ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่หวั่นไหวกับการท้าทายที่ต่างแดน
เรื่องราวหนึ่งหน้าในประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงน้ำพระทัยที่กว้างขวางของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อทรงเผชิญกับความท้าทายในต่างแดน
ในแต่ละครั้งของการเสด็จไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ต่อไปนี้จะขานพระนามว่าในหลวงรัชกาลที่ 9) ณ ต่างประเทศไม่ใช่ทุกครั้งที่จะทรงปฏิบัติพระราชภารกิจอย่างราบรื่น บางครั้งต้องทรงเผชิญกับการท้าทายของคนบางกลุ่ม เช่น กรณีที่เกิดขึ้นระหว่างเสด็จเยือนประเทศออสเตรเลีย พ.ศ. 2505
ในบทพระราชนิพนธ์ "ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ" ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งทรงเสด็จฯ ติดตามเคียงข้างในหลวงรัชกาลที่ 9 ตอนหนึ่งทรงเล่าถึงเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ออสเตรเลียว่ามีนักศึกษาแสดงอาการไม่ต้อนรับพระองค์และแสดงกริยาที่หยาบคายต่อหน้าต่อตา คือในพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ณ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น
เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเสด็จฯ ไปพระราชทานพระราชดำรัสที่เครื่องขยายเสียงกลางเวทีก็มีเสียงโห่ปนฮาดังขึ้นมาจากกลุ่มปัญญาชนข้างนอก สมเด็จพระพันปีหลวงทรงบันทึกไว้ว่า "ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามือเย็นเฉียบ หัวใจหวิวๆ อย่างไรพิกล รู้สึกสงสารพระเจ้าอยู่หัวจนทำอะไรไม่ถูก ไม่กล้าแม้แต่จะมองขึ้นดูพระพักตร์ท่านด้วยความสงสารและเห็นพระทัย ในที่สุดก็ฝืนใจมองขึ้นไปเพื่อถวายกำลังพระทัย"
แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแก้ไขสถานการณ์นี้ด้วยพระปฏิภาณที่แหลมคม สมเด็จพระพันปีหลวงทรงบันทึกไว้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตรัสแต่เพียงว่า “ขอขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอันมาก ในการต้อนรับอันอบอุ่นและสุภาพเรียบร้อยที่ท่านแสดงต่อแขกเมืองของท่าน” แม้จะทรงรับสั่งเพียงเท่านั้นเอง แต่ก็ทำให้เสียงรบกวนทั้งหลายเงียบลงทันที ทุกคนข้างนอกข้างในต่างนั่งฟังพระราชดำรัสเฉยท่าทางดูขบคิด
สมเด็จพระพันปีหลวงทรงบันทึกไว้ว่า "พระราชดำรัสวันนั้นดีมาก รับสั่งสดๆ โดยไม่ทรงใช้กระดาษเลย ทรงเล่าถึงวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของไทยเราว่า เรามีเอกราช มีภาษาของตนเอง มีตัวหนังสือซึ่งคิดค้นขึ้นใช้เอง เราตั้งบทกฎหมายการปกครองของเราเอง ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมา 700 ปีกว่ามาแล้ว ตอนนี้ข้าพเจ้าขำแทบแย่ เพราะหลังจากรับสั่งว่า 700 ปีกว่ามาแล้ว ทรงทำท่าเหมือนเพิ่งนึกออก ทรงสะดุ้งนิดๆ และทรงโค้งพระองค์อย่างสุภาพ เมื่อตรัสว่า ขอโทษลืมไป ตอนนั้นยังไม่มีประเทศออสเตรเลียเลย แล้วทรงเล่าต่อไปว่า แต่ไหนแต่ไรมา คนไทยเรามีน้ำใจกว้างขวาง พร้อมที่จะให้โอกาสคนอื่นและฟังความเห็นของเขา เพราะเรามักใช้ปัญญาขบคิด ไตร่ตรองหาเหตุผลก่อนจึงจะตัดสินว่าสิ่งไรเป็นอย่างไร ไม่สุ่มสี่สุ่มห้าตัดสินอะไรตามใจชอบ โดยไม่ใช้เหตุผล..."
สมเด็จพระพันปีหลวงทรงเล่าว่าเมื่อเสร็จพิธีแล้ว ผู้ร่วมในพิธีต่างเข้ามากราบบังคมทูลสรรเสริญถึงพระราชดำรัสนั้น และสำหรับกลุ่มนักศึกษาที่มีปฏิกิริยาเหล่านั้น ต่างก็มีอากัปกิริยาเปลี่ยนไปหมด บ้างก็มีสีหน้าเฉยๆ เจื่อนๆ ดูหลบพระเนตร ไม่มีการมองดูพระองค์อย่างประหลาดอีก แต่บางพวกก็มีน้ำใจเป็นนักกีฬาพอที่จะยิ้มแย้มแจ่มใส โบกมือและปรบมือให้แด่ทั้งสองพระองค์ตลอดทาง จนถึงที่รถพระที่นั่งจอดอยู่
กรณีที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นเป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากความพยายามขัดขวางและะก่อกวนในหลวงรัชกาลที่ 9 หลายครั้งโดยขบวนการนักศึกษาปัญญาชนในออสเตรเลีย ก่อนหน้านี้ ทรงมีกำหนดการณ์ที่จะเสด็จเยือนมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย หรือ ANU และจะทรงรับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
แต่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นเมื่อกำหนดการณ์สื่อในออสเตรเลียรายงานข่าวว่า ANU ปฏิเสธที่จะถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยอ้างว่า "ทรงไม่มีคุณสมบัติทางวิชาการพอ" และจากการเปิดเผยเรื่องนี้ระบุว่ารัฐบาลออสเตรเลียเป็นผู้ร้องขอให้ทาง ANU ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แต่มหาวิทยาลัยปฏิเสธ
ปรากฎว่ารัฐบาลออสเตรเลียถูกตั้งกระทู้ถามในที่ประชุมรัฐสภาว่าเหตุใดจึงปล่อยให้มหาวิทยาลัย ANU ปล่อยข้อมูลอันเป็นความลับไปถึงมือสื่อมวลชนได้ หนึ่งในผู้ตั้งกระทู้ถามอย่างเผ็ดร้อนคือเฟร็ด เดลี (Fred Daly) ผู้แทนจากพรรค Labor Party
เดลีกล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรออสเตรเลียว่ามหาวิทยาลัย ANU จงใจที่จะปล่อยความลับออกมาเพื่อที่จะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ และเขากล่าวว่าการที่มหาวิทยาลัยปฏิเสธที่จะไม่ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ถือเป็นเรื่องที่แย่อยู่แล้ว แต่ที่แย่ยิ่งกว่าคือการที่รัฐบาลปล่อยให้มหาวิทยาลัยปล่อยข้อมูลที่เป็นความลับออกมา
เดลีกล่าวว่า "ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเรื่องนี้จะกระทบเจตนาที่ดีของเราในเอเชีย มันจะไม่กระทบแค่รัฐบาลชุดนี้เท่านั้น แต่จะส่งผลสะเทือนไปทั่วเอเชีย" และเขายังถามว่าทำไมมหาวิทยาลัยถึงไม่ยอมถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และถามว่าหากมหาวิทยาลัยทำแบบนี้กับองค์พระประมุขของไทย มหาวิทยาลัยก็อาจจะปฏิเสธพระราชวงศ์อังกฤษด้วย (ซึ่งเป็นพระประมุขของออสเตรเลีย)
"หากพวกเขาทำแบบนี้กับพระมหากษัตริย์ของไทย พวกเขาก็คงทำแบบนี้กับพระบรมราชวงศ์อังกฤษได้เช่นกัน" เดลีกล่าว (ดูหนังสือพิมพ์ The Canberra Times พฤ. 16 ส.ค. 1962 Page 7 M.P. Angry on "Leak To Press" Questions On Degree For King)
ในเวลาต่อโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทยยืนยันว่ารัฐบาลไทยมิได้เป็นฝ่ายเรียกร้องให้ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แต่เป็นกิจการภายในของออสเตรเลียเอง และฝ่ายไทยยืนยันว่า การที่ ANU จะยืนยันไม่ถวายโดยอ้างเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยก็ถือเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญและเป็นเรื่องของ ANU เอง โดยไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐบาลไทยทั้งสิ้่น (ดูหนังสือพิมพ์ The Canberra Times (ACT : 1926 - 1995) ศ. 17 ส.ค. 1962 Page 3 DECREE "NOT SOUGHT)
กลับมาพิจารณาที่คำกล่าวของสมาชิกสภาฯ เดลีที่กล่าวว่า "ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเรื่องนี้จะกระทบเจตนาที่ของเราในเอเชีย" เรื่องนี้มีบริบทที่จะต้องพิจารณา และจะทำให้เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาของออสเตรเลียจึงรู้สึกเสียหน้าที่ ANU ตัดสินที่จะทำเช่นนั้น
ในเวลานั้นขบวนการนักศึกษาของออสเตรเลียได้รับอิทธิพลจากแนวคิดฝ่ายซ้าย (สังคมนิยม/คอมมิวนิสต์) และแนวคิดต่อต้านการใช้กำลังทหารของชาติตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขบวนการนักศึกษาในออสเตรเลียได้รับอิทธิพลจากขบวนการนักศึกษาในสหรัฐที่ต่อต้านสงครามเวียดนามและ "จักรพรรดินิยมอเมริกัน"
โดยเฉพาะที่ ANU บรรยากาศการต่อต้านอิทธิพลอเมริกันในเอเชียรุนแรงมาก ก่อนหน้าที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเสด็จเยือนออสเตรเลีย ขบวนการนักศึกษานักวิชาการที่นั่นประณามการก่อตั้งองค์การซีโต้ (องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ที่มีเจตนาเพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ในเอเชียและออสเตรเลีย โดยมีทฤษฎีโดมิโนเป็นตัวชี้นำ กล่าวคือหากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกเป็นคอมมิวนิสต์ ออสเตรเลียก็จะตกเป็นเหยื่อด้วย
องค์การซีโต้มีไทยและออสเตรเลียเป็นหนึ่งในสมาชิกและผลักดันโดยสหรัฐ สำนักงานใหญ่ขององค์การเคยตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครและมีนายพจน์ สารสิน จากประเทศไทย ดำรงตำแหน่งเลขาธิการทั่วไป ดังนั้นประเทศไทยจึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค เป็นพันธมิตรสำคัญของออสเตรเลีย และเป็นผู้ช่วยเหลืออเมริกาในการแทรกแซงคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค
เนื่องจากไทยมีบทบาทสำคัญเช่นนี้ ทำให้ขบวนการเอียงซ้ายใน ANU ทั้งนักศึกษาและนักวิชาการไม่พอใจและอาจเป็น "สาเหตุจริงๆ" ที่ปฏิเสธการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เรื่องนี้มีการเอ่ยถึงในหนังสือ A National Asset: 50 Years of the Strategic and Defence Studies Centre ของออสเตรเลียเอาไว้ในหน้าที่ 40
แต่ยังมีปมเงื่อนอีกเรื่องก็คือการที่รัฐบาลออสเตรเลียเล่นงาน C. P. Fitzgerald นักวิชาการ/นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง เป็นผู้สอนที่ ANU แต่เพราะเขาเชี่ยวชาญเรื่องจีนเพราะเขาเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน การเล่นงานเขาทำให้พวกปัญญาชนไม่พอใจ และเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เกิดกระแสต้านฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายซ้าย
บรรยากาศการประท้วงสงครามเวียดนามต่อต้านอิทธิพลอเมริกันเป็นไปอย่างร้อนแรงใน ANU ทั้งนักศึกษาและอาจารย์ ไม่เฉพาะที่นี่แต่ยังรวมถึงที่แคนเบอร์ราด้วย
แม้จะเกิดเรื่องให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มิได้ทรงถือสาหาความ กลับยังทรงยืนยันที่จะเสด็จไปเยือน ANU ตามกำหนดการณ์เดิม แสดงให้เห็นถึงความมีขันติและไม่หวั่นไหวของพระองค์
ในการเสด็จเยือน ANU ไม่เพียงเสด็จด้วยพระจริยาที่งามสง่า แต่ยังทรงปฏิบัติกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วยไมตรีจิตยิ่ง แม้นมหาวิทยาลัยจะไม่ถวายปริญญาฯ แต่กลับเป็นพระองค์เองที่ทรงพระราชทานทุนเพื่อตั้ง Asian Fellowship แก่มหาวิทยาลัย
ทรงมีพระราชดำรัสว่าสิ่งที่ทรงพระราชทานไปมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียอยู่ในภาวะอันตรายร้ายแรงและทั้งสองปรเะทศจะต้องเผชิญหน้ามันร่วมกัน
"ข้าพเจ้าหวังว่า ANU จะเจริญรุ่งเรืองและมีโครงการต่างครบสมบูรณ์ ข้าพเจ้าเห็นว่ามันจะมีประโยชน์อย่างยิ่งไม่แต่กับออสเตรเลียแต่รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และต่อโลก" (ดูหนังสือพิมพ์ The Canberra Times (ACT : 1926 - 1995) อ. 28 ส.ค. 1962 Page 1 Visit Of Thai King Marked OFFER TO ASIAN SCHOLARS BY A.N.U.)
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าบรรยากาศในช่วงสงครามคือสาเหตุที่แท้จริง "อย่างหนึ่ง" ที่ทำให้เกิดกรณีนักศึกษาออสเตรเลียแสดงกริยาไม่เหมาะสมในระหว่างการเสด็จเยือนมหาวิทยาลัยต่างๆ เพราะพวกเขามีแนวคิดฝ่ายซ้ายและต่อต้านการแทรกแซงของชาติตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่ชาติตะวันตกรวมถึงออสเตรเลียและแม้แแต่ไทยก็ไม่ยอมให้คอมมิวนิสต์เข้ามากลืนกินภูมิภาคนี้เช่นกัน
บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน
ภาพ Bangkok Post