"ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลก" ขององค์การอนามัยโลกคืออะไร
คำประกาศของ WHO ที่ให้การระบาดของโคโรนาไวรัสเป็น "ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ" จะส่งผลต่อนานาชาติอย่างไร
เมื่อช่วงคืนวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นนครเนจีวา ของสวิสเซอร์แลนด์ นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีแถลงการณ์หลังจากการหารือร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด ประกาศให้สถานการณ์ระบาดของโคโรนาไวรัสถือเป็น "สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ" (public health emergency of international concern - PHEIC)
- PHEIC คืออะไร
องค์การอนามัยโลก ให้คำนิยามในการประกาศการแพร่ระบาดของโรคต่างๆเป็น 2 หลักคือ การระบาดนั้นต้องก่อให้เกิดความเสียงมากกว่า 1 ประเทศ
และการระบาดนั้นต้องอาศัยความร่วมมือระดับนานาชาติในการตอบสนอง
ขณะที่ WHO ให้คำนิยามอย่างเป็นทางการของ PHEIC หมายถึง สถานการณ์ระบาดร้ายแรง ไม่ปกติ หรือคาดไม่ถึง (a situation that is serious, unusual or unexpected) โดยมาตรการนี้ WHO บัญญัติขึ้นเมื่อปี 2005
วันที่ 22 ม.ค. WHO ได้ตั้งทีมคณะทำงานด้านสถาการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเรียกว่า IHR Emergency Committee สำหรับการประเมินสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาด โดยประกอบไปด้วยผู้แทนจากชาติสมาชิก 15 ท่าน และคณะที่ปรึกษาจากองค์กรต่างๆอีก 6 ท่าน โดยทีมนี้มีหน้าที่หารือสถานการณ์โรคระบาด และเมื่อมีการประเมินหลักฐานซึ่งรวมถึงอัตราและความเสี่ยงติดเชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์แล้ว ส่วนการตัดสินใจว่าจะประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศหรือไม่ (PHEIC) เป็นดุลยพินิจของผอ. WHO ซึ่งนาย ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผอ.WHO ได้ตัดสินใจประกาศดังกล่าว
- PHEIC จะส่งผลต่อนานาชาติอย่างไร
เมื่อ WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินต่อสาธารณสุขโลก ดังกล่าว จะส่งผลให้นานาชาติซึ่งเป็นภาคีสมาชิกตื่นตัวออกมาตรการด้านสาธารณสุข รวมถึงมีการระดมทรัพยากร เพื่อป้องกัน และลดการแพร่ระบาดระหว่างประเทศ ซึ่งในประเด็นครอบคลุมถึงการยกระดับความเข้มงวดคัดกรองในสนามบิน พร้อมลดการแพร่ระบาดระหว่างพรมแดน ซึ่งจะทำให้มีการกำหนดข้อจำกัดเกี่ยวกับการเดินทางและการค้าต่างระหว่างประเทศ
WHO ยังสามารถเข้าไปให้ความรู้ สนับสนุน และช่วยเหลือแก่ประเทศที่อาจไม่มีความพร้อมต่อการรับมือต่อโรคระบาด
อย่างไรก็ดี ผอ.อนามัยโลกย้ำว่า WHO ไม่สนับสนุนให้นานาชาติยุติทำการบินจีน หรือจำกัดข้อเดินทางของพลเมืองจีน หรือด้านการค้ากับจีน เนื่องจากWHOยังคงเชื่อมั่นต่อศักยภาพของจีนในการควบคุมการระบาด ขณะที่มาตรการดังกล่าวของ WHO มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การควบคุมการแพร่ระบาดที่ต้นต่อในประเทศจีน รวมถึงความโปร่งใสในการเผยข้อมูลเกี่ยวกับการะบาดของแต่ละประเทศ
- อนามัยโลกใช้มาตรการ PHEIC บ่อยแค่ไหน
คำประกาศสถาการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากอาจเกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ โดยตั้งแต่ที่ WHO บัญญัติมาตรการนี้เมื่อปี 2005 WHO ได้ประกาศใช้ไปแล้ว 5 ครั้ง ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ H1N1 ระบาดทั่วโลกในปี 2009, การระบาดของโรคอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกระหว่างปี2014-2016, โรคโปลิโอในปี 2014, ไวรัสซิกาในปี2016 และการระบาดซ้ำของโรคอีโบลาในประเทศคองโกปี 2019 ซึ่งกรณีคองโกนั้น WHO ใช้เวลาการพิจารณานานถึง 1 ปี จึงตัดสินใจประกาศ
อย่างไรก็ดี คำประกาศของ WHO อาจทำให้บางประเทศอย่าง ไต้หวัน ตกอยู่ในสภาวะ"กลืนไม่เข้าคายไม่ออก" เนื่องจาก ไต้หวันไม่ได้เป็นสมาชิกภาคี WHO (อีกทั้งไม่ได้เป็นสมาชิก UN) ด้วยเหุผลทางการเมือง ที่จีนมองว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่ง ทำให้ไต้หวันซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่พบผู้ติดเชื้อ อาจไม่ได้รับการแชร์ข้อมูลหรือหารือถึงการระบาดเฉกร่วมกับนานาชาติ
เรื่องนี้ด้าน ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า ไต้หวันจำเป็นต้องได้เข้าร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ