posttoday

แบนถุงพลาสติกได้ผลมั้ย? ถุงผ้าดีกว่าจริงหรือ?

09 มกราคม 2563

สุดท้ายแล้วการแบนอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดของปัญหาขยะพลาสติก

สุดท้ายแล้วการแบนอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดของปัญหาขยะพลาสติก

ยุคนี้ถุงพลาสติกกลายเป็นตัวอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เพราะแต่ละปีมีขยะพลาสติกจากน้ำมือมนุษย์ไหลไปรวมกันที่มหาสมุทรราว 8 ล้านตัน

องค์การกองทุนเพื่อสัตว์ป่าโลก (WWF) ระบุว่าสัตว์ทะเล อาทิ วาฬ แมวน้ำ เต่าตายปีละประมาณ 100,000 ตัว จากการติดหรือกินขยะพลาสติกเหล่านี้

การสูญเสียสัตว์ทะเลรวมทั้งพะยูนมาเรียมทำให้คนไทยตื่นตัวเกี่ยวกับขยะพลาสติก และในที่สุดรัฐบาลไทยได้ประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา

ทว่าการหันไปใช้วัสดุอย่างอื่นแทนถุงพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นถุงผ้า หรือถุงกระดาษ “ดีกว่า” ถุงพลาสติกจริงหรือ

อาร์ตี กีรี ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและผู้ก่อตั้งกลุ่ม Plastic-Lite Singapore ที่รณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในสิงคโปร์เผยว่า ใช่ว่าถุงกระดาษจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างที่หลายคนเข้าใจ เนื่องจากต้องตัดต้นไม้มาผลิต ซึ่งเป็นสาเหตุหลักให้เกิดภาวะโลกร้อน

นอกจากนี้ ถุงกระดาษยังทำให้หลุมฝังกลบขยะเต็มเร็ว เพราะใช้พื้นที่ค่อนข้างมาก

ส่วน เลียวเฉินเสียง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมสิงคโปร์กล่าวว่า ถุงกระดาษมีน้ำหนักมากกว่าถุงพลาสติก ทำให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าในกระบวนการขนส่ง เราต้องใช้ถุงกระดาษซ้ำอย่างน้อย 43 ครั้งจึงจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่หากใช้เพียงครั้งเดียวถุงกระดาษจะกระทบกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าถุงพลาสติก

เมื่อถุงกระดาษอาจไม่ตอบโจทย์ แล้วถุงผ้าล่ะ

ผลการวิจัยที่เผยแพร่โดยกระทรวงสิ่งแวด้อมและอาหารของเดนมาร์กเมื่อปี 2018 ที่ประเมินวัฏจักรชีวิตของถุงช็อปปิ้งทุกชนิด ตั้งแต่ถุงกระดาษไปจนถึงถุงพลาสติก พบว่าถุงผ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ขณะที่ถุงพลาสติกกลับเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แม้จะไม่มีการรีไซเคิลก็ตาม เช่นเดียวกับผลวิจัยของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมของอังกฤษเมื่อปี 2011

ที่เป็นเช่นนี้เพราะฝ้ายที่ใช้ผลิตถุงผ้าต้องใช้ทั้งที่ดิน น้ำ และปุ๋ยในการเติบโต ทั้งยังต้องเก็บเกี่ยว นำมาผ่านกระบวนการแปรรูปต่างๆ ขณะที่ถุงพลาสติกเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง จึงไม่ต้องใช้ทรัพยากรใหม่ในการผลิต

อย่างไรก็ดี ผลวิจัยนี้ไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบต่อชีวิตสัตว์น้ำ

การแบนถุงพลาสติกยังทำให้เกิดภาวะที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “การรั่วไหล” คือเมื่อห้ามใช้สินค้าชนิดหนึ่งก็ทำให้สินค้าชนิดอื่นขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

ตัวอย่างนี้มีให้เห็นแล้วในสหรัฐที่เคยต่อต้านการห้ามใช้ถุงพลาสติกมาก่อนหน้านี้ ผลการศึกษาของ รีเบกกา เทย์เลอร์ พบว่า เมืองที่แบนถุงพลาสติกก่อนปี 2016 มีขยะพลาสติกลดลงราว 18.14 ล้านกิโลกรัม แต่กลับมีการซื้อถุงพลาสติกใส่ขยะเพิ่มอย่างน่าตกใจ

ขณะนั้นยอดขายถุงขยะขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ เพิ่มขึ้น 120% 64% และ 6% ตามลำดับ

สุดท้ายแล้วแม้จะลดการใช้ถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งได้ แต่กลับต้องผลิตถุงขยะที่หนากว่าขึ้นมาแทน

นอกจากนี้ สถิติของสภาหอการค้าของรัฐโอกลาโฮมาของสหรัฐ ยังพบว่าการแบนถุงพลาสติกยังมีผลกระทบกับทั้งเศรษฐกิจและการจ้างงาน ในแง่ของเศรษฐกิจคือ ส่งผลให้การจับจ่ายสินค้าลดลง ผู้ประกอบการกำไรหดหาย และยังพบว่ามีการขโมยรถเข็นและตระกร้าช็อปปิ้งเพิ่มขึ้น

ส่วนในแง่ของการจ้างงานคือ ทำให้คนตกงานมากขึ้น การศึกษาผลกระทบของการห้ามใช้ถุงพลาสติกต่อเศรษฐกิจในลอสแองเจลิสพบว่า ห้างร้านในพื้นที่ที่ห้ามใช้ถุงพลาสติกลดพนักงานลงกว่า 10% ส่วนร้านที่อยู่นอกพื้นที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.4%

การจ้างงานที่ลดลงสืบเนื่องจากผลกระทบในข้อแรกคือ การแบนถุงพลาสติกทำให้คนซื้อของน้อยลง เมื่อลุกค้าลดลงจึงไม่จำเป็นต้องมีพนักงานมาก

ถุงกระดาษก็ไม่ดี ถุงผ้าก็ไม่ได้ แล้วเรามีตัวเลือกไหนบ้าง?

คำตอบง่ายมาก แค่นำสิ่งที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก ถุงกระดาษ หรือถุงผ้า กลับมาใช้ซ้ำหลายๆ ครั้งให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แทนที่การซื้อการผลิตถุงใบใหม่

เพียงเท่านี้ทุกคนก็มีส่วนร่วมในการลดขยะเพื่อช่วยโลกของเราได้ง่ายๆ แล้ว