posttoday

กาฬโรคฆ่าชาวโลกนับสิบล้าน แต่ไทยตายแค่หลักสิบเพราะอะไร?

08 กรกฎาคม 2563

ความมีประสิทธิภาพของรัฐบาลสยามได้รับการยอมรับจากนักวิชาการด้านการแพทย์ในยุคนั้น

ประเทศไทยเคยถูกกาฬโรคเล่นงานมาแล้วเมื่อปี 1904 (พ.ศ. 2447) เป็นส่วนของการระบาดระลอกที่ 3 ที่เริ่มจากมณฑลยูนนานในประเทศจีนแล้วลามไปประเทศต่างๆ ทั่วโลกในอินเดียมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด

ในรายงานงานเรื่อง Siam: Report from Bangkok. History of Plague Outbreak (สยาม: รายงานจากรุงเทพ ประวัติศาสตร์การระบาดของกาฬโรค) ระบุว่ากรุงเทพฯ พบการระบาดเพียงเล็กน้อย แต่มีรายงานการพบผู้ป่วยปริศนาที่ทำให้คนกรุงเทพฯ ต้องตื่นตัวเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1904 (พ.ศ. 2447) ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในวันนั้นมีรายงานพบคนตายในแถบที่อยู่ของคนอินเดียในอาณัติของอังกฤษผู้เสียชีวิตมีอาการไข้สูงแล้วเสียชีวิตในเวลาเพียง 36 ชั่วโมงหลังจากนั้นแต่ไม่พบอาการอักเสบเป็นตุ่มใหญ่ที่ขาหนีบซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของกาฬโรค

แต่เมื่อเจ้าหน้าสืบไปเรื่อยๆ พบว่ามีคนไทยคนหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ ย่านของคนอินเดียตายลักษณะเดียวกันและพบไข่ดันขาหนีบนูนขึ้นมา และยังพบหนูตายผิดปกติเป็นจำนวนมากในช่วง 1 - 2 สัปดาห์

เจ้าหน้าที่จำทำการกักกันที่ติดเชื้อมีการรื้อบ้านเรือนที่สกปรกโสโครกแล้วไปเผาทิ้ง บ้านไหนที่พบผู้เสียชีวิตต้องสงสัยจะถูกรื้อแล้วเผาทิ้งทันทีรวมถึงสิ่งของในบ้านด้วย แต่ทางการสยามจ่ายค่าชดเชยให้และจัดหาที่อยู่ชั่วคราวให้

นอกจากนี้ยัง ให้รางวัลผู้ที่จับหนูมาส่งที่สถานีตำรวจไม่ว่าจะเป็นจับเป็นหรือตาย ปรากฏว่าในช่วงเวลา 2 เดือนมีหนูถูกทำลายไป 150,000 ตัว

ในระยะกักกันโรคที่กรุงเทพฯ ปีนั้นมีคนเสียชีวิตในเขตกักกัน 11 ราย แต่ก่อนที่จะมีการกักกันโรค มีผู้หญิงชาวไทยคนหนึ่งอยู่กับผู้เสียชีวิคนหนึ่งแล้วเกิดกลัวขึ้นมาจึงหนีไปฝั่งธนบุรี จากนั้นก็ล้มป่วยแล้วเสียชีวิต กว่าเจ้าหน้าที่จะทราบหญิงคนนี้ก็เสียชีวิตไปแล้ว เจ้าหน้าที่จึงต้องตามตัวคนที่ติดต่อกับหญิงคนนี้มากักตัวไว้ทั้งหมดแล้วทำการฆ่าเชื้อบ้าน

10 วันหลังจากพบเคสผู้ติดเชื้อคนสุดท้าย ทางการสยามก็รื้อเขตกักกันออก แต่ในวันต่อมานั้นเองก็เกิด "ระลอกสอง" ขึ้นในทันที โดยพบผู้เสียชีวิตในที่กักกันที่เพิ่งรื้อไปนั่นเองโดยผู้ติดเชื้อเป็นชายหนุ่มชาวไทยอายุ 21 ปีที่อาศัยในเขตชาวอินเดีย

แต่ทางการไม่ได้กักกันต่อและไม่พบผู้ติดเชื้อในระยะ 21 วันต่อมาแต่แล้วก็พบอีกหลังจากนั้นในพื้นที่เดิมเมื่อวันที่ 22 มกราคม 1905 (พ.ศ. 2448) และพบอีกในวันที่ 11 และ 17 กุมภาพันธ์ 1905 ในพื้นที่ใกล้เคียงกับย่านชาวอินเดีย กรณีเหล่านี้พบหลังจากมีการตายอย่างผิดปกติของหนูในพื้นที่

แต่โดยสรุปแล้วกาฬโรคในประเทศสยามก็จบลงแบบไม่มีการตายหมู่มีการติดเชื้อ 29 รายเสียชีวิต 23 รายอัตราการเสียชีวิต 79% และเกิดช่วงเดียวกับกาฬโรคระบาดในเอเชียตะวันออก แต่ไม่พบว่ากาฬโรคเข้ากรุงเทพฯ โดยเส้นทางใด

รายงานชิ้นนี้ประเมินความสำเร็จของการควบคุมกาฬโรคในสยามไว้ว่า รัฐบาลสยามรับมือได้ดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่าจะต้องใช้มาตรการที่ฉับไว จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชการที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุข มีอำนาจเต็มที่และให้กรมตำรวจขึ้นตรงกับข้าราชการหน่วยงานนี้

แต่ประชาชนชาวสยามโดยทั่วไปตื่นกลัวจนกลายเป็นความตื่นตระหนก มีการปล่อยข่าวลือไปทั่วพระนครว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุข (เช่น กรมพยาบาล) ลักพาตัวผู้หญิงและเด็กไปที่โรงพยาบาลโรคระบาดจากนั้นเอาน้ำแข็งวางไว้บนหน้าอกจนกว่าจะตาย จากนั้นผ่าอกของศพแล้วเอาดีออกมาทำตัวยาพิษเพื่อเอาไว้ใช้ฆ่าคน

ข่าวลือพวกนี้ทำให้ชีวิตของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตกอยู่ในความเสี่ยงเพราะถูกขู่ทำร้ายจนต้องมีการจัดตำรวจไว้คอยดูแลความปลอดภัย

ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการชี้แจงให้พสกนิกรชาวสยามได้เข้าใจเรื่องกาฬโรคและกระบวนการป้องกันโรค ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจยิ่ง เพราะนอกจากประชาชนจะเข้าใจมากขึ้นแล้วยังมีการลงโทษผู้ปล่อยข่าวลือ ทำให้เรื่องตื่นตระหนกซาไปในเวลา 2 สัปดาห์

เราจะเห็นว่าความสำเร็จของการควบคุมกาฬโรคไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการตอบรับสถานการณ์ที่ฉับไวของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและรัฐบาลสยาม มีการกักกันโรคที่เข้มงวด มีการติดตามตัวผู้ที่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ และมีการแก้ไข Fake News เพื่อลดความตื่นตระหนกและสิ่งที่จะบั่นทอนการทำงานของเจ้าหน้าที่

บทเรียนเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว และยังคล้ายกับปัจจุบันอย่างน่าแปลกใจ แสดงถึงความทันสมัยของรัฐบาลสยามต่อการรับมือกับโรคระบาดระดับโลก และความสำเร็จนี้ยังสะท้อนมาถึงระดับความสำเร็จของไทยในการระบาดของโควิด-19 ด้วย

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ Fake News ยัวคงเป็นภัยคุกคามของการควบคุมโรคระบาดตั้งแต่อดีตขจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างการจัดการ Fake News เมื่อร้อยปีก่อนในประเทศสยาม เพื่อหยุดยั้งความตื่นตระหนกของประชาชนและมีผลทำให้การสกัดกาฬโรคประสบความสำเร็จในที่สุด

ประกาศห้ามคนตื่นเรื่องแพทย์ตรวจป้องกันกาฬโรค

(ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ร.ศ 123)

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ขอประกาศให้มหาชนทราบว่า

ในการที่เกิดมีไข้กาฬโรคขึ้นที่ตำบลตึกแดง ทรงมีพระราชดำริห์ว่า ไข้ชนิดนี้เป็นโรคอย่างร้ายเรง ตายรวดเร็วมากกว่ารักษาหาย และทั้งเป็นโรคที่ติดต่อกันง่ายด้วย แม้บ้านเรือนใดมีคนเป็นไข้กาฬโรคขึ้นแล้ว ครอบครัวคนในบ้านเรือนนั้นที่ยอมจะเป็นติดต่อกันไปมีอันตรายถึงแก่ชีวิตมากขึ้น และไข้นั้นอาจแพร่หลายถึงคนที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงต่อๆ กันไปอีกด้วย

โดยทรงพระมหากรุณาแก่อาณาประชาราษฎร เพื่อจะให้พ้นกาลมรณภัยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์สุขาภิบาลพร้อมด้วยเจ้าพนักงานกองตระเวน ตรวจตราคนป่วยเป็นไข้กาฬโรคนี้มีขึ้นที่ใดแห่งตำบลใด ก็ให้รีบรับไปช่วยรักษาพยาบาล เพื่อจะไม่ให้ไข้นั้นติดลุกลามเป็นอันตรายทั้งครอบครัวและแพร่หลายถึงเพื่อนบ้านใกล้เคียงต่อ ๆ กันไป

แต่ราษฎรบางคนบางหมู่ไม่ทราบความประสงค์และความช่วยป้องกันโรคแพร่หลาย ซึ่งเจ้าพนักงานแพทย์ตรวจตราจัดการนั้น พากันบอกกล่าวหรือเล่ากันต่อๆ ไปว่าหมอฝรั่งตรวจจะจับตัวคนอ้วนหรือคนผอมเกินไปโดยไม่ป่วยไข้เลย ว่าเป็นคนป่วย หรือจับเอาตัวคนป่วยไปโรงพยาบาลเอาน้ำแข็งทับหรือเอายาทาเสียให้ตายหรืออันใดอื่นๆ อันไม่เข้าทางรักษาพยาบาลเลย จนพากันกันตื่นตกใจทั่วทั้งพระนครนั้น เป็นความหาจริงตามค่ากล่าวหรือคำเล่าลือกันผิดๆ นั้นไม่

ความจริงที่เจ้าพนักงานแพทย์ตรวจตราจัดการป้องกันกาฬโรคมีอยู่ในกระแสร์พระบรมราชโองการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศจัดการป้องกันกาฬโรค ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก 123 นั้นแล้ว

อย่าให้ราษฎรพากันตื่นตกใจเชื่อถือถ้อยคำเล่าลือหรือบอกเล่ากันผิดๆ นั้นเลย ให้พร้อมกันปฏิบัติตามกระแสร์พระบรมราชโองการซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานจัดการช่วยพยาบาลไข้กาฬโรค มีข้อความบรรยายไว้ในประกาศนั้นโดยพิสดารอยู่แล้ว

ประกาศ ณ วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก 123

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

 ภาพ "หมัด" จากหนังสือ Micrographia เมื่อปี 1665 (public domain)