เจ้านายอังกฤษดีกว่าคอมมิวนิสต์จีน? ทำไมฮ่องกง(บางคน)ถึงโหยหาอาณานิคม
หลังจากส่งมอบฮ่องกงคืนให้แผ่นดินใหญ่มานานถึง 22 ปี แต่ชาวฮ่องกงยังต้องการกลับไปอยู่ในอ้อมอกอังกฤษอีกครั้ง บทวิเคราะห์โดยทีมงานโพสต์ทูเดย์เอ็กซ์คลูซีฟ
หลังจากส่งมอบฮ่องกงคืนให้แผ่นดินใหญ่มานานถึง 22 ปี แต่ชาวฮ่องกงยังต้องการกลับไปอยู่ในอ้อมอกอังกฤษอีกครั้ง บทวิเคราะห์โดยทีมงานโพสต์ทูเดย์เอ็กซ์คลูซีฟ
ระหว่างที่ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงบุกเข้าไปในอาคารสภานิติบัญญัติเมื่อระหว่างวันที่ 1 - 2 ก.ค. ผู้ชุมนุมได้นำธงยูเนียนแจ็ค ซึ่งเป็นธงชาติของสหราชอาณาจักร และธงของฮ่องกงในยุคที่ตกเป็นอาณานิคมอังกฤษเข้าไปด้วย ไม่เพียงแค่โบกธงด้านใน แต่ยังนำธงไปปิดไว้ที่ดวงตราสัญลักษณ์ของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งมีข้อความในภาษาจีนว่า "สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง"
การแสดงออกแบบนี้ทำให้คิดเป็นอื่นไม่ได้ว่า ชาวฮ่องกงบางคน (โดยเฉพาะกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาล) ไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่นั่นยังไม่เท่ากับการที่พวกเขาต้องการให้ฮ่องกงกลับไปเป็นอาณานิคมของอังกฤษอีก
นี่ไม่ใช่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพราะนับตั้งแต่การประท้วงร่มเหลืองเมื่อปี 2016 ก็มีการชูธงยูเนียนแจ็ค ป่าวร้องให้ฮ่องกงกลับไปเป็นอาณานิคม และถึงกับตั้งกลุ่มเพื่อเคลื่อนไหวในเรื่องนี้โดยเฉพาะ เช่น กลุ่ม HK-UK Reunification Campaign ซึ่งมีกิจกรรมมาโดยตลอด ล่าสุดคือไปร่วมการชุมนุมประท้วงกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยระบุว่าเป็นการละเมิดคำแถลงร่วมจีน-อังกฤษ เกี่ยวกับสถานะของฮ่องกงหลังกลับคืนสู่จีน
แต่นอกจากเหนือจากการประท้วงประเด็นนี้ พวกเขายังมีวาระการประท้วงของตัวเอง นั่นคือคำขวัญ Make Hong Kong Great Britain’s again! หรือ "ทำให้ฮ่องกงกลับมาเป็นของเกรทบริเตนอีกครั้ง" และเรียกร้องให้รื้อฟื้นอธิปไตยของอังกฤษเหนือฮ่องกง
กลุ่มนี้มีขนาดเล็ก แต่เคลื่อนไหวต่อเนื่อง และล่าสุดเจตนารมณ์ของพวกเขาถูกนำไปแสดงออกถึงกลางสภานิติบัญญัติกลายเป็นภาพที่คนทั่วโลกได้รับรู้
แต่นอกจากขบวนการ HK-UK Reunification Campaign แล้ว ยังมีชาวฮ่องกงอีกจำนวนหนึ่งที่รู้สึกเหมือนกันว่า ยุคที่ฮ่องกงยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เป็นวันชื่นคืนสุขและบ้านเมืองน่าอภิรมย์มากว่าตอนที่ตกเป็นของจีน ชาวฮ่องกงจำนวนหนึ่งยังรักและเคารพสมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร และเรียกพระองค์ว่า "The Boss"
แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่?
ในยุค British Hong Kong ผู้ว่าการฮ่องกงแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร โดยตำแหน่งบริหารและนิติบัญญัติแต่งตั้งโดยผู้ว่าการฮ่องกงเกือบทั้งหมด ชาวฮ่องกงไม่มีโอกาสได้เลือกตั้ง อังกฤษเพิ่งจะมาจัดเลือกตั้งเอาก็ตอนที่จะส่งคืนให้กับจีนแล้ว
การบริหารราชการทำโดย Cadets หรือชาวอังกฤษที่ส่งตรงมาจากบริเตน ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีการจ้างคนจีนทำราชการ แต่ตำแหน่งสำคัญอยู่ในมืออังกฤษทั้งหมด
คำถามก็คือทำไมชาวฮ่องกงยังคิดถึงลอนดอนมากกว่าปักกิ่ง?
อาจเป็นเพราะในยุคอาณานิคม ชาวฮ่องกงได้ลิ้มรสเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพประเภทนี้หากได้ลิ้มรสแล้วยากที่จะสลัดทิ้งได้ ขณะที่จีนมีชื่อเสียในเรื่องควบคุมการแสดงความเห็นโดยเสรีและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารถูกจำกัด
แม้ว่าชาวฮ่องกงจะไม่มีสิทธิทางการเมืองเท่าชาวอังกฤษ แต่พวกเขามีเสรีภาพเท่ากับประเทศเสรีนิยมอื่นๆ ดังนั้นเมื่อต้องตกอยู่ในความควบคุมของประเทศที่ปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและการแสดงออกอย่างจีน ชาวฮ่องกงจึงคิดว่าอยู่กับคนไกลน่าจะดีกว่าคนใกล้ตัว
อีกประเด็นก็คือ แม้จะถูกจำกัดสิทธิทางการเมือง แต่เศรษฐกิจของฮ่องกงมั่งคั่งอย่างมาก แต่คงไม่อาจกล่าวได้ว่าเพราะการปกครองของจีนทำให้เศรษฐกิจของฮ่องกงแย่ลง
ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ฮ่องกงเกิดจลาจลต่อต้านเจ้าอาณานิคมไม่กี่ครั้ง ครั้งใหญ่ที่สุดคือจลาจลของฝ่ายซ้ายนิยมคอมมิวนิสต์จีน เมื่อปี 1967 ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งเรื่องแรงงาน แต่คอมมิวนิสต์แผ่นดินใหญ่ฉวยโอกาสปลุกระดมเป็นการต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษ มีผู้เสียชีวิต 51 คน บาดเจ็บ 802 คน หลังจากจลาจลครั้งนี้ รัฐบาลฮ่องกงทำการปฏิรูปครั้งใหญ่ ยกระดับความเป็นอยู่ จนทำให้ฮ่องกงเจริญรุดหน้า กลายเป็นหนึ่งในสี่เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย
สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไมชาวฮ่องกงบางรายถึงโหยหาอังกฤษ
แต่ชาวฮ่องกงไม่ได้คิดแบบนั้นทุกคน Henry Leung ซึ่งเป็นชาวฮ่องกงได้ให้เหตุผลไว้ในเว็บไซต์ Quora ว่า
"ผมเข้าใจถึงความผิดหวังเกี่ยวกับทัศนคติของรัฐบาลจีนที่มีต่อฮ่องกง และผมเองก็วิพากษ์วิจารณ์การใช้ไม้แข็งของจีนเช่นกัน แต่ในวันนี้ผมไม่คิดว่าจะมีโอกาสที่ฮ่องกงจะกลายเป็นของอังกฤษอีก เพราะไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม เราเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ข้อเท็จจริงที่ยากจะรับได้เกี่ยวกับฮ่องกงอีกเรื่องคือ ในสายตาชาวอังกฤษไม่สนใจคุณหรอก ถ้าพวกเขาสนใจ ก็คงจะริเริ่มการเลือกตั้งท้องถิ่นหลายสิบปีก่อนกำหนดเส้นตายปี 1997 เนื่องจากระบบการเลือกตั้งต้องใช้เวลาในการหยั่งราก ชาวอังกฤษยังละทิ้งฮ่องกงทันทีที่พวกเขาตระหนักว่าพวกไม่สามารถครอบครองมันได้ และน่าจะดีกว่าที่จะทำธุรกิจกับจีนแทนที่จะดึงดันยื้อฮ่องกงไว้"
แม้ว่าประเด็นเรื่องความน่าพิสมัยของยุคอาณานิคมจะยังน่ากังขา แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลอังกฤษและสื่อมวลชนอังกฤษ ไม่รีรอที่จะฉวยโอกาสเข้ามา "มีส่วนร่วม" ในการประท้วงครั้งใหญ่ที่ฮ่องกง
ไม่ว่าจะเป็นเจเรมี่ ฮันท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ ที่หวังจะนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ บอกว่าเห็นอกเห็นใจผู้ประท้วงที่บุกเข้าในสภานิติบัญญัติ (แล้วโบกธงอังกฤษ) ที่กลัวจะต้องสูญเสียวิถีชีวิตของพวกเขาไป และบอกให้ผู้นำจีนปล่อยฮ่องกงให้มีเสรีภาพต่อไป
หรือจะเป็นคริส แพทเทน ผู้ว่าการฮ่องกงคนสุดท้ายในยุคใต้การปกครองของอังกฤษที่ที่เขียนความใน The Guardian ว่า "บริเตนมีหน้าที่ที่จะช่วยฮ่องกงให้พ้นจากยุคมืด"
อดคิดไม่ได้ว่าอังกฤษกำลังทำตัวเหมือนแม่เลี้ยงที่เป็นป่วงเป็นใยลูกเลี้ยงที่กลับคืนสู่แม่ตัวจริง คำถามก็คือ ระหว่างแม่เลี้ยงกับแม่จริง ชาวฮ่องกงคิดว่าใครคือคนที่ทำร้ายพวกเขามากที่สุด?