เมื่อเวียดนามบุกไทย และชายชื่อเปรม ติณสูลานนท์ต้านสำเร็จ
วันที่มีกระแสข่าวเวียดนามประกาศจะบุกกรุงเทพฯ ในเวลาแค่ 2 ชั่วโมง ย้อนเหตุการณ์อันคับขันเมื่อ 40 ปีที่แล้ว
วันที่มีกระแสข่าวเวียดนามประกาศจะบุกกรุงเทพฯ ในเวลาแค่ 2 ชั่วโมง ย้อนเหตุการณ์อันคับขันเมื่อ 40 ปีที่แล้ว โดยทีมข่าวโพสต์ทูเดย์เอ็กซ์คลูซีฟ
หลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่า ถ้าไม่มีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประเทศไทยจะต้องถูกคอมมิวนิสต์อินโดจีนและประเทศพี่ใหญ่ในโลกคอมมิวนิสต์อย่างโซเวียตและจีนรุมขย้ำอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่พลเอกเปรมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ นั้น กองทัพเวียดนามรุกรานกัมพูชาและยกกำลังมาถึงชายแดนไทยจนเกิดปะทะกับไทยอย่างหนัก
บทความนี้จะเล่าเหตุการณ์ต่างๆ โดยย่อ โดยอ้างอิงจากหนังสือ "กัมพูชา: นโยบายต่างประเทศไทยสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์" โดย อรอนงค์ น้อยวงศ์ และชาญวิทย์ เกษตรศิริ/กาญจนี ละอองศรี บรรณาธิการ จัดพิมพ์โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ในเวลานั้นเวียดนามเพิ่งจะเอาชนะสหรัฐในสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 (หรือสงครามเวียดนาม) มาได้ไม่กี่ปี กำลังฮึกเหิมอย่างเต็มที่ ถึงขนาดที่มีรายงานข่าว (หรือข่าวลือ?) ว่าเวียดนามจะใช้กำลัง 2 แสนคนรุกรานไทย ส่วนนายพลหวั่นเตี่ยนสุง (Văn Tiến Dũng) หรือเทียน วันดุง ของเวียดนามก็ลั่นวาจาว่า จะบุกยึดกรุงเทพได้ในเวลาแค่ 2 ชั่วโมง
หวั่นเตี่ยนสุง คนนี้เป็นผู้บัญชาการทัพเวียดนาม บุกยึดเมืองใหญ่ๆ ของกัมพูชาได้ในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน ดังนั้นคำกล่าวของเขา (ไม่ว่าจะจริงหรือไม่) ย่อมต้องสร้างความกังวลให้ฝ่ายไทยพอสมควร
พลเอกเปรม รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 พอถึงวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2523 เวียดนามก็เริ่มทำอย่างที่ลั่นวาจาไว้ โดยส่งกองกำลังมากกว่า 2 กองร้อยล้ำเข้ามาในดินแดนไทย เข้าโจมตีบ้านโนนหมากมุ่น อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี จนมีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นไทยกับเวียดนามก็ปะทะกันอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงปี 2530 หรือเกือบจะตลอดสมัยที่พลเอกเปรมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุด คือการปะทะที่เนินต่างๆ บริวเณช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างไทย ลาว และกัมพูชา สร้างความสูญเสียให้กับฝ่ายไทยมากที่สุด โดยมีทหารฝ่ายไทยสละชีวิตไปถึง 45 นาย และบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง และระหว่างเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2530 ทหารเวียดนามรุกเข้ามาในเขตไทยถึง 720 ครั้ง มีราษฎรไทยเสียชีวิตถึง 17 คน บาดเจ็บ 33 คน บ้านเรือนถูกทำลายประมาณ 100 หลัง
สถานการณ์ตอนนั้นหน้าสิ่วหน้าขวานมาก หากเทียบกับสมัยที่พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้แล้ว พลเอกเปรมถือว่ารับเผือกร้อนมาโดยไม่คาดฝัน เพราะในสมัยของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มีนโยบายคืนสัมพันธไมตรีกับเวียดนาม และทั้ง 2 ประเทศแสดงท่าทีเป็นไมตรีต่อกัน อีกทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศ ฟามวันดง (ฝั่มวันด่ง/Phạm Văn Đồng) ก็ยังมาเยือนกรุงเทพและกลุ่มประเทศอาเซียน แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือนเวียดนามก็ทำเซอร์ไพร์สด้วยการรุกรานกัมพูชา และเคลื่อนทัพมุ่งหน้ามายังไทย
ปี 2528 พลเอกเปรม เดินทางไปเยี่ยมทหารชายแดนที่อำเภอสังขละ และอำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์และใหัสัมภาษณ์ว่าเวียดนามมีเจตนารุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทยอย่างแน่นอน และเมื่อมีความจำเป็นแล้ว ไทยย่อมมีความชอบธรรรมที่จะตอบโต้อย่างรุนแรง และเต็มความสามารถเช่นกัน
การรุกรานกัมพูชาของเวียดนามและเขมรเฮงสัมริน มีเจตนาเพื่อที่จะกวาดล้างกลุ่มเขมรแดง และได้ไล่ต้อนเขมรแดงมาถึงชายแดนไทย แต่พลเอกอาทิตย์ กำลังเอกกล่าวว่า "ทั้งเวียดนามและเฮงสัมริน ล้วนแต่ไม่ประสงค์ดีต่อไทย และมิได้บุกเข้ามาโดยบังเอิญ คือไล่ติดตามทหารฝ่ายพลพต หากแต่เข้ามาอย่างมีแผน"
สถานการณ์ในเวลานั้นดูเหมือนว่าทางออกคงต้องมีแต่การรบอย่างเดียว แต่ไทยพยายามหาทางออกด้วยวิธีอื่นด้วย และทางออกนั้นได้มาด้วยวิธีที่คาดไม่ถึง
ในเวลานั้น ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ไม่ได้มีแค่เวียดนาม กัมพูชา และลาวเท่านั้น แต่ยังมีภัยจากสหภาพโซเวียตที่เป็นผู้หนุนหลังคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน และการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน
แต่ในคราวเคราะห์ก็มีเรื่องเหนือความคาดหมายอยู่ด้วย คือแทนที่จีนกับสหภาพโซเวียตจะปรองดองในฐานะคอมมิวนิสต์ด้วยกัน ทั้ง 2 ประเทศกลับเกิดความขัดแย้งรุนแรง จนโลกคอมมิวนิสต์แตกออกเป็น 2 ฝ่าย และต่อมาสหรัฐใช้ช่องโหว่นี้สร้างแนวร่วมใหม่ โดยติดต่อเพื่อขอเชื่อมสัมพันธ์กับจีนและทำสำเร็จ และรัฐบาลไทยก็ใช้โอกาสนี้เข้าหาจีนเช่นกันและทำได้สำเร็จเช่นกัน ถึงขนาดที่เติ้งเสี่ยวผิงเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5-11 เดือนพฤศจิกายน 2521
ผลการการ "ดีล" ระหว่างไทยกับจีน นำไปสู่การยุติการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และต่อมาทำให้รัฐบาลพลเอกเปรมสามารถ รับลูกต่อด้วยการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เพื่อใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร แทนที่จะส่งทหารไปรบกับคอมมิวนิสต์คนไทยด้วยกัน กลับเน้นการอภัยโทษ และอ้าแขนรับผู้ที่เปลี่ยนอุดมการณ์กลับมาร่วมพัฒนาชาติไทย ด้วยความช่วยเหลือจากจีนและด้วยคำสั่ง 66/2523 ทำให้พลเอกเปรม สามารถยุติภับคุกคามจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ยืดเยื้อมานานถึง 3 ทศวรรษ (นับตั้งแต่วันเสียงปืนแตก) ได้ในที่สุด
คำสั่ง 66/2523 ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของพลเอกเปรม ช่วยยุติสงครามที่คนไทยเข่นฆ่ากันเอง และปิดแนวรบคอมมิวนิสต์ในประเทศไปโดยสิ้นเชิง
ในเวลาเดียวกัน จีนยังช่วยเหลือไทยทางอ้อม ด้วยการทำสงครามสั่งสอนเวียดนามที่ชายแดนเวียดนามจีน หรือ สงครามจีน–เวียดนาม 17 กุมภาพันธ์ – 16 มีนาคม 2522 แม้จะไม่ใช่การช่วยเหลือไทยโดยตรง แต่การรบระหว่างคอมมิวนิสต์ด้วยกัน ช่วยบั่นทอนกำลังของเวียดนามลงไปมาก และยับยั้งความฮึกหิมของเวียดนามได้พอสมควร และยังเป็นการกระทำของจีนที่ช่วยยืนยันคำมั่นสัญญาของเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยว่า จีนจะให้การช่วยเหลือหากไทยถูกรุกราน (จากรายงานข่าวของ Bangkok Post เมื่อปี 2522)
นอกเหนือจากความช่วยเหลือจากจีนแล้ว สหรัฐยังให้ความช่วยเหลือด้านกลาโหมกับไทยเป็นจำนวนมากในช่วงที่ไทยปะทะกับเวียดนาม แม้ว่าสหรัฐจะถอนกำลังทหารไปจากเวียดนามในฐานะผู้แพ้ก็ตาม แต่ยังคงสนับสนุนไทยเพื่อมิให้ไทยต้องกลายเป็นโดมิโนตัวต่อไปที่ถูกคอมมิวนิสต์ดีดจนล้ม (เพราะบางประเทศในกลุ่มอาเซียนแสดงท่าทีประนีประนอมกับเวียดนาม คือมาเลเซียกับอินโดนีเซีย) และนี่คือจุดเริ่มต้นของการร่วมซ้อมรบภายใต้รหัส Cobra Gold ในปี 2525 จนถึงปัจจุบัน
ความช่วยเหลือจากสหรัฐและจีน ทำให้ไทยมั่นใจขึ้นมาก กอปรกับรัฐบาลของพลเอกเปรม ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยชูหลัก "ความมั่นคงนำหน้า ตามมาด้วยความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ" และ "การทูตนำการค้า" ผลก็คือไทยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา
ในเวลาเดียวกัน ไทยเป็นหัวหอกของเอาเซียนสยบความแตกแยกเกี่ยวกับท่าทีต่อเวียดนาม และกันมาใช้อาวุธทางการทูตโจมตีเวียดนาม เพื่อให้เวียดนามถูกโดดเดี่ยวในทางเศรษฐกิจและการทูต แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดทางให้เวียดนามยอมเจรจาเรื่องกัมพูชาได้ทุกเวลา
ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้สถานะของไทยในการรับมือกับเวียดนามดีขึ้นมาอย่างผิดหูผิดตา ตรงกันข้ามกับเวียดนามที่เริ่มประสบกับปัญหาเศรษฐกิจจากภาวะหลังสงครามและการรบยืดเยื้อนอกประเทศ อีกทั้งยังต้องพึ่งพาสหภาพโซเวียต ที่เริ่มจะซวนเซเช่นกันในช่วงปลายสงครามเย็น
ดังนั้น ในปี 2530 เวียดนามจึงส่งสัญญาณว่าจะถอนกำลังทหารออกจากเวียดนาม ซึ่งฝ่ายไทยตอบรับท่าทีนี้ โดยพลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นกล่าวว่า "ในทันทีที่ทหารเวียดนามคนสุดท้ายออกไปจากกัมพูชา ข้าพเจ้าจะไปฮานอยเพื่อนำความสัมพันธ์อันเป็นมิตรระหว่างไทยกับเวียดนาม ซึ่งมีก่อนเหตุการณ์เดือนธันวาคม พ.ศ. 2521 กลับมา"
4 สิงหาคม 2531 พลเอกเปรม ก้าวลงจากตำแหน่งนากรัฐมนตรี และเดือนกันยายน - ธันวาคม ในปี 2532 เวียดนามถอนกำลังทหารออกจากกัมพูชา
หลังจากนั้นอินโดจีนเข้าสู่ยุคสันติภาพ ไทยเข้าสู่ยุค "เปิดสนามรบให้เป็นสนามการค้า" ภายใต้รัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ