นานาชาติคัดค้านแล้วทำไมญี่ปุ่นยังเดินหน้าล่าวาฬ
ทั้งถูกนานาชาติประณาม ทั้งไม่ใช้อุตสาหกรรมที่ทำเงิน แถมคนญี่ปุ่นยังกินเนื้อวาฬน้อยลงๆ แล้วทำไมญี่ปุ่นถึงไม่หยุดล่าวาฬ
ทั้งถูกนานาชาติประณาม ทั้งไม่ใช้อุตสาหกรรมที่ทำเงิน แถมคนญี่ปุ่นยังกินเนื้อวาฬน้อยลงๆ แล้วทำไมญี่ปุ่นถึงไม่หยุดล่าวาฬ
ญี่ปุ่นเพิ่งกลับมาล่าวาฬเพื่อการค้าอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกในรอบ 31 ปี ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์และเสียงคัดค้านจากนานาชาติ สำหรับคนภายนอกอาจจะมองว่าการกินเนื้อวาฬเป็นเรื่องแปลก แต่คนญี่ปุ่นโดยเฉพาะตามแนวชายฝั่งกินเนื้อวาฬมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษแล้ว อีกทั้งเนื้อวาฬยังมีวางขายทั่วไปตามซูเปอร์มาร์เก็ต หรือแม้แต่ในตลาดปลาชื่อดังอย่างตลาดสึคิจิ
ร้านขายเนื้อวาฬในตลาดสึคิจิ ภาพ : wikipedia
คนญี่ปุ่นบริโภคเนื้อวาฬแทบจะทุกส่วนตั้งแต่เนื้อส่วนท้องที่นำมาทำเป็นเบคอนวาฬ เนื้อส่วนหางลายหินอ่อนที่นิยมรับประทานเป็นซาชิมิ เนื้อแดงซึ่งมีราคาถูกกว่าส่วนหาง หนังแก้วส่วนปลายทั้งสองข้างของหางคล้ายๆ กับเห็ดหูหนูขาวซึ่งนิยมทานเป็นซาราชิ หรือลิ้นที่มักจะนำมาแปรรูปและนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของโอเด้งระดับไฮเอนด์ ชั้นไขมันที่แทรกอยู่ระหว่างกล้ามเนื้อและหนังที่จะนำมาย่าง ไปจนถึงหนังที่นำมาทำสตูว์
ซาราชิ ภาพ : wikipedia
จริงๆ แล้วการล่าวาฬอยู่คู่กับคนญี่ปุ่นมาช้านานแล้ว มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าชาวญี่ปุ่นบริโภคเนื้อวาฬกันตั้งแต่สมัยโจมง หรือระหว่าง 14,000-300 ปีก่อนคริสตศักราช โดยการบริโภคเนื้อวาฬในยุคแรกเริ่มมาจากวาฬที่เกยฝั่ง สมาคมการล่าวาฬญี่ปุ่นระบุว่าคนญี่ปุ่นเริ่มออกล่าวาฬตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ด้วยการใช้แรงมนุษย์พุ่งฉมวกใส่วาฬ ก่อนจะพัฒนาเป็นการล่าวาฬอย่างเป็นระบบในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 โดยมีชุมชนในเมืองไทจิ จ.วะกะยะมะ เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเทคนิคการล่า จนกระทั่งนำเทคนิคการล่าสมัยใหม่แบบชาวนอร์เวย์ เช่น ปืนใหญ่ ฉมวกระเบิด มาใช้ในสมัยเมจิ (ระหว่างปี 1868-1912)
การล่าวาฬแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ภาพ : www.whaling.jp
คนญี่ปุ่นเริ่มล่าวาฬมากขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกให้กับประชาชนที่อดอยากจากภาวะสงคราม บวกกับการสนับสนุนจากนายพล ดักลาส แม็กอาร์เธอร์ ผู้บัญชาการการยึดครองญี่ปุ่นของสหรัฐอนุญาตให้ดัดแปลงเรือบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นเรือห้องเย็นเพื่อให้ออกไปล่าวาฬในพื้นที่ไกลๆ ได้ ทำให้การล่าวาฬของญี่ปุ่นเฟื่องฟูขึ้น
กระทั่งปี 1986 คณะกรรมการสากลว่าด้วยการล่าวาฬ (IWC) ออกกฎห้ามล่าวาฬเพื่อการค้า หลังจากเกิดการล่าวาฬเพื่อการค้าอย่างหนักจนวาฬบางสายพันธุ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ถึงอย่างนั้นญี่ปุ่นก็ยังเดินหน้าล่าวาฬต่อไปโดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่มีมายาวนาน โดยอาศัยช่องว่างของอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการล่าวาฬที่อนุญาตให้ล่าวาฬเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ ทำให้ญี่ปุ่นออกล่าวาฬทั้งในเขตน่านน้ำของตัวเอง ทั้งในน่านน้ำขั้วโลกใต้ และมหาสมุทรแปซิฟิก (ซึ่งไม่น่าจะใช่พื้นที่ล่าวาฬตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น) แต่สุดท้ายเนื้อวาฬที่ญี่ปุ่นอ้างว่าล่าเพื่อการวิจัยกลับถูกนำไปวางขายในท้องตลาด ส่งผลให้นานาชาติรวมทั้งองค์การเพื่อการอนุรักษ์พากันโจมตีญี่ปุ่นอย่างหนัก
PHOTO BY Yoshikazu TSUNO/AFP
แต่แล้วจู่ๆ ญี่ปุ่นก็ประกาศถอนตัวจากการเป็นสมาชิก IWC เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยจะกลับมาล่าวาฬเพื่อการค้าในเดือนนี้ในเขตน่านน้ำและเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศเท่านั้น เนื่องจากไม่พอใจที่ IWC ต่อต้านการล่าวาฬโดยสิ้นเชิงซึ่งขัดกับแนวคิดของญี่ปุ่นที่มองว่าคณะกรรมการดังกล่าวควรสนับสนุนการล่าวาฬเพื่อการพาณิชย์อย่างยั่งยืนมากกว่า
ปัจจุบันนี้การบริโภคเนื้อวาฬในญี่ปุ่นเริ่มลดลงเรื่อยๆ หนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุนของญี่ปุ่นเผยว่าเนื้อวาฬที่วางขายในประเทศมีสัดส่วนเพียง 0.1% เท่านั้นเมื่อเทียบกับเนื้อทุกชนิดที่ขายในญี่ปุ่น หรือแม้แต่ในร้านอาหารที่ขายเนื้อวาฬยังมีเฉพาะลูกค้าวัยกลางคนที่เข้ามาทานเนื้อวาฬเพื่อรำลึกถึงความหลังในวัยเด็กเมื่อ 50 ปีที่แล้ว คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ไม่สนใจการทานเนื้อวาฬเลย หรือคนที่มาจากพื้นที่การล่าวาฬเองและเคยทานเนื้อวาฬแทบจะทุกวันในวัยเด็กยังเผยว่า เมื่อได้ลิ้มลองเนื้อวัวแล้วก็ไม่อยากกินเนื้อวาฬอีก บ่งบอกได้ชัดเจนว่าคนญี่ปุ่นไม่ค่อยพิสมัยเนื้อวาฬเท่าไร
Photo by Kazuhiro NOGI/AFP)
แล้วเหตุใดญี่ปุ่นจึงยังล่าวาฬอยู่ในเมื่อเนื้อวาฬไม่น่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมากนัก
นักการเมืองระดับสูงของญี่ปุ่นรายหนึ่งเผยกับผู้สื่อข่าวของบีบีซีว่า “มีเหตุผลทางการเมืองบางอย่างที่ทำให้การหยุดล่าวาฬของญี่ปุ่นเป็นเรื่องยาก” แต่ก็ไม่ได้ชี้แจงว่าเหตุผลที่ว่าคืออะไร ทว่า จุนโกะ ซาคุมะ อดีตเจ้าหน้าที่ของกรีนพีซในญี่ปุ่นที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการล่าวาฬของญี่ปุ่นมากว่า 10 ปี มองว่า อาจเป็นเพราะการล่าวาฬในญี่ปุ่นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งมีการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและมีการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งตามผลงาน หากการล่าวาฬถูกระงับลงก็หมายถึงตำแหน่งในรัฐบาลและงบประมาณจะถูกตัดทอน บรรดานักการเมืองจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้การล่าวาฬยังดำเนินต่อไป เพื่อรักษางบประมาณและเก้าอี้ของตัวเองไว้
ขณะที่ คาร์ล ซาฟินา นักนิเวศวิทยาทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัยสโตนีบรูคของสหรัฐ กลับมองว่าญี่ปุ่นกำลังพยายามลดการล่าวาฬลงแบบอ้อมๆ เพราะการถอนตัวจากสมาชิก IWC หมายความว่าญี่ปุ่นจะออกล่าวาฬได้เฉพาะในน่านน้ำของตัวเอง จากที่แต่ก่อนตะลุยไปถึงแถบขั้วโลกใต้ ทำให้ล่าวาฬได้จำนวนน้อยลง เมื่อล่าได้น้อยลงก็ไม่คุ้มค่าการลงทุน ในที่สุดการล่าวาฬอาจจะค่อยๆ หดหายไปเอง