้นในทางปฏิบัติหลังจากวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ญี่ปุ่นจะเหลือลำดับการสืบราชสันตติวงศ์เพียง 2 พระองค์เท่านั้น
ทั้งนี้ มีการหารือเรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎมณเฑียรบาลเพื่ออนุญาตให้ผู้หญิงสืบทอดบัลลังก์ แต่ประเด็นนี้ตกไปหลังจากการประสูติของเจ้าชายฮิซาฮิโตะ ทว่าคงจะมีการหารือเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎอย่างแน่นอนในอนาคต โดยการสละราชสมบัติของพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของราชวงศ์ เพราะขาดรัชทายาทที่เป็นชาย ญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงให้การสนับสนุนการสืบทอดตำแหน่งโดยสตรี แม้จะมีการต่อต้านจากพรรคอนุรักษ์นิยมในรัฐบาลและกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาที่ต้องการให้ราชวงศ์เป็นแบบอย่างสำหรับสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่
AFP
3. ถาม - กระบวนการในการสละราชสมบัติมีอะไรบ้าง?
ตอบ - พระจักรพรรดิอากิฮิโตะจะประกาศการสละราชสมบัติระหว่างงานพระราชพิธีช่วงในเย็นของวันอังคาร แต่ในทางเทคนิคแล้วพระองค์จะยังคงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิจนถึงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 30 เมษายน หลังจากนั้นรัชสมัยเฮเซจะสิ้นสุดลง และเริ่มต้นรัชกาลของมกุฏราชกุมารนะรุฮิโตะ และรัชสมัยเรวะ ต่อมาในเช้าวันพุธที่ 1 พฤษภาคม สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่จะทรงประกอบพิธีครั้งแรก โดยจะทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือดาบคุซานางิ คันฉ่องสำริด และอัญมณี เพื่อยืนยันสถานะองค์พระประมุขที่สืบทอดมาไม่ขาดช่วงตลอดกว่า 2,000 ปี แต่นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจะมีพระราชวงศ์ชายชั้นผู้ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพิธี ซึ่งเป็นขนบโบราณที่รัฐบาลยังคงยึดถือ แม้สาธารณชนจะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องพิธีกรรมที่ทำอย่างปกปิดนี้ก็ตาม
ทั้งนี้ จะมีการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่พระราชวังหลวง รวมถึงควบคุมการจราจรในบริเวณโดยรอบอย่างเข้มงวด แม้พิธีการจะเป็นงานเฉพาะสำหรับข้าราชการและพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ แต่ประชนชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศก็จะร่วมกันเฉลิมฉลองกันอย่างครึกครื้น หลังจากนี้ สมเด็จพระจักรพรรดิองค์ใหม่จะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม โดยมีพระราชอาคันตุกะจากทั่วโลกมาร่วมเป็นสักขีพยาน
AFP
4. ถาม - สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะจะทรงทำอะไรหลังจากสละราชสมบัติ?
ตอบ - พระจักรพรรดิอากิฮิโตะจะทรงดำรงพระอิสริยยศใหม่คือ ไดโจเทนโน แปลตรงตัวหมายความว่า สมเด็จพระจักรพรรดิใหญ่ (ภาษาอังกฤษคือ Emperor Emeritus ภาษาไทยเรียกว่า พระเจ้าหลวง) แต่จะมิได้ดำรงตำแหน่งองค์พระประมุขอย่างเป็นทางการ และจะไม่มีพระราชอำนาจในการลงพระปรมาภิไธยในเอกสารราชการ หรือรับรองพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศอีกต่อไป รวมถึงจะไม่ทรงเข้าร่วมกิจกรรมของรัฐบาล หรือประกอบพิธีกรรมในวัง พระองค์จะไม่เข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระราชโอรส และจะทรงปลีกพระองค์จากงานสาธารณะโดยสิ้นเชิง
กิจกรรมของพระองค์หลังจากนี้ จะเป็นเรื่องส่วนพระองค์อย่างที่สุด เพื่อมิให้ก้าวก่ายพระราชภารกิจของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ คาดว่าหลังจากนี้สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะจะทรงพักผ่อนด้วยการเสด็จไปเยือนไปพิพิธภัณฑ์และงานแสดงคอนเสิร์ตต่างๆ หรือใช้เวลาในการวิจัยปลาบู่ที่พระราชฐานริมทะเล หลังจากการสละราชสมบัติ องค์ไดโจเทนโนและและอดีตพระจักรพรรดินี จะย้ายไปประทับที่ตำหนักชั่วคราว ก่อนที่จะเปลี่ยนสถานที่ประทับสลับกับพระราชโอรสในที่สุด หลังจากการปรับปรุงพระราชฐานแล้วเสร็จ