ชูสามนิ้วเพื่ออะไร ความนัยจากหนังที่สั่นสะเทือนประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ความนัยจากภาพยนตร์และนิยายในตอนท้ายนั้นยังอาจสะท้อนวังวนของอำนาจได้เช่นกัน
1. การชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์ของขบวนต่อต้านรัฐบาลในประเทศไทยมานานหลายปีแล้ว และเคยเป็นข่าวดังไปทั่วโลกเมื่อนักเคลื่อนไหวในไทยชูสามนิ้วเพื่อต้านการรัฐประหารในปี 2557 ระหว่างการเข้าฉายของ The Hunger Games: Mockingjay ในไทย หลังจากนั้นมันถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ต่อต้าน "รัฐบาลทหาร" เรื่อยมา จนได้รับความสนใจจากสาธารณชนส่วนใหญ่อีกครั้ง เพราะขนาดของการชุมนุมที่ใหญ่ขึ้นและแตะต้องประเด็นใหญ่มากขึ้น
2. แต่การชูสามนิ้วมาจากไหน หลายคนที่เป็นคอภาพยนตร์เห็นแล้วรู้ในทันทีว่ามันมาจากภาพยนตร์ไตรภาค The Hunger Games (และนิยายไตรภาคชื่อเดียวกัน) เป็นสัญลักษณ์ที่เรียกว่า Three Finger Salute (วันทยาหัตถ์สามนิ้ว)
3. ก่อนอื่นต้องเข้าใจเบื้องหลังคร่าวๆ ของหนัง/นิยายก่อน ฉากหลังคือประเทศที่ชื่อพาเน็ม ซึ่งก่อตั้งขึ้นในทวีปอเมริกาเหนือหลังจากเหตุการณ์ล้างโลก ประเทศนี้แบ่งออกเป็น 13 เขตที่ต้องทำงานเพื่อปรนเปรอให้เมืองหลวง (Capitol)
4. เขตเหล่านี้เคยก่อกบฎขึ้นแต่ถูกปราบได้ทำให้เขตที่ 13 ถูกทำลายจนหมดสิ้น เขตที่เหลืออยู่ถูกลงโทษจากเมืองหลวงให้ต้องจับสลากเพื่อส่งตัวแทนเป็นเด็กหนุ่มสาววัย 12 - 18 ปี มาแข่งเกมส์ชิงไหวชิงพริบที่ชื่อ "เกมล่าชีวิต" หรือ Hunger Games ซึ่งจะตัวแทนจะต้องฆ่ากันเองให้เหลือแค่คนเดียวเท่านั้นที่รอดชีวิตได้
5. เนื้อเรื่องของหนัง/นิยายวนเวียนอยู่กับตัวเอกและตัวแทนจากเขตที่ 12 ที่ชื่อ "แคตนิส เอฟเวอร์ดีน" เขตที่ 12 มีธรรมเนียมการชูสามนิ้ว หรือ Three Finger Salute เวลาต้องกล่าวขอบคุณหรือแสดงความชื่นชมและเคารพ หรือบอกลาคนที่รัก
6. เมื่อแคตนิส เอฟเวอร์ดีนอาสาที่จะไปเล่นเกมล่าชีวิตแทนที่น้องสาวที่จับสลากได้ เธอขึ้นไปบนเวทีในฐานะตัวแทนเขต เมื่อเจ้าหน้าที่ขอให้ปรบมือ สมาชิกเขต 12 กลับแสดงความชื่นชมด้วยการชูสามนิ้ว และมันยังเป็นการบอกลาเธอกลายๆ ด้วย
7. ใน The Hunger Games แคตนิส เอฟเวอร์ดีน อธิบายไว้ว่า "มันเป็นการแสดงสัญลักษณ์ตั้งแต่สมัยก่อนและไม่ค่อยได้ใช้ในเขตของเรา มีให้เห็นเป็นครั้งคราวในงานศพ หมายความว่าขอบคุณ หมายถึงการชื่นชม หมายถึงการบอกลาคนที่คุณรัก"
8. ในนิยายสัญลักษณ์แทนการอำลายังชัดเจนตอนที่เมื่อ "รูว์" สหายร่วมตายของแคตนิส เอฟเวอร์ดีนถูกฆ่า เธอช่วยล้างแค้นให้รูว์แล้วจัดศพให้สวยงาม จากนั้นชูสามนิ้วเป็นการไว้อาลัย
9. แต่ในภาพยนตร์ฉากนี้ถูกตีความใหม่ เมื่อแคตนิส เอฟเวอร์ดีนชูสามนิ้วไว้อาลัยรูว์ เธอหันหน้าประจันกลับกล้องที่ถ่ายทอดสด เพื่อแสดงความเคารพชาวเขตที่ 11 ซึ่งเป็นเขตของรูว์ หลังจากนั้นชาวเขตที่ 11 ก็ก่อการขัดขืนขึ้นมา
10. ในภาคที่สอง คือ Catching Fire การชูสามนิ้วเปลี่ยนความนัยชัดเจนขึ้นเป็นการแสดงความขัดขืนต่อส่วนกลางมากว่าจะแสดงความเคารพหรืออาลัย เช่น เมื่อตอนที่แคตนิส เอฟเวอร์ดีนกับ "พีต้า" คู่หูที่ชนะเกมส์ในภาคแรกมาได้เดินทางเยือนเขตต่างๆ ในฐานะผู้ชนะ
11. เมื่อทั้งสองคนเดินทางไปเยือนเขตที่ 11 และกล่าวสุนทรพจน์กับเขตต่างๆ เมื่อพูดจบแล้ว ชาวเขตที่ 11 ก็แสดงพลังด้วยการชูสามนิ้ว แต่เจ้าหน้าที่พยายามขัดขวางด้วยจการฆ่าคนที่เริ่มต้นการชูสามนิ้ว
12. ดังนั้นการชูสามนิ้วจึงมีความหมายแรกเริ่มที่การ "หมายความว่าขอบคุณ หมายถึงการชื่นชม หมายถึงการบอกลาคนที่คุณรัก" และมักใช้ในงามศพ สะท้อนถึงความเศร้าและสิ้นหวังของคนเขตที่ 12 ที่ถูกกดขี่จากเมืองหลวง
13. แต่เมื่อเนื้อเรื่องเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ การชูสามนิ้วก็เปลี่ยนจากการแสดงความรักและอำลาเหมือนคนสิ้นหวัง กลายเป็นสัญลักษณ์ของการขัดขืนต่ออำนาจที่กดขี่ ซึ่งหากใช้ตามความหมายนี้ก็สอดคล้องกับเจตนาที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลในไทยนำมาใช้
14. อย่างไรก็ตาม ไตรภาคของ The Hunger Games ไม่ได้จบลงด้วยชัยชนะที่สวยงามของฝ่ายต่อต้าน มันยังสะท้อนถึงวังวนการใช้อำนาจเพื่อล้างแค้นกันและกัน
15. เมื่อ "เมืองหลวง" ถูกโค่นล้มลง แกนนำการลุกฮือคือประธานาธิบดีคอยน์แห่งเขตที่ 13 คิดจะจัดการแข่งเกมล่าชีวิตครั้งสุดท้ายขึ้นโดยใช้เด็กๆ ของชนชั้นสูงในเมืองหลวง เพื่อแก้แค้นที่พ่อแม่และบรรพบุรุษของคนเหล่านี้เอาชีวิตลูกหลานเขตอื่นๆ มาฆ่ากันเองเพื่อความสนุกสนาน
16. แต่แคตนิส เอฟเวอร์ดีนไม่สามารถทนเห็นเรื่องชั่วร้ายนี้ได้ เธอตระหนักว่าผู้โค่นเผด็จการคือเผด็จการคนใหม่ ในขณะที่กำลังจะประหารประธานาธิบดีคนก่อนแห่งเมืองหลวง เธอจึงฉวยโอกาสฆ่าประธานาธิบดีคอยน์เสีย
17. เผด็จการใหม่ตายไปพร้อมกับเผด็จการเก่า ที่ก่อนตายหัวเราะเหมือนเย้ยหยันเรื่องที่เกิดขึ้น
Photo: Wichan Charoenkiatpakul/Bangkok Post