นักฆ่าจากพระตะบอง นวน เจียพี่ใหญ่หมายเลขสองของเขมรแดง
เจาะชีวิตผู้นำเขมรแดงหมายเลข2 ผู้มีชื่อไทยว่ารุ่งเลิศ เหล่าดี และเคยเรียนที่ธรรมศาสตร์ ทำงานกระทรวงการต่างประเทศของไทย
นวน เจีย ผู้นำอันดับที่ 2 ของเขมรแดง เจ้าของฉายา "พี่ใหญ่หมายเลข 2" เสียชีวิตแล้ว ด้วยวัย 93 ปีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2562 หลายคนคงจะลืมไปแล้วว่าเขาคือใคร แต่กับผู้รอดชีวิตจากทุ่งสังหารนับล้านคนไม่มีวันลืมชายผู้นี้ไปได้ เพราะเขาคือส่วนการกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จนมีชาวกัมพูชาเสียชีวิตไปกว่า 2 ล้านคน และเป็นแกนนำของเขมรแดงที่มีอำนาจสูงสุดอันดับ 2 ของจาก "ปล โปต" หรือ พอล พต
นวน เจีย เกิดที่ตำบลวัดกร เมืองสังแก จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา เมื่อปี 1926 ในยุคที่กัมพูชาเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส พ่อของเขาชื่อ เหล่าลิว เป็นคนจีนแต้จิ๋วทำอาชีพไร่ข้าวโพด โดยบรรพบุรุษฝ่ายบิดาอพยพมาจากเมืองซัวเถา ทางตอนใต้ของจีน ส่วนแม่ชื่อเปียญ เป็นคนเชื้อสายจีน ทำอาชีพตัดเย็บ นวน เจียจึงถือเป็นคนกัมพูชาเชื้อสายจีน และคุ้นเคยกับวัฒนธรรมจีนและเขมร และตอนเด็กๆ เขามีชื่อแบบจีนว่า เหล่ากิมลอน
ต่อมาจังหวัดพระตะบอง ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2484 หลังจากที่ไทยมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสและได้ดินแดนพระตะบองมาเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลบูรพา นวน เจียจึงกลายเป็นคนไทยไปโดยปริยาย และมีชื่อไทยว่า "รุ่งเลิศ เหล่าดี" และด้วยสิทธิ์การเป็นคนไทยในเวลานั้น จึงได้เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรใน จ.พระนคร (หรือกรุงเทพ มหานคร ในปัจจุบัน)
ต่อจากนั้น นวน เจีย เข้าเรียนต่อด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และยังเข้าร่วมองค์กรยุวชนไทย ซึ่งเป็นกลุ่มฝ่ายซ้าย ต่อมาเข้าสมาคมกับพรรคคอมมิวนิสต์สยาม ในช่วงเวลาเดียวกับที่เข้าทำงานในกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และต่อมาย้ายไปประจำที่แผนกอินโดจีน ของกระทรวงการต่างประเทศ
แต่นวน เจีย ก็ตัดสินใจทิ้งทั้งการเรียนและการงานในไทย เพื่อกลับไปเข้าร่วมกับกองทัพต่อต้านอาณานิคมฝรั่งเศสที่กัมพูชาบ้านเกิด จนกระทั่งเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา หรือเขมรแดง สามารถไต่เต้าจนขึ้นมาเป็นแกนนำพรรค และสิ่งที่เขาต่างจากแกนนำเขมรแดงคนอื่นๆ ก็คือเขาเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ขณะที่แกนนำคนอื่นๆ เรียนจบจากฝรั่งเศส
ในช่วงสงครามกลางเมืองกัมพูชา รัฐบาล ลน นล ได้ก่อการรัฐประหารล้มอำนาจของเจ้าสีหนุ เพื่อสถาปนาระบอบสาธารณรัฐในปี 1969 และได้ร่วมมือกับสหรัฐขอให้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระบิดในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของเขมรแดงและเวียดนามเหนือในกัมพูชา ระเบิดถึง 540,000 ตันทำให้ชาวกัมพูชาเสียชีวิตถึง 600,000 คน แทนที่จะบั่นทอนกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ กลับทำให้ประชาชนเข้ากับคอมมิวนิสต์เขมรแดงมากขชึ้น เพราะไม่พอใจที่รัฐบาล ลน นล ยืมมือสหรัฐฆ่าชาวเขมรด้วยกันเอง
ในที่สุดเขมรแดงก็ยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของกัมพูชาเอาไว้ได้ และยาตราทัพเข้ากรุงพนมเปญในวันที่ 17 เมษายน 1975 แต่หลังจากนั้นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อเขมรแดงสั่งให้ชาวพนมเปญอพยพออกจากเมืองทั้งหมด สั่งให้ไปอยู่รวมกลุ่มกันในคอมมูนตามชนบท และเริ่มปีที่ศูนย์แห่งประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย คือปีที่ไม่มีชนชั้นศาสนาและสถาบัน เริ่มการสังหารหมู่คนที่เป็นภัยต่ออุดมการณ์เขมรแดง เช่น ปัญญาชน พระสงฆ์ กลุ่มอำนาจเก่า แม้แต่คนที่ใส่แว่นตาหรือมือนุ่มนิ่มไม่หยาบกร้าน จากนั้นบังคับให้ประชาชนทำงานหนัก หากมีใครทำไม่ไหวหรือล้มป่วยจะถูกฆ่าทิ้งไม่ให้เปลืองข้าวสุก จนมีผู้คนล้มตายไปกว่า 2 ล้านคน นวน เจียเป็นผู้นำรัฐบาลประเทศใหม่ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี จึงมีส่วนกับการสังหารหมู่คนเขมรด้วยกันอย่างไม่อาจบ่ายเบี่ยงได้
หลังจากสร้างหายนะให้กับคนในชาติมานาน 4 ปี "กัมพูชาประชาธิปไตย" ก็ล่มสลายลง เมื่อกองทัพเวียดนามพร้อมด้วยพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาภายใต้การนำของเฮง สัมริน ได้รุกรานกัมพูชาและปลดปล่อยหลายพื้นที่จากการยึดครองของเขมรแดง รวมถึงกรุงพนมเปญในเดือนมกราคม 1979 ทำให้เขมรแดงต้องถอยร่นมาตั้งหลักที่จังหวัดไพลิน และเขมรแดงได้ปักหลักอยู่ที่ไพลินนานถึงเกือบ 20 ปี
จนกระทั่ง ในเดือนธันวาคม 1998 นวน เจีย ในฐานะผู้นำเขมรแดงกลุ่มสุดท้าย ก็ยอมตกลงกับ ฮุน เซน ที่จะวางอาวุธ (ฮุน เซน ก็เคยเป็นหนึ่งในสมาชิกเขมรแดง) โดยฮุน เซน ตกลงที่จะไม่เอาผิดกับผู้นำเขมรแดงที่เคยฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนเขมรด้วยกัน ทำให้ประชาคมโลกตำหนิฮุน เซนอย่างรุนแรง
หลังจากมีการตั้งศาลคดีเขมรแดงในปี 1997 นวนเจียสามารถรอดพ้นเงื้อมมือศาลมาได้นานถึง 10 ปี แต่แล้วนวน เจีย ก็หนีความยุติธรรมไม่พ้น ถูกจับกุมในวันที่ 19 กันยายน 2007 แล้วถูกพิจารณาคดีในข้อหาอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2014 เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเขมร และเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2018 ยังถูกตัดสินว่ามีความผิดอีกกระทง คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเวียดนามและชาวจาม แต่หลังจากนั้นไม่นานเขาก็เสียชีวิตลง
ในสายตาผู้รอดชีวิตทุ่งสังหาร โทษนี้อาจจะถือว่าเบามากกับกรรมที่เขากระทำ
ภาพชุดพิธีศพของนวน เจีย