เปิดบันทึกชาวต่างชาติเล่าความอลังการของกระบวนเรือพยุหยาตรา
ภาพความยิ่งใหญ่ที่หาชมได้ยากของกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยกรุงเก่า
ปีแยร์ ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต (Pierre Lambert de la Motte) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสเดินทางมาเผยแพร่ศาสนาที่กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นยุคสมัยที่กรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่งและมีชาวต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขายอย่างคึกคัก
ความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยาถูกบันทึกไว้โดยชาวต่างชาติมากมาย แต่น้อยคนที่จะมีโอกาสได้ชมความอลังการของงานพระราชพิธีเลียบพระนครทางพยุหยาตราทางชลมารค แม้แต่การเสด็จออกให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมีก็เกิดขึ้นน้อยครั้ง ดังที่ชาวฝรั่งเศสได้อธิบายไว้ว่า "ถ้าเสด็จออกให้มหาชนเห็นบ่อย ๆ จะเสื่อมเสียพระเกียรติยศ"
Voyage de Siam, des peres jesuites, envoyez par le roy aux Indes & à la Chine
พระราชพิธีเลียบพระนครทางพยุหยาตราทางชลมารคครั้งสำคัญได้ถูกบันทึกไว้โดยปีแยร์ ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1673 หรือพ.ศ. 2216 โดยท่านได้มีจดหมายไปถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ หรือคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (Missions Etrangeres de Paris) อันเป็นคณะเผยแพร่ธรรมของคริสตจักรโรมันคาทอลิก ใจความจดหมายท่านเท้าความว่า ตั้งแต่ได้เฝ้าครั้งแรกถวายอักษรสาส์นของพระสันตปาปา และถวายพระราชสาส์นพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส พระเจ้าแผ่นดินสยามได้พระราชทานที่ดินตรงค่ายญวน (ชุมชนชาวเวียดนาม) สำหรับให้บาทหลวงจากฝรั่งเศสได้อาศัยในปี ค.ศ. 1665 ปัจจุบันอยู่วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา ในตอนนั้นเรียกว่า “ค่ายนักบุญยอแซฟ” โดยที่ดินผืนนี้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงกำหนดด้วยพระองค์เองขณะที่กำลังเสด็จพระราชดำเนินตามลำน้ำ
เมื่อเอ่ยถึงที่มาดังกล่าวแล้ว สังฆราชล็องแบร์จึงกล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำไว้ว่า ในเวลานั้นทราบกันดีว่าพระเจ้าแผ่นดินในแถบเอเชียมักจะไม่เสด็จออกให้ประชาชนได้เห็น ท่านคาดการณ์ว่าที่เป็นเช่นนี้จะเพราะเหตุสองประการ สาเหตุแรกเป็นคงจะเป็นเพราะเป็นประเพณีแต่โบราณ จึงทรงดำเนินตามแบบอย่างประเพณีที่เคยมีมาโดยไม่ได้คิดที่จะเปลี่ยนแปลงของเก่าหรือตั้งคำถามว่าทำไมจึงต้องทรงทำเช่นนั้น สาเหตุที่สองท่านกล่าวว่า "บางทีจะทรงเชื่อเอาจริง ๆ ว่าถ้าเสด็จออกให้มหาชนเห็นบ่อยๆ จะเสื่อมเสียพระเกียรติยศ แต่เพราะเหตุว่าการที่จะไม่ให้ข้าแผ่นดินได้เห็นพระพักตร์ของพระเจ้าแผ่นดินเสียเลยเป็นการไม่สมควร จึงทรงเลือกหาวันใดวันหนึ่งในปีหนึ่งที่จะเสด็จออกให้คนเห็น"
สังฆราชล็องแบร์ยังบรรยายความงดงามของกระบวนเรือพระราชพิธีว่า
Voyage de Siam, des peres jesuites, envoyez par le roy aux Indes & à la Chine
"แต่งพระองค์และประดับเครื่องราชอิศริยาภรณ์อย่างเต็มที่ ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินสยามนั้นในปีหนึ่งคงมีวันเสด็จออกเช่นนี้วันเดียวเท่านั้น และเป็นการง่ายที่จะคำนวณได้ว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้มีพระเกียรติยศสูงเพียงไร โดยคะเนในพระราชทรัพย์ที่ทรงมีมากมายก่ายกอง การที่เสด็จออกโดยเต็มที่อย่างนี้ก็เสด็จตามลำแม่น้ำอันงดงาม ของประเทศสยาม ในพิธีนี้มีเรือแห่นำตามเสด็จกว่าสองร้อยลำ ล้วนแต่แต่งประดับประดาอย่างงดงามและอย่างวิจิตรทุกลำ คือเรือสำหรับขุนนางและเจ้านาย ในระหว่างเรือเหล่านี้ยังมีเรืออีกลำหนึ่งซึ่งวิจิตรงดงามยิ่งไปกว่าเรือทั้งปวง ด้วยเป็นเรือปิดด้วยทองคำทุกด้าน จนแลเห็นเหมือนกับเรือลำนี้ทำด้วยทองคำทั้งลำ ฝ่ายองค์พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงประดับด้วยเพชรพลอยต่าง ๆ อันนับ จำนวนไม่ถ้วน เสด็จออกมาให้คนทุก ๆ ชาติซึ่งอยู่ในประเทศสยามเห็นเหมือนกับพระองค์เป็นดวงพระอาทิตย์ แลในงารนี้คราวนี้บรรดาประชาราษฎรทุกชาติทุกภาษาก็มาชมพระบารมีเต็มตามลำน้ำและตามบ้านตามสวนที่อยู่ริมแม่น้ำนั้น"
ต่อมาในปี เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคอีก คราวนี้ สังฆราชฟรังซัว ปัลลือ (Francois Pallu) มีจดหมายบรรยายการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไว้ว่า "พระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่บนพระโธรน ปิดทองสูงมาก แลข้าราชการหมอบเฝ้าอยู่ข้างล่าง ก่อนหน้าที่จะเสด็จนี้มีเสียงลือกันว่าพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จพระราชดำเนินประพาส ตามลำน้ำ"
Voyage de Siam, des peres jesuites, envoyez par le roy aux Indes & à la Chine
ส่วนลักษณะของเรือขุนนางที่เขาร่วมในขบวนพยุหาขยาตรานั้น คาดว่าคงจะมีลักษณะเดียวกับที่อาแล็กซ็องดร์ อัศวินแห่งโชมง (Alexandre de Chaumont) ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้บรรยายไว้ตอนที่เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อปีค.ศ. 1685 เมื่อมาถึงอยุธยาแล้วทางราชสำนักได้จัดขุนนางมารับราชทูตโดยทางเรือ และราชทูตได้บรรยายเอาไว้ว่ามีความงามเพียงใด
Voyage de Siam, des peres jesuites, envoyez par le roy aux Indes & à la Chine
"บรรดาขุนนางทั้งปวงที่ได้มาคอยรับข้าพเจ้า ตามแม่น้ำระยะทางนั้นตามข้าพเจ้ามาด้วย ที่หนึ่งนั้น คือ มหาดเล็ก ที่มาภายหลังอิกนั้นก็มียศใหญ่ขึ้นกว่าก่อนนั้น ที่สุดที่มารับนั้นเป็นเจ้า บรรดาขุนนางทั้งปวงนี้มีเรือสำหรับตัวของเขาเองทุกๆ คน เรือของขุนนางเหล่านี้ที่กลางลำเรือที่เขานั่งนั้น ยกพื้นขึ้นสูงคล้ายๆ กับโธรน และนั่งลำละคนเท่านั้น มีอาวุธวางข้างๆ คือ ดาบ หอก ทวน ธนู โล่ห์ แลไม้สามง่ามเหมือนกัน เรือทั้งหลายเหล่านี้ประมาณสัก 50-60 ลำนี้ตามมาด้วย ลางลำก็ยาวถึง 80 ฟิต มีฝีพายบรรจุถึง 100 คนก็มี แต่เขามิได้พายเหมือนอย่างธรรมเนียมของเรา เขานั่งที่กระทงเรือเปนคู่กัน หันหน้าไปหัวเรือจึงพาย พายยาวประมาณ 4 ฟิต แลเมื่อพายนั้นโน้มตัวโดยท่าแข็งแรง"
Relation de l'ambassade de Mr. le chevalier de Chaumont a la cour du roy de Siam
เมื่อถึงเวลาอัญเชิญพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไปถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราชทูตอาแล็กซ็องดร์ยิ่งได้รับการต้อนรับด้วยขบวนเรือที่ยิ่งใหญ่และอลังการยิ่งกว่าเดิม เป็นการบรรยายขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคที่มีเรือหนับร้อยลำ ยิ่งใหญ่กว่าขบวนเรือในยุคสมัยใดๆ
"ข้าพเจ้าได้พบเรือกิ่งปิดทองแต่งเครื่องพร้อม มีขุนนางชั้นที่ 4 นั่งมา 2 คน ข้าพเจ้าจึงได้รับพระราชสาส์นมาจากบาดหลวงแอปเบเดอชวยซี เชิญลงไปในเรือกิ่งนั้นส่งให้แก่ขุนนางคนหนึ่งที่อยู่ในเรือนั้น แล้วเขารับเชิญขึ้นไว้บนบุษบก ๆ นั้นเปนยอดแหลมสูงปิดทองอย่างงาม แล้วข้าพเจ้าก็มาลงเรือลำหนึ่งเปนเรือยาวงามดี ตามเรือพระราชสาส์นชิดไปทีเดียว แล้วมีเรืออีก 2 ลำงามเหมือนอย่างเรือที่ข้าพเจ้าขี่ มีขุนนางนั่งมาในเรือนั้น ท้ายเคียงเรือที่ใส่พระราชสาส์นทั้งซ้ายขวา"
Relation de l'ambassade de Mr. le chevalier de Chaumont a la cour du roy de Siam
ราชทูตอาแล็กซ็องดร์บรรยายต่อไปว่า "เรือที่ข้าพเจ้าขี่ที่ได้พูดมาแล้วนั้นหนึ่งลำ เรือบาทหลวงแอปเบเดอชวยซีพายตามเรือข้าพเจ้า และขุนนางอื่น ๆ ที่ได้มากับข้าพเจ้าและพวกของข้าพเจ้าได้ลงเรือต่างหากพายตามมาข้างหลัง ขุนนางที่มียศสูงนั้นขี่เรืองามนักออกชักนำหน้า และมีเรือยาวปิดทองอีกประมาณ 12 ลำ และเรืออื่นๆ อีกเกือบ 200 ลำพายเป็น 2 แถว พระราชสาส์นนั้นมีเรือคู่เคียงข้างคู่หนึ่ง แล้วเรือข้าพเจ้าอยู่กลาง บรรดาชาวเมืองทั้งปวงที่อยู่ในกรุงศรีอยุธยานั้น ก็เข้าต่อในกระบวนแห่แลในแม่น้ำอันกว้างนั้นดูเต็มติดแม่น้ำไปด้วยเรือต่าง ๆ เราได้ออกเรือเดินกระบวนมาดังนี้จนถึงกรุง"
นิโกลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise) นักเดินทางชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาถึงอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บรรยายกระบวนเรือพยุหยาตราเอาไว้ว่า “ไม่สามารถเทียบความงามกับขบวนเรืออื่นใดได้ เป็นขบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่าสองร้อยลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ๆ ไปข้างหน้า เรือพระที่นั่งนั้น ใช้ฝีพายของพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายพร้อมกันเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นก็เป็นพายทองเหมือนกัน เสียงพายกระทบกันเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน”
Voyage de Siam, des peres jesuites, envoyez par le roy aux Indes & à la Chine
และบาทหลวงตาชาร์ด (Guy Tachard) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสไม่เพียงแต่บันทึกเรื่องนี้ไว้อย่าวละเอียดละออ แต่ยังมีภาพประกอบรูปขบวนเรือและเรือพระที่นั่งอย่างงดงาม เป็นหลักฐานชิ้นสำคัยที่บอกกับเราว่าเรือพระราชพิธีสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร (เช่นรูปอนันตนาคราช และหัวเรือนาคราช เป็นต้น) สำหรับกระบวนเรือท่านได้พรรณนาเอาไว้ว่า
"มีเรือบัลลังก์ขนาดใหญ่สี่ลำมา แต่ละลำมีฝีพายถึงแปดสิบคน ซึ่งเราไม่เคยเห็นเช่นนั้นมาก่อน สองลำแรกนั้นหัวเรือทำเป็นรูปเหมือนม้าน้ำปิดทองทั้งลำ เมื่อเห็นมันมาแต่ไกลในลำน้ำนั้นดูคล้ายกับมันมีชีวิตชีวา มีเจ้าหน้าที่กองทหารรักษาพระองค์สองนายมาในเรือทั้งสองลำ เพื่อรับเครื่องราชบรรณาการของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ครั้นบรรทุกเสร็จแล้วก็ถอยออกไปลอยลำอยู่กลางแม่น้ำอย่างสงบเงียบ และตลอดเวลาที่ลอยลำอยู่นี้ ไม่มีสุ้มเสียงใดเลยบนฝั่ง และไม่มีเรือลำใดเลยแล่นขึ้นล่องในแม่น้ำ เป็นการแสดงความเคารพต่อเรือบังลังก์หลวงแลเครื่องราชบรรณาการที่บรรทุกอยู่นั้น"
Voyage de Siam, des peres jesuites, envoyez par le roy aux Indes & à la Chine
“ขบวนอันยืดยาวของเรือบัลลังก์หลวง ซึ่งเคลื่อนที่ไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อยนี้มีจำนวนถึงร้อยห้าสิบลำผนวกกับเรือลำอื่นๆ เข้าอีกก็แน่นแม่น้ำแลไปได้สุดสายตา อันเป็นทัศนียภาพที่งดงามหนักหนา เสียงเห่แสดงความยินดีตามธรรมเนียมนิยมของชาวสยาม อันคล้ายจะรุกไล่เข้าประกับข้าศึกนั้น ก้องไปทั้งสองฝั่งฟากแม่น้ำ ซึ่งมีประชาชนพลเมืองล้นหล้าฟ้ามือมาคอยชมขบวนยาตราอันมโหฬารนี้อยู่"
แม้ว่าหลังเสียกรุงศรีอยุธยาแล้วเรือพระราชพิธีต่างจะเสียหายหรือถูกทำลายจนหมด แต่ภาพความงดงามของขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคยังสืบทอดมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
อ้างอิง
เรื่องจดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาตั้งครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
จดหมายเหตุทูตฝรั่งเศส และโปรตุเกส เข้ามาเมืองไทยในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราช
ประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรสยาม ของ นิโกลาส์ แชร์แวส
จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม ของ บาทหลวงตาชาร์ด