การกระตุ้นเศรษฐกิจของเมียนมา
โดย กริช อึ๊งวิฑูรย์สถิตย์
ผมเคยเล่าเรื่องรัฐบาลเมียนมาได้ใช้นโยบายลดความร้อนแรงในตลาดอสังหารัมทรัพย์ ในช่วงปี 2015 เหตุผลที่ทำเช่นนั้น เพราะในช่วงดังกล่าวการเก็งกำไรทำให้ราคาของอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้สะท้อนภาพที่แท้จริงของตลาดเลย ราคากระโดดไปสูงมากๆ ทำให้การลงทุนในภาคการผลิตก็หยุดชงักลงมา
อีกทั้งตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้น เกิดการปั่นป่วนขึ้นอย่างมาก รัฐบาลเมียนมาซึ่งทุกครั้งจะออกนโยบายใดๆออกมา ก็สามารถผ่านรัฐสภาได้อย่างง่ายๆ ไม่ยากเย็นอย่างเช่นประเทศที่เสรีนิยมหรือประชาธิปไตยจ๋า เพราะประเทศเหล่านี้จะมีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบอย่างใกล้ชิด อีกทั้งคอยกระตุกขาเพื่อไม่ให้ผ่านกฎหมายออกมาง่ายๆครับ
ดังนั้นในยุคนั้น จึงออกมาตรการกฏหมายเงินขาว-เงินดำ และเมื่อไม่ได้ผลมากอย่างที่คาดหวังก็จัดหนักเลยคราวนี้ ด้วยการออกกฎหมายให้จ่ายภาษีซื้อ-ขายอสังหาริทรัพย์ด้วยอัตรา 30% ทำให้เกิดการชักกระตุกเลยครับคราวนี้
เมื่อการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เกิดปัญหา คนไม่สามารถหาซื้อที่อยู่อาศัยในราคาสมเหตุสมผลได้ ทำให้เกิดปัญหาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ขึ้นในมหานครย่างกุ้ง เพราะเมื่อไม่มีการซื้อขาย ก็ทำให้กระแสเงิน M1 M2 M3 ขาดหายไปจากตลาด จนทำให้เกิดปัญหาเงินฝึด การลงทุนภาคการผลิตก็จะลดลง
อีกทั้งส่งผลกระทบสู่การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ฝึดเคืองลงอย่างรวดเร็ว รัฐบาลเมียนมาจึงมีสภาพคล้ายลิงติดแห แก้กันไปแก้กันมาไม่รู้จบครับ
เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลเมียนมาจึงมีกฏหมายใหม่ออกมาอีกครั้ง โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2019 นี้ คือให้ลดภาษีซื้อ-ขายสินค้าทุกชนิดรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ ในอัตราก้าวหน้าทั้งหมด กล่าวคือ การซื้อขาย ตั้งแต่
- 1ล้านถึง 100 ล้าน ให้เสียภาษี 3%
- 101 ล้านถึง 300 ล้าน ให้เสียภาษี 5%
- 301 ล้านถึง 1,000 ล้าน ให้เสียภาษี 10%
- 1001 ล้านถึง 3,000 ล้าน ให้เสียภาษี 15%
- 3001 ล้านขึ้นไป ให้เสียภาษี 30%
เมื่อมาตรการบังคับใช้กฏหมายใหม่นี้เกิดขึ้น สิ่งที่จะตามมา คือ เงินที่เสียภาษีน้อยลงไปทันที ราคาสินค้าต่างๆก็จะถูกลงอย่างแน่นอน ซึ่งสิ่งที่จะตามมาคือเงินที่อยู่ในระบบการเงินออกมา ก็จะกลับเข้าสู่ภาคเงินออม Saving Money
เงินส่วนรั่วไหลดังกล่าว ก็จะทำให้เกิด AE หรือ Aggregate Expenditure ถ้าจะแปลเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆ คือ ความต้องการใช้จ่ายรวมทีประชาชนคนธรรมดาปารถณาที่จะใช้นั่นเองครับ
ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ เงินเหล่านี้ก็มีบางส่วนที่จะเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปของการบริโภค ตามหลักเศรษฐศาสตร์ก็คือตัว Consumption หรือตัว C นั่นเองครับ
หากจะอ่านปัจจัยทั้งหมดให้แน่ชัดขึ้นไปอีกนิด ก็ต้องไปดูที่อัตราดอกเบี้ยด้วย เพราะการใช้นโยบายการเงินที่ใช้ดอกเบี้ยเป็นปัจจัยหลัก หากทางการอยากได้รับผลแบบฉีดยาแรงๆ หรือใช้วิธีผ่าตัดเลย แทนที่จะค่อยๆให้ยาทาน ซึ่งแน่นอนเรื่องใช้ยาแรงนั้น ทางรัฐบาลประเทศที่ปกครองแบบนี้ชอบใช้กันมาก
เขาเพียงลดอัตราดอกเบี้ยลง คนก็จะไม่นำเงินไปฝากตามธนาคารต่างๆแล้ว เพราะได้ไม่มากเท่าการนำเงินไปลงทุนในภาคการผลิตนั่นเองแหละครับ คราวนี้จะส่งผลไปยังภาคการผลิตทันทีครับ
เขียนไปเหมือนกำลังสอนหนังสือเศรษฐศาสตร์มหภาคยังไงไม่รู้ ท่านก็อย่าคิดมากนะครับ เอาแค่พอสนุกๆก็พอครับ จะเห็นว่ารัฐบาลเมียนมาเขาเป็นงานนะครับ ถ้าจะเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆแล้ว รัฐบาลเขามีอิสระในการจัดการแก้ปัญหากว่าเยอะ เพียงแต่ปัญหาของเมียนมาเริ่มมีมานานสัก 70 ปีมาแล้ว
เริ่มจากการถูกยึดครองด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกนั่นแหละครับ หลังจากนั้นเป็นต้นมา เขาจึงต้องพึงพาตนเองอย่างโดดเดี่ยวและมีความอดทนสูงมากเลยครับ
อาทิตย์หน้าผมจะมาเล่าเรื่องที่กำลังจะออกมาตรการทางกฏหมายใหม่อีกครั้งในปลายปีนี้นะครับ เพื่อให้ท่านเห็นถึงความพยายามของเมียนมายุคใหม่ ที่เขามีความกล้าหาญมากไม่ยอมแพ้
และเด็ดขาดกว่าชาติประชาธิปไตยอื่นๆอีกหลายชาติครับ