posttoday

ภัยเงียบจากโควิดไม่แสดงอาการ ชื่อนี้ต้องจำไว้ Asymptomatic

07 เมษายน 2563

จงหนานซาน ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจของจีนเผยว่า ผู้ป่วยโควิดที่ไม่แสดงอาการ 1 คน อาจนำเชื้อไปติดคนอื่นได้อีก 3-3.5 คน

หลังจากที่สหรัฐพบว่าผู้ป่วย Covid-19 ราว 1 ใน 4 ไม่แสดงอาการใดๆ เลย ทางการจีนก็เริ่มหันมาใส่ใจกับการติดตามผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างจริงจัง เพราะกังวลว่าจะเกิดการแพร่ระบาดระลอกที่สอง โดยจีนเพิ่งประกาศจำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสที่ไม่แสดงอาการเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เม.ย. จากที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้รวมผู้ป่วยกลุ่มนี้ไว้ในจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการ

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดของ Covid-19 เป็นเรื่องท้าทายก็คือ การแพร่เชื้อของผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ (asymptomatic) และการแพร่เชื้อก่อนแสดงอาการ (presymptomatic) เพราะหากติดเชื้อ ผู้ป่วยอาจแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ก่อนที่จะรู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อด้วยซ้ำ

เคสแรกที่ยืนยันว่าผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการสามารถแพร่เชื้อโคโรนาไวรัสให้ผู้อื่นได้ตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือน ก.พ. เป็นหญิงวัย 20 ปีจากเมืองอู่ฮั่นของจีนที่แพร่เชื้อให้สมาชิกในครอบครัว 5 รายทั้งที่เธอไม่มีอาการป่วยเลย

และเมื่อเร็วๆ นี้ โรเบิร์ต เรดฟิลด์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (CDC) เผยกับสำนักข่าว NPR ว่า ผู้ป่วย Covid-19 ในสหรัฐราว 1 ใน 4 ไม่แสดงอาการ และคนเหล่านี้สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ อย่างในกรณีของรัฐแมสซาชูเซตส์ที่มีอย่างน้อย  82 เคสที่เริ่มจากผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ

ผู้เชี่ยวชาญที่ให้สัมภาษณ์กับ CNN ระบุตรงกันว่า แม้ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการแพร่เชื้อของผู้ป่วยที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการมีสัดส่วนเท่าใด แต่ชัดเจนแล้วว่าผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการมีส่วนทำให้เกิดการแพร่ระบาดมากกว่าที่คิด

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจากนานาประเทศที่ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ แซนดรา ซีเช็ก ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ระบาดวิทยาในเมืองแฟรงเฟิร์ตของเยอรมนี ที่ทำการทดสอบการติดเชื้อผู้โดยสารที่นั่งเครื่องบินกลับจากอิสราเอล 24 ราย พบว่า 7 รายติดเชื้อ และในจำนวนนี้ 4 รายไม่แสดงอาการ

และที่น่าตกใจคือ ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการกลับมีความเข้มข้นของเชื้อโคโรนาไวรัสในสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ (viral load) มากกว่าผู้ป่วยที่แสดงอาการ (ยิ่งเข้มข้นมากยิ่งมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นสูง)

ก่อนหน้านี้การศึกษาแบบเป็นกลุ่มใหญ่ในเมืองเทียนจินของจีนและสิงคโปร์เมื่อเดือน ม.ค. และ ก.พ.ที่ตีพิมพ์ใน MedRxiv คลังเก็บงานวิจัยทางวิชาการที่รอการตีพิมพ์เผยแพร่ ยังพบการแพร่เชื้อของผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ โดย 48-66% ของกลุ่มผู้ป่วย 91 รายในสิงคโปร์ได้รับเชื้อจากผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ และ 62-77% ของผู้ป่วย 135 รายในเทียนจินได้รับเชื้อจากผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ

และที่น่ากังวลกว่านั้นคือ ระยะที่ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้มากที่สุดก็คือช่วงที่ติดเชื้อระยะแรก

การศึกษาผู้ป่วย Covid-19 23 รายในโรงพยาบาลฮ่องกง 2 แห่งพบว่าปริมาณความเข้มข้นของเชื้อโคโรนาไวรัสในสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจจะสูงสุดในช่วงสัปดาห์แรกของการติดเชื้อ และจะค่อยๆ ลดลงหลังจากนั้น เช่นเดียวกับงานวิจัยผู้ป่วย 94 รายที่เมืองกวางโจว

ผิดกับโรคซาร์สที่ระบาดเมื่อปี 2002-2003 ผู้ป้วยต้องมีอาการแล้วอย่างน้อย 7-10 วันจึงจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้

แม้ผู้เชี่ยวชาญและการวิจัยจะชี้ตรงกันว่าผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่ามีอัตราการแพร่เชื้อมากน้อยแค่ไหน ทว่า จงหนานซาน ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจของจีนเผยว่า ผู้ป่วย 1 คน อาจนำเชื้อไปติดคนอื่นได้อีก 3-3.5 คน

ผลการวิจัยเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า การแยกแยะผู้ป่วย Covid-19 โดยอาศัยอาการที่แสดงเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ

หลายประเทศที่สามารถควบคุมไม่ให้เชื้อโคโรนาไวรัสแพร่ระบาดในวงกว้าง อาทิ เกาหลีใต้ ใช้วิธีการตรวจและติดตามผู้ติดเชื้อเชิงรุก 

เพราะตราบใดที่มีการตรวจการติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ก็จะพบเคสผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการได้รวดเร็ว ความเสี่ยงที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะแพร่เชื้อก็ลดลง