ขยะพลาสติกจากน้ำมือมนุษย์ ภัยร้ายของสัตว์ทะเล
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะร่วมมือกันลดการใช้ ลดการทิ้งขยะพลาสติก
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะร่วมมือกันลดการใช้ ลดการทิ้งขยะพลาสติก
ข่าวการจากไปของพะยูนมาเรียมคงสร้างความเศร้าเสียใจให้กับแฟนคลับของน้องไม่น้อย แต่ที่น่าเศร้ายิ่งไปกว่านั้นคือ การพบขยะพลาสติกชิ้นเล็กๆ หลายชิ้นในลำไส้ของมาเรียม โดยขยะพวกนี้เข้าไปอุดตันในกระเพาะอาหารจนเกิดอาการอักเสบ สุดท้ายลุกลามจนติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้เราสูญเสียสัตว์ทะเลไปอีกหนึ่งตัว
ส่วนหนึ่งของขยะพลาสติกที่พบในท้องของวาฬที่เกยตื้นที่ฟิลิปปินส์ hoto by / AFP
กรณีของมาเรียมไม่ใช่ครั้งแรกที่ขยะพลาสติกที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์เป็นสาเหตุให้สัตว์ทะเลที่ไม่รู้อีโหน่อีต้องมาจบชีวิต เมื่อปีที่แล้ววาฬนำร่องที่มาเกยตื้นที่ จ.สงขลาก็พบพลาสติกในกระเพาะอาหารถึง 8 กิโลกรัม ถัดมาเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็เกิดเหตุซ้ำรอยกับวาฬที่เกยตื้นที่ฟิลิปปินส์ ตัวนี้พบขยะอยู่ในท้องถึง 40 กิโลกรัม มีทั้งกระสอบใส่ข้าวสาร ถุงใส่สินค้าจากร้านขายของชำ ถุงขนม เชือกไนล่อน
นอกจากนี้ ยังมีนกทะเลที่ทั้งกินขยะพลาสติกและถูกถุงพลาสติกพันคอจนตายอีกนับไม่ถ้วน รวมทั้งเต่าหญ้าตัวหนึ่งที่มีหลอดพลาสติกยาว 4 นิ้วเข้าไปติดอยู่ในโพรงจมูก ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่บังเอิญพบมันเข้าต้องใช้เวลาเกือบ 10 นาทีกว่าจะดึงหลอดออกมาจากจมูกเต่าตัวนี้ได้ เต่าเองก็คงจะเจ็บปวดทรมานไม่น้อย เพราะช่วงที่กำลังดึงนั้นมีเลือดไหลออกมาด้วย
ไม่เพียงเท่านี้ หากปัญหาขยะพลาสติกลุกลามไปเรื่อยๆ ยังจะมีวาฬ โลมา นกทะเล เต่า ปลา รวมทั้งพะยูนต้องตายจากขยะเหล่านี้เพิ่มขึ้นอีก เมื่อปี 2015 นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า 90% ของนกทะเลทั้งหมดกินพลาสติกเข้าไปไม่มากก็น้อย ส่วนองค์การยูเนสโกคาดว่าในแต่ละปีมีสัตว์ทะเลตายจากการกินขยะพลาสติกราว 100,000 ตัว
เหตุใดสัตว์ทะเลเหล่านี้จึงกินพลาสติก
REUTERS/Stelios Misinas
เพราะขยะพลาสติกบางชิ้นก็มีหน้าตาคล้ายกับอาหารที่สัตว์ทะเลกิน เช่น เต่าทะเลมักจะกินถุงพลาสติก เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นแมงกะพรุน ปลามักจะกินพลาสติกชิ้นเล็กๆ ที่แตกออกเนื่องจากแสงอาทิตย์และแรงกระแทกของคลื่น เพราะเม็ดพลาสติกคล้ายกับอาหารชิ้นเล็กที่มันเคยกิน
นอกจากนี้ ผลการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ได้อธิบายว่าเพราะขยะพลาสติกเหล่านี้มีกลิ่นเหมือนอาหาร อย่างในกรณีของนกทะเลที่กินเคยตัวเล็กๆ เป็นอาหารก็จะไปหาอาหารในแหล่งที่มีสาหร่าย เพราะเคยกินสาหร่ายเป็นอาหาร เมื่อสาหร่ายแตกออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ จะปล่อยกลิ่นซัลเฟอร์ที่เรียกว่า ไดเมทิลซัลไฟด์ออกมา นกก็จะจำว่าเมื่อใดที่ได้กลิ่นซัลเฟอร์ก็จะมีอาหาร และถุงพลาสติกก็ปล่อยกลิ่นซัลเฟอร์นี้ออกมาเช่นกัน ดังนั้นแทนที่นกจะได้กินเคยกลับกินพลาสติกเข้าไปแทน
องค์การด้านการวิจัย Pew Charitable Trust ประมาณการณ์ว่าแต่ละปีมีขยะพลาสติกไหลไปรวมกันอยู่ที่มหาสมุทรทั่วโลกราว 13 ล้านตัน หรือเทียบเท่ากับการขนขยะใส่รถบรรทุกเต็มคันไปทิ้งทุกๆ 1 นาที ขณะที่รายงานของ Ocean Conservancy เมื่อปี 2017 เผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศเอเชียที่ทิ้งขยะลงมหาสมุทรรวมกันมากกว่าขยะของประเทศที่เหลือทั้งโลกรวมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single-use plastic) โดยอีก 4 ประเทศคือจีน (อันดับ 1) อินโดนีเซีย (2) ฟิลิปปินส์ (3) เวียดนาม (4)
ขยะพลาสติกแต่ละชิ้นต้องใช้เวลาในการย่อยสลายอย่างน้อย 450 ปี หากวันนี้เรายังไม่ร่วมมือกันลดการใช้ ลดการทิ้งขยะพลาสติก การจากไปของมาเรียมอาจจะไม่ใช้กรณีสุดท้าย เพื่อนสัตว์ทะเลของมาเรียมและเพื่อนร่วมโลกของเราจะต้องตายจากน้ำมือของมนุษย์อีกนับหมื่นนับแสนตัว