posttoday

เอสโตเนียเรียนกันอย่างไรถึงทำคะแนน PISA สูงลิ่ว ขณะที่การอ่านเด็กไทยแย่ลงต่อเนื่อง

03 ธันวาคม 2562

ไปดูกันว่านักเรียนเอสโตเนียเรียนกันอย่างไรถึงทำคะแนน PISA ได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เผยผลการสอบวัดความรู้นักเรียนนานาชาติประจำปี 2019 (PISA) โดยให้นักเรียนอายุ 15 ปีจำนวน 600,000 คนจาก 79 ประเทศทั่วโลกทำแบบทดสอบความสามารถด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ พบว่านักเรียนจากเมืองหลักของจีน 4 แห่งได้แก่ กรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง ทำคะแนนรวมทั้ง 3 ด้านได้มากที่สุด ส่วนสิงคโปร์แชมป์เก่าตกไปอยู่อันดับ 2

ขณะที่นักเรียนไทยทำคะแนนได้ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของ OECD ในทุกๆ ด้าน โดยมีทักษะการอ่านแย่ลงต่อเนื่อง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์คงที่

แต่ที่น่าสนใจคือในขณะที่ประเทศในกลุ่ม OECD อาทิ แคนาดา ฟินแลนด ไอร์แลนด์ มีค่าใช้จ่ายในการศึกษาของนักเรียนต่อคนเพิ่มขึ้นกว่า 15% ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ประเทศเอสโตเนียที่ได้คะแนนสูงเป็นอันดับต้นๆ ทั้งๆ ที่ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาลดลง 30% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD

เอสโตเนียให้ความสำคัญกับคุณภาพการเรียนรู้ในระดับอนุบาลเป็นอย่างแรก เด็กๆ ที่นั่นเข้าเรียนชั้นอนุบาลกันตั้งแต่อายุ 3 ขวบ หรืออาจจะอายุน้อยกว่านั้น โดยในชั้นนี้นักเรียนจะได้รับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับประถม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสังคม การแสดงความกล้าหาญและมั่นใจในการยกมือถามสิ่งที่สงสัย การรู้จักตั้งคำถาม โดยเน้นการเรียนรู้ผ่านการเล่นที่มีครูเป็นส่วนสำคัญ

นี่คือวิธีการที่เอสโตเนียใช้ในการบ่มเพาะความรู้ให้กับเยาวชน เพื่อให้นักเรียนมีความพร้อมทั้งด้านอารมณ์และร่างกายในการเรียนรู้ให้มากที่สุด

ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับลูกวัยอนุบาลราว 80 ยูโร หรือราว 2,683 บาท ต่อเดือนต่อคน แต่หลังจากนั้นทุกอย่างฟรี ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเรียน อาหารกลางวัน หรือรถรับส่ง โดยมีการศึกษาของฟินแลนด์เป็นต้นแบบ

นอกจากนี้ การขยับชั้นจากอนุบาลไปยังชั้นประถมศึกษาก็ไม่มีการให้คะแนนเพื่อแบ่งระดับของเด็กนักเรียน แต่ทุกคนจะได้รับการ์ดแสดงความพร้อมระบุทักษะความสามารถ พัฒนาการ และสิ่งที่เด็กๆ ต้องทำเพิ่มเติม ซึ่งผิดกับระบบการศึกษาของไทยที่สอบวัดผลกันอย่างเอาเป็นเอาตายตั้งประชั้นประถม

เอสโตเนียยังให้ความสำคัญกับครูผู้สอน โดยให้อิสระในการออกแบบการเรียนการสอนเพื่อให้เหมาะสมกับลูกศิษย์ของตัวเอง แต่ก็ยังอยู่บนพื้นฐานของหลักสูตรการศึกษาของชาติ
รานโด้ กูสติก อาจารย์ใหญ่โรงเรียน Jakob Westholmi Gumnaasium ในกรุงทาลลินน์ เผยว่า “ผมคิดว่าครูคือเหตุผลหลักที่ทำให้นักเรียนของเราได้คะแนนดี เนื่องจากครูมีอิสระในการสอน และตัวนักเรียนเองก็พร้อมจะเรียนรู้”

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าการศึกษาของเอสโตเนียจะไร้ปัญหา ปัจจุบันครูของเอสโตเนียหลายคนใกล้จะเกษียณอายุราชการแล้ว และแม้รัฐบาลจะพยายามผลักดันในการสรรหาบุคลากร ทว่าก็ยังไม่เพียงพอ

สำหรับระบบที่ให้ความสำคัญกับครูผู้สอนอย่างมาก การรักษาความสำเร็จของระบบการศึกษาถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลเอสโตเนีย