บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายจริง 39 ประเทศสั่งแบนแล้ว
ส่องมาตรการควบคุมและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าของนานาประเทศ
ส่องมาตรการควบคุมและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าของนานาประเทศ
หลังจากมีการใช้ในยุโรปเมื่อราว 13 ปีที่แล้ว บุหรี่ไฟฟ้าก็กลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลก เนื่องจากคำกล่าวอ้างจากผู้ผลิตว่าปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ปกติ แต่จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อปี 2016 พบว่ายังไม่มีหลักฐานมากพอที่จะสรุปได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้ผู้ใช้เลิกบุหรี่มวน ขณะที่องค์กรด้านสุขภาพและรัฐบาลหลายประเทศออกคำเตือนว่าบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนส่งผลเสียต่อสุขภาพไม่ต่างกัน
ล่าสุดรัฐบาลอินเดียประกาศห้ามจำหน่าย รวมทั้งห้ามผลิต นำเข้า จัดเก็บ และโฆษณาบุหหรี่ไฟฟ้า ผู้ฝ่าฝืนต้องถูกจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 100,000 รูปี หรือทั้งจำทั้งปรับ หากทำผิดซ้ำต้องระสางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับ 500,000 รูปี
การสั่งแบนของอินเดียเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่หลายประเทศกำลังตื่นตัวและเตรียมทบทวนการควบคุมของบุหรี่ไฟฟ้า รายงานของ Global State of Tobacco Harm Reduction ระบุว่าประเทศต่างๆ 39 ประเทศมีคำสั่งห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าหรือนิโคตินเหลว ขณะที่บางประเทศมีการควบคุม หรือให้ใช้อย่างถูกกฎหมาย อาทิ
ไทย แบนทุกกรณีตั้งแต่ปี 2014
สิงคโปร์ ห้ามนำเข้า จัดจำหน่าย แจกจ่าย หรือเสนอขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 เหรียญสิงคโปร์
กาตาร์ แบนตั้งแต่ปี 2014
ออสเตรีย กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ การจำหน่ายต้องได้รับใบอนุญาต
เบลเยียม สามารถจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ที่บรรจุสารนิโคตินนอกร้านขายยาได้ หากบรรจุนิโคตินไม่เกิน 2 มิลลิลิตร หรือเฉพาะสารนิโคตินไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร โดยห้ามจำหน่ายให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปี
สาธารณรัฐเช็ก ห้ามจำหน่ายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และอนุญาตให้จำหน่ายเฉพาะร้านที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่มวนเท่านั้น การใช้หรือโฆษณาไม่ผิดกฎหมาย ในทางพฤตินัยห้ามจำหน่ายในช่องทางออนไลน์เนื่องจากไม่สามารถระบุอายุผู้ซื้อได้ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีการบังคับใช้ เนื่องจากมีร้านค้าออนไลน์จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก ทำให้ควบคุมได้ยาก
เดนมาร์ก ควบคุมการโฆษณา และกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารนิโคตินเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อนจึงจะทำการตลาดและจำหน่ายได้ ทว่าจนถึงตอนนี้ทางการยังไม่เคยออกใบอนุญาตดังกล่าว
ฟินแลนด์ การจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารนิโคตินเหลวถือว่าผิดกฎหมาย แต่หากไม่มีสารนิโคตินเหลวสามารถจำหน่ายได้ตราบใดที่ไม่มีภาพและราคาบนบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังผ่อนผันให้ซื้อบุหรี่ไฟฟ้าบรรจุนิโคตินเหลวจากต่างประเทศเพื่อใช้ส่วนตัวได้ โดยต้องมีนิโคตินไม่เกิน 10 มิลลิกรัม และน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าต้องมีนิโคตินไม่เกิน 0.42 กรัมต่อขวด หากเกินกว่านั้นต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ในฟินแลนด์
ฝรั่งเศส ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ใดๆ ทั้งที่มีและไม่มีนิโคตินให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมทั้งยังกำหนดสถานที่ห้ามสูบ โดยผู้ฝ่าฝืนต้องถูกปรับตั้งแต่ 150 ยูโรขึ้นไป ส่วนเจ้าของสถานที่ที่เป็นพื้นที่ห้ามสูบและผู้ที่ไม่ติดป้ายห้ามสูบปรับ 450 ยูโร
เนเธอร์แลนด์ ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำกัดการจำหน่ายน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าไม่เกินขวดละ 10 มิลลิลิตร มีนิโคตินได้ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร
สหรัฐ ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละรัฐ
ออสเตรเลีย ยังไม่มีกฎหมายที่แน่ชัด แต่การจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าต้องขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการสินค้าเพื่อการบำบัดโรค (TGA)
แคนาดา ส่วนใหญ่ยังไม่มีกฎหมายควบคุม แต่ในทางเทคนิคการจำหน่ายน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารนิโคตินยังผิดกฎหมาย เนื่องจากทางการแคนาดายังไม่อนุมัติ แต่โดยทั่วไปแล้วมีน้ำยาชนิดนี้จำหน่ายทั่วประเทศ ส่วนในเมืองแวนคูเวอร์ห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะที่ห้ามสูบหบุรี่มวน เมืองโตรอนโตห้ามสูบบรี่หรี่ไฟฟ้าในสถานที่ทำงาน
ฮ่องกง ห้ามจำหน่ายและครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารนิโคติน ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 100,000 เหรียญฮ่องกง หรือจำคุก 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ยังไม่มีกฎหมายครอบคลุมบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีสารนิโคติน
ญี่ปุ่น ห้ามจำหน่ายหรือใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารนิโคตินตั้งแต่ปี 2010 แต่ยังมีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีนิโคตินให้กับทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่ เนื่องจากไม่มีกฎหมายห้าม
มาเลเซีย มีกฎศาสนาอิสลามห้ามใช้บุหรี่ไฟฟ้าในรัฐปีนัง เกดะห์ ยะโฮร์ และกลันตันเมื่อปี 2015 ต่อมารัฐบาลมาเลเซียออกกฎห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าให้เยาวชนในปี 2018
เกาหลีใต้ กฎหมายอนุญาตให้จำหน่ายและใช้บุหรี่ไฟฟ้า แต่มีการเก็บภาษีสูง
ที่มา : Regulation of electronic cigarettes/ Vaping Laws: Where on Earth Are Vapes Banned or Restricted?