แอปของคนเดินดิน Kuaishou คู่แข่ง TikTok ที่เปิดตัวหุ้นพุ่งแรงสุด 161%
ทำความรู้จักกับ Kuaishou ที่กำลังสยายปีจากแดนมังกรครอบคลุมอาณาจักรแอปทั่วโลกที่คู่แข่งอย่าง TikTok ปักหมุดที่แข็งแกร่งเอาไว้
แอพลิเคชั่นวิดีโอแชร์ริ่งขนาดสั้นที่ครองตลาดจีนมีอยู่ 2 เจ้าคือ Douyin (โต่วอิน) ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่ใช้กันภายในประเทศจีน เวอร์ชั่นภายนอกจีนที่เรารู้จักกันดีคือ TikTok ทั้งสองแอพสองเวอร์ชั่นเป็นผลผลิตของ ByteDance
อีกเจ้าหนึ่งซึ่งไม่ค่อยรู้จักันนอกตลาดจีนคือ Kuaishou (ไคว่โส่ว) ของบริษัท Beijing Kuaishou Technology ซึ่งตอนนี้เริ่มที่จะใช้กันมากขึ้นนอกประเทศจีนและเพิ่มจะเปิดขายหุ้นครั้งแรกในตลาดหุ้นฮ่องกงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปรากฎว่า IPO ของ Kuaishou พุ่งขึ้นมาถึง 161% เป็นการเปิดขายหุ้นครั้งแรกที่แรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2019 มูลค่า 159,000 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินฮ่องกงถึง 1 ล้านล้านเหรียญฮ่องกง
เรียกได้ว่า Kuaishou มาช่วยสร้างความคึกคักให้กับสายเทคในตลาดหุ้นฮ่องกงก็ว่าได้ เพราะปลายปีที่แล้วตลาดฮ่องกงเตรียมที่จะเปิดแชมเปญฉลองการเปิดขายหุ้นครั้งแรกของ Ant Group ของแจ็ค หม่า แต่ IPO ของบริษัทนี้ถูกรัฐบาลจีนเบรคไปเสียก่อน แล้วตามมาด้วยการเล่นงาน Ant Group และ Alibaba อย่างหนักหน่วงจนบริษัทสายเทคในจีนร้อนๆ หนาวๆ ไปตามๆ กัน
คู่แข่งของ Kuaishou ไม่ใช่ใครนั่นคือบริษัท ByteDance เล็งที่จะระดมทุนให้มากกว่าที่ 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สะท้อนถึงความทะเยอทะยานและความหวังในอนาคตที่สดใสแม้ว่า TikTok จะถูกโจมตีอย่างหนักจากสหรัฐและบางประเทศที่มองว่าแอพนี้เป็นภัยต่อความมั่นคง
Kuaishou มีเส้นทางที่ต่างจาก TikTok/Douyin แอปวิดีโออายุ 9 ปีแอปนี้เคยเป็นที่รู้จักในเรื่องความนิยมใช้กันในหมู่ชาวจีนในชนบทที่มักจะอัพคลิปที่แปลกใหม่และแสดงความสามารถส่วนตัวที่น่าตื่นตา แต่ก็ยังจำกัดอยู่ในหมู่คนต่างจังหวัดเป็นส่วนมาก
แต่ตอนนี้ Kuaishouได้กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพรุ่นใหญ่เทียบชั้นบริษัทอย่าง Meituan (เหม่ยถวน) ยักษ์ใหญ่ด้านการจัดส่งอาหารและ Didi Chuxing (ตี๋ตี๋ ชูสิง) ซึ่งเป็นผู้นำในบริการรถโดยสารส่วนบุคคลที่เติบโตขึ้นในช่วงหลายปีหลังจากปล่อยให้ Alibaba และ Tencent ครองความเป็นเจ้าธุรกิจสายเทคแบบครบวงจรมานาน
ความแรงของ Kuaishou เริ่มที่จะเทียบชั้นกับ TikTok ภาพลัษณ์ความเป็น "แอปบ้านๆ" หรือที่บางสื่อเรียกว่าแอปเพื่อคนสามัญ (app for ordinary people) เริ่มแทนที่ด้วยความเป็นแอปอินเตอร์ที่เคยได้รับความนิยถึงขั้นติดแอปที่มีผู้ดาวน์โหลดมากที่สุดใน 8 ประเทศผ่านทาง Google Play กับ Apple App Store ประเทศที่แอปนี้ได้รับความนิยมอย่างมากและเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงคืออินเดียซึ่งเรียกมันว่า Kwai
Kuaishou เจออุปสรรคเข้าอย่างจังเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2020 รัฐบาลอินเดียได้สั่งห้าม Kwai พร้อมกับแอปอื่นๆ ของจีนอีก 58 แอปโดยอ้าง "ปัญหาข้อมูลและความเป็นส่วนตัว" ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความตึงเครียดบริเวณพรมแดนระหว่างอินเดียและจีน รวมถึงกระแสคว่ำบาตรจีนทางการเมืองที่รุนแรงมากขึ้นในอินเดียเนื่องจากจีนและอินเดียแข่งขันแสดงอิทธิพลกันมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
แต่การเปิดขายหุ้นครั้งแรกของ Kuaishou พิสูจน์แล้วว่ามรสุมทางการเมืองทำอะไรแอปสัญชาติจีนไม่ได้เลย และการที่มันโพสิชั่นตัวเองเป็นแอปของคนสามัญทำให้ฐานการตลาดกว้างมาก บวกกับความที่มันไม่ใช่แค่แอปที่อัพคลิปกันสนุกๆ แต่ยังสามารถสร้างรายได้ด้วย
ในสุนทรพจน์เมื่อปีที่แล้วรองประธานบริษัท Yu Jingzhong กล่าวว่า 70% ทราฟฟิกการใช้งานของ Kuaishou ถูกจัดสรรให้กับ "คนธรรมดาสามัญ" Yu กล่าวว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2019 ผู้คนมากกว่า 19 ล้านคนมีรายได้ผ่าน Kuaishou ซึ่งส่วนใหญ่มาจากมณฑลที่ยากจนข้นแค้นของจีน
หมายความว่ามันทั้งกวาดฐานการตลาดที่กว้างใหญ่ในพื้นที่ตอนในของจีนที่มีผู้คนหลายร้อยล้านคน และยังกระตุ้นการหมุนเวียนของความมั่งคั่งด้วยการสร้างรายได้ให้คนในชนบทพร้อมๆ กับสร้างรายได้ให้กับบริษัทไปพร้อมๆ กัน
สำนักข่าว AFP รายงานว่า Kuaishou เกิดขึ้นเมื่อประมาณทศวรรษที่แล้วเมื่อนักลงทุน Fisher Zhang ได้พบกับ Cheng Yixiao ผู้ก่อตั้งบริษัทซึ่งเป็นอดีตวิศวกรซอฟต์แวร์และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่บริษัท Hewlett-Packard
ในเวลานั้น Kuaishou เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับสร้างและแบ่งปัน GIF ภาพเคลื่อนไหวสั้นๆ ต่อมา Zhang ได้เงินลงทุน 2 ล้านหยวน (309,000 ดอลลาร์) และบริษัทก็ถือกำเนิดขึ้น
พวกเขาตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนเครื่องมือสร้าง GIF ของ Cheng ให้เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นชุมชนของผู้ใช้งาน
Su Hua ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนที่สามซึ่งเป็นอดีตวิศวกรของ Google China และ Baidu เขามาเข้าร่วมในไม่ช้าและวางอัลกอริทึมเพื่อแนะนำเนื้อหาให้กับผู้ใช้และกิจกรรมของแอปก็พุ่งสูงขึ้นหลังจากนั้น
ปัจจุบัน Cheng ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ Su Hua เป็น ซีอีโอและ Zhang เป็นประธานของบริษัท ซึ่งรายงานรายรับ 40,700 ล้านหยวน (6,300 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2020
เมื่อแอป Kuaishou เติบโตขึ้นก็มีวิธีสร้างรายได้จากเนื้อหาเช่นกัน โดยเพจของผู้ใช้บางรายมีร้านค้าในแอปที่ผู้ใช้สามารถซื้อได้ทุกอย่างตั้งแต่ผลิตภัณฑ์เพื่อความงามไปจนถึงส่วนผสมในการทำอาหารโดย Kuaishou จะได้รับส่วนแบ่งจากการนี้ด้วย
แต่รายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากการไลฟ์สตรีมซึ่งผู้ชมสามารถซื้อของขวัญเสมือนจริงให้กับสตรีมเมอร์ในระหว่างการไลฟ์ซึ่งคิดเป็น 62% ของรายได้ทั้งหมดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2020 ซึ่งบริษัทได้เปอร์เซนต์จากการนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามรูปแบบธุรกิจของแพลตฟอร์มของ Kuaishou แตกต่างจาก TikTok และแอปอื่นๆ เนื่องจากไม่ได้ขึ้นอยู่กับการโฆษณาโดยตรงแต่เป็นการให้ทิป ซึ่งการให้ทิปจากผู้ชมและผู้สร้างคอนเทนต์ด้วยกันเองทำให้เกิด "เป็นระบบการชำระเงินแบบเพียร์ทูเพียร์"
แต่ระบบของ Kuaishou กำลังเป็นประเด็นล่อแหลมในประเทศจีน ซึ่งหันมาเพ่งเล็งบริษัทสายเทคมากขึ้นว่ามีการไลฟ์สตรีมมิ่งที่เหมาะสมหรือไม่และมีพฤติกรรมผูกขาดตลาดหรือไม่ ซึ่ง Alibaba เป็นรายแรกที่โดนเล่นงาน
Photo by STR / AFP