ในประเทศนี้ ตำรวจจะหุบปากเมื่อพวกเดียวกันทำความผิด
แต่เมื่อคนมีสีทำผิดในอเมริกาพวกเขาจะไม่ปล่อยมันเอาไว้ นี่คือวิธีกำจัดความฉ้อฉลในวงการตำรวจที่นั่น
1. ความฉ้อฉลในวงการตำรวจไม่ได้มีแค่ในเมืองไทย แต่เกิดขึ้นทั่วไป และไม่ได้หมายความว่าวงการนี้มีแต่คนไม่ดี เพียงแต่คนดีมักถูกคนไม่ดีปิดปากและยังมีระบบที่เอื้อให้การทำชั่วร้ายสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
2. ในสหรัฐมีคำว่า Blue wall of silence หรือ กำแพงสีน้ำเงินที่เงียบงัน สีน้ำเงินหมายถึงสีของตำรวจและความเงียบหมายถึงตำรวจที่จะไม่ยอมปริปากหากพวกพ้องตัวเองทำผิด ถ้ามีคนแฉคนๆ นั้นจะถูกคุกคามและบีบให้ต้องออกจากการเป็นตำรวจไป
3. เรื่องนี้มีมาตั้งแต่ยุคของแนปป์และมอลเลนและมีความพยายามจะแก้ไขมาหลายครั้ง แต่จนถึงทุกวันนี้มันก็ยังมีอยู่และเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประชาชนไว้เนื้อเชื่อใจตำรวจ แต่ตำรวจเลิกธรรมเนียมนี้ไม่ได้เพราะมันคือวัฒนธรรมองค์การ
4. วัฒนธรรมตำรวจ (cop culture) เกิดขึ้นจากแต่ละหน่วย (หรือสน.) มีวิธีการปฏิบัติในหมู่เหล่าต่างๆ กันไปเรียกว่า blue code ตำรวจในองค์กรนั้นๆ จะเรียนรู้ธรรมเนียมของหน่วยซึ่งมีทั้งวิธีการจับกุมและดำเนินคดีไปจนถึงค่านิยมในหมู่เหล่า ทำให้เกิดความรู้สึกไม่อาจจะขัดขืนหมู่เหล่าได้เพราะจะถูกอัปเปหิออกจากหมู่เหล่า
5. ตำรวจจึงมีทัศนคติแบบ "พวกข้าร่วมเผชิญหน้ากับพวกมัน" (us-against-them) คือพรรคพวกต้องมาก่อนและคนนอกที่ต่อต้าน "พวกข้า" คือศัตรู วิธีคิดแบบนี้ทำให้ตำรวจช่วยพวกเดียวกันเอง และจะไม่ไล่ล่าตำรวจพวกเดียวกันเองเพื่อเกิดเรื่องไม่ดีไม่งามขึ้นมา และเมื่อมีคนปากโป้งคนๆ นั้นจะอยู่ไม่ได้
6. ตัวอย่างเช่น ตำรวจมีอำนาจในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนการกระทำความผิดตำรวจด้วยกันเอง ซึ่งในสายตาประชาชนอเมริกันมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่โปร่งใส จากการสำรวจความเห็นของ Cato Institute จึงพบว่า 79% ของคนอเมริกันต้องการให้ตั้ง "หน่วยนอก" ที่จะสอบวงในตำรวจอย่างเป็นอิสระแทนที่จะให้ตำรวจจัดการกันเอง
7. ในเมืองไทยก็อาจมี Blue wall of silence เหมือนกันและควรจะเรียกว่า "กำแพงสีกากีที่เงียบงัน" เวลาที่ตำรวจด้วยกันเรื่องเรื่องอันเลวร้ายแต่ตำรวจด้วยกันทำเป็นมองไม่เห็น เหมือนที่บางคนบอกว่า "ตำรวจมักจะช่วยพวกเดียวกันเอง"
8. แล้วเราจะแก้ปัญหาได้หรือไม่? บทความนี้จะยกตัวอย่างการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในวงการคนมีสีในสหรัฐที่มีปัญหาคล้ายๆ กับไทย ซึ่งเกิดจากทัศนะคติของตำรวจที่มัปกปิดความผิดของพวกเดียวกันเอง แต่เมื่อสหรัฐเอ่ยคำว่าปฏิรูปมันจะตามมาด้วยการปฏิรูปจริงๆ ไม่ใช่แค่การพูดแล้วผลักดันแผนการที่เลื่อนลอย
9. การปฏิรูปในสหรัฐทำกันเป็นยกๆ ในระยะ 2 - 3 ทศวรรษเพราะแต่ละยุคสมัยมีปัญหาที่แตกต่างกันไป ดังนั้นภารกิจของการปฏิรูปจะทำแบบม้วนเดียวจบไม่ได้ แต่เป็นภารกิจที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
10. การปฏิรูปในสหรัฐครั้งแรกๆ คือเมื่อปี 1967 สมัยประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน ตั้งคณะกรรมาธิการแคตเซนแบค (Katzenbach Commission) เพื่อศึกษากระบวนการการยุติธรรมของสหรัฐ แต่รายงานเสนอแนะให้ปฏิรูปองค์กรตำรวจเพื่อรับมือกับอาชญากรรมยาเสพติดเป็นหลัก ไม่ใช่ปัญหาในองค์กรตำรวจ
11. การปฏิรูปองค์กรตำรวจครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 1970 หลังการเปิดโปงความฉ้อฉลในวงการตำรวจนิวยอร์กโดยแฟรงค์ เซอร์ปิโก (Frank Serpico) ซึ่งเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบในนิวยอร์กและเคยรายงานหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่ามีการทุจริตในองค์กรตำรวจอย่างกว้างขวางและไม่เห็นผลใดๆ
12. จนกระทั่งเซอร์ปิโกแฉเรื่องนี้กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สและเดอะไทม์ตีพิมพ์เรื่องนี้ในวันที่ 25 เมษายน 1970 ทำให้คนทั้งประเทศสนใจและทำให้นายกเทศมนตรีจอห์น โวลต์ ลินด์ซีย์แต่งตั้งคณะกรรมการห้าคนเพื่อสอบสวนข้อกล่าวหาการทุจริตของตำรวจ
13. คณะกรรมาธิการแนปป์ (Knapp Commission) ซึ่งตั้งชื่อตามประธานคือวิทแมน แนป เริ่มการสอบสวนความไม่ชอบมาพากลในวงการตำรวนในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน แต่ก่อนที่พยานจะเริ่มให้ปากคำก็เกิดเรื่องเสียก่อน
14. เซอร์ปิโกที่เป็นผู้เปิดโปงเรื่องนี้พยายามหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์จนพบกับจ่าเดวิด เดิร์ก ซึ่งร่วมมือกันเพื่อโค่นวงการตำรวจฉาว แต่เซอร์ปิดโกสงสัยว่าเพื่อนตำรวจคนอื่นๆ น่าจะรู้ว่าเขาติดต่อกับเจ้าหน้าที่สืบสวน นั่นก็เพราะเขาทำตัวนอกรีตจาก blue code
15. ผู้ที่ละเมิด blue code หากเบาะๆ ก็จะถูกขับออกจากหมู่เหล่า แต่หากมันคุกคามหมู่เหล่าก็อาจจะต้อง "เก็บ" ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1971 เซอร์ปิโกไปจับคนค้ายาที่บรูคลินโดยมีตำรวจท้องถิ่นไปด้วย แต่ระหว่างจับกุมเขาถูกผู้ต้องสงสัยยิงเข้าเต็มหน้า แต่เมื่อเรียกตำรวจคนอื่นให้มาช่วยก็ไม่มีใครช่วยและยังไม่แจ้งหน่วยสนับสนุน
16. สถานการณ์แวดล้อมชวนให้คิดว่าของการยิงเซอร์ปิโกเป็นการล่อให้เขาไปถูกยิงปิดปากโดยอำพรางว่าเป็นการเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ และเรื่องนี้ยังไม่มีการสอบสวนอย่างเป็นทางการ อีกทั้งตอนอยู่ที่โรงพยาบาลกรมตำรวจรังควานเขาด้วยจัดตำรวจมาสอดส่องที่เตียงทุกชั่วโมง
17. เซอร์ปิโกจึงออกมาให้การกับคณะกรรมาธิการแนปป์ และSerpico เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจคนแรกในประวัติศาสตร์ของกรมตำรวจนครนิวยอร์กออกมาเปิดโปงเรื่องฉ้อฉลและต่อมายังเป็นพยานอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับการติดสินบนการคอร์รัปชั่นที่แพร่หลายและเป็นระบบซึ่งมีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์
18. คณะกรรมาธิการแนปป์พบปัญหาในวงการตำรวจจริงๆ แต่ให้วิธีแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ประเด็นที่น่าสนใจคือรายงานระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจทุจริตสองประเภท คือพวก "Grass Eaters" (ทุจริตเล็กน้อยภายใต้แรงกดดันจากเพื่อน) และพวก "Meat Eaters" (ทุจริตรุนแรงและใตร่ตรองไว้แล้ว)
19. "Meat Eaters" คือตำรวจที่คอยหาโอกาสแสวงหาประโยชน์ทางการเงิน โดยมักจะหากินกับแมงดาและพ่อค้ายาเสพติดที่ผิดกฎหมาย โดยลึกๆ แล้วคิดว่าอาชญากรประเภทนี้เป็นขยะของสังคมและสมควรได้รับการปฏิบัติอย่างนั้น
20. "Grass Eaters" หมายถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มักจะขอไม่มากนักจากผู้รับเหมา พวกคนขับรถบรรทุก หรือคดีการพนัน และคดีอื่นๆ ที่คล้ายกันแต่ไม่ได้มุ่งเงินทุจริตก้อนใหญ่ ตำรวจส่วนใหญ่เป็นพวกนี้
21. คณะกรรมาธิการยังสรุปว่า Grass Eaters คือธรรมเนียมที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในนครนิวยอร์กใช้พิสูจน์ความจงรักภักดีต่อพี่น้องและยังช่วยให้ได้งานนอกมาทำด้วย พวกนี้ทำตาม blue code คือ "ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน" เพราะมันคือ code หรือค่านิยมที่เชื่อว่าพวกพ้องว่าถูกก็ถูก คนนอกว่าอย่างไรไม่สนใจ
22. วิธีหนึ่งในการป้องกันไม่ให้ตำรวจต้องกลายเป็นพวกฉ้อฉลคือการกำจัดขั้นตอนนี้โดยการจัดการตำรวจรุ่นเก่าที่สอนเรื่อง blue code ออกไป เพราะคนพวกนี้จะสอนรุ่นน้องให้ทำผิด เมื่อไม่มีรุ่นเก่าสอนให้ทำผิด รุ่นใหม่ก็จะไม่ทำผิด
23. แต่การปฏิรูปในยุคแนปป์ยังไม่พอ สหรัฐต้องตั้งคณะกรรมาการอีกตามยุคสมัย เช่นในทศวรรษที่ 90 คือ คณะกรรมาธิการมอลเลน (Mollen Commission) ซึ่งจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สระบุว่าคณะกรรมการพิเศษพบว่ากรมตำรวจนครนิวยอร์กล้มเหลวในทุกระดับในการแก้ปัญหาคอรัปชั่นและต่อต้านวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการประพฤติมิชอบและปกปิดการละเมิดกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ
24. รายงานระบุว่า "การทุจริตในวันนี้ไม่ใช่การทุจริตในยุคคณะกรรมการแนป การทุจริตนั้นส่วนใหญ่เป็นการทุจริตที่เอื้อต่ออาชญากรและเจ้าหน้าที่ตำรวจให้และรับสินบนการซื้อและขายการปกป้องอาชญากร การทุจริตเป็นสิ่งที่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจของตำรวจและอาญากร การคอร์รัปชั่นในวันนี้มีลักษณะของความโหดร้าย การโจรกรรม การใช้อำนาจในทางที่ผิด และการที่ทำตรวจเป็นอาชญากรเสียเองอย่างแพร่หลาย"
25. จะเห็นได้ว่าเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย การฉ้อฉลก็วิวัฒนาการตามไปด้วย จากการโกงเล็กโกงน้อยในทศวรรษที่ 70 ก็กลายเป็นการร่วมมือกันระหว่างตำรวจกับอาชญากรและยังช่วยปกปิดความผิดของตำรวจด้วยกันเองหนักขึ้นอีกด้วย
26. หลังจากคณะกรรมาธิการมอลเลนแล้วสหรัฐก็ยังมีการปฏิรูปตำรวจอีกหลายยก และมีความพยายามของตำรวจที่จะแก้ไขตัวเอง แต่ในระยะหลังตำรวจมักมีปัญหาการใช้อำนาจเกินขอบเขต โดยเฉพาะการเพ่งเล็งคนผิวดำมากเป็นพิเศษ
27. ในช่วงทศวรรษที่ 2010 จนถึงปัจจุบันปัญหาของตำรวจสหรัฐไม่ใช่การกินเล็กกินน้อยหรือร่วมมือกับอาชญากรอีก แต่เป็นการทำร้ายคนผิวดำเกินกว่าเหตุ เกิดการวิสามัญฆาตกรรมคนผิวดำหลายกรณีและเป็นเป็นเหตุให้เกิดการจลาจลสีผิวหลายครั้ง
28. ล่าสุดคือการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ทำให้กระแสกดดันตำรวจอเมริกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน และเกิดกระแสเรียกร้องให้ลดงบประมาณตำรวจลงแล้วนำงบประมาณนั้นมาใช้เพื่อสร้างสวัสดิการสังคมเพื่อบ่มเพาะคนดีในสังคม แทนที่จะปล่อยให้ประชาชนอดๆ อยากๆ แล้วตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของตำรวจ
29. ในทศวรรษหลังๆ ตำรวจสหรัฐได้รับงบประมาณมากขึ้นและอาวุธที่ร้ายแรงมากขึ้นในการจัดการกับอาชญากรรม แต่อาชญากรรมส่วนใหญ่มาจากคนยากจนที่เป็นคนผิวดำและลาติโน การให้เงินตำรวจมากขึ้นอาจลดปัญหาคอร์รัปชั่นลง
แต่มันทำให้ตำรวจสร้างผลงานด้วยการจับคนมากขึ้นแม้จะเป็นโทษเล็กน้อยก็ตาม
Photo by TIMOTHY A. CLARY / AFP