Wolf Culture วัฒนธรรมองค์กรที่ Huawei ใช้โค่นยักษ์ใหญ่
หมาป่าขึ้นชื่อว่าจมูกไว ออกล่าเป็นฝูง และทรหดอดทน เหรินเจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้ง จึงนำลักษณะนิสัยเหล่านี้มาเป็นวัฒนธรรมองค์กร ปลูกฝังให้พนักงานกลายเป็นหมาป่าสำหรับฝูงที่มีชื่อว่า Huawei
บริษัท Huawei (หัวเว่ย) เป็นตัวอย่างคลาสสิกของกิจการที่เริ่มต้นจากศูนย์ กว่า 30 ปีที่แล้ว เหรินเจิ้งเฟย เริ่มปลุกปั้น Huawei ขึ้นมาจากพนักงานเพียง 3 คน และเงินทุนเพียง 5,000 เหรียญสหรัฐ ด้วยการจำหน่ายอุปกรณ์ชุมสายโทรศัพท์ของบริษัทอื่น ก่อนจะขยับขยายจนสามารถแซงหน้ายักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิลและซัมซุงขึ้นเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดของโลกได้สำเร็จเมื่อปีที่แล้ว แม้จะถูกทางการสหรัฐจำกัดซัพพลายเชนก็ตาม
แล้วอะไรที่ทำให้ Huawei ประสบความสำเร็จ
Huawei ขึ้นชื่อว่าเป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งมาก หนึ่งในนั้นที่ขึ้นชื่อก็คือ Wolf Culture หรือ หลางเหวินฮั่ว ในภาษาจีน ซึ่งแปลว่า “วัฒนธรรมหมาป่า” ที่แม้แต่แผ่นดินไหว ภัยก่อการร้าย หรือที่ที่มีออกซิเจนต่ำสุดอย่างเทือกเขาเอเวอเรสต์ก็ไม่สามารถทำให้พนักงานของ Huawei ที่ผ่านการปลูกฝังวัฒนธรรมนี้ย่อท้อ
วัฒนธรรมหมาป่าของเหรินเจิ้งเฟยก็คือการนำลักษณะนิสัยเด่นๆ ของหมาป่ามาปลูกฝังพนักงานในองค์กร นั่นก็คือ กระหายเลือด ทรหดอดทน และออกล่าเป็นฝูง เพื่อนำมาสู่ผลลัพธ์สุดท้ายคือความสำเร็จขององค์กร
แคมป์ฝึกพนักงาน
พนักงานทุกคนที่เข้ามาทำงานกับ Huawei จะได้รับการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรข้อนี้ด้วยการเข้าค่ายอบรม ซึ่งการใช้ค่ายอบรมลักษณะนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไปในโลกธุรกิจของจีน แต่ Huawei มีวิธีการของตัวเองที่แตกต่างไป
พนักงานใหม่ของ Huawei ทุกคนจะต้องเข้าค่ายคล้ายกับค่ายฝึกทหารที่ศูนย์ฝึก Huawei University ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทในเมืองเซินเจิ้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์
ตลอด 2 สัปดาห์นี้ทุกคนต้องเข้าพักในหอพักและตื่นตี 5 ทุกวันเพื่อวิ่งจ๊อกกิ้งและออกกำลังกายร่วมกันในชุดยูนิฟอร์มสีขาวแดงที่ทางบริษัทจัดไว้ให้ จากนั้นก็ต้องเข้าห้องเรียนประวัติศาสตร์บริษัท สินค้าและบริษัท และวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทที่ปลูกฝังให้พนักงานมีลักษณะนิสัยเหมือนหมาป่า รวมทั้งปลูกฝังความมุ่งมั่นและการบริการลูกค้าในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก อาทิ เขตสู้รบ
แจกผ้าห่ม เบาะนอน
เหรินเจิ้งเฟยมองว่า Huawei ต้องต่อสู้กับคู่แข่งทุกคนอยู่ตลอดเวลาเพื่อความอยู่รอด ดังนั้นการดำเนินงานของ Huawei จึงมีความเข้มข้นประหนึ่งบริษัทกำลังอยู่ในสนามรบ และหนึ่งในสโลแกนที่เหรินเจิ้งเฟยชื่นชอบในช่วงที่กำลังก่อร่างสร้างบริษัทก็คือ “หากเราจะต้องแพ้ เราต้องสู้ให้ถึงที่สุดจนกว่าเราทุกคนจะสิ้นชีพ”
ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่ในช่วงเวลานั้นทุกคนต้องทำงานหนัก พนักงานใหม่ทุกคนจะได้รับแจกผ้าห่มและเบาะนอนแบบเดียวกับที่ทหารใช้ โดยพนักงานส่วนใหญ่จะทำงานกันจนดึกดื่นแล้วนอนที่ออฟฟิศ ตื่นเช้าขึ้นมาก็ทำงานต่อ หรืออาจใช้งีบเอาแรงในช่วงพักกลางวัน
ปัจจุบันนี้ แม้ว่าเบาะนอนแบบพับได้จะถูกเปลี่ยนมาเป็นที่สำหรับพักงีบช่วงกลางวัน แต่พนักงาน Huawei ก็ยังทำงานหามรุ่งหามค่ำเหมือนเดิม
อีกหนึ่งความทุ่มเทก็คือ หลักการทำงานแบบ 996 ซึ่งเป็นที่นิยมในบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน รวมทั้งอาลีบาบาของ แจ็ก หม่า พนักงานทุกคนต้องทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึง 3 ทุ่ม 6 วันต่อสัปดาห์ แต่ที่ Huawei เข้มข้นถึงขั้นจนเกิดเรื่องเล่าลือว่า พนักงานชายจากญี่ปุ่นซึ่งขึ้นชื่อว่าทุ่มเททำงานอย่างหนัก ยังทำงานกับ Huawei ได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น เพราะทนไม่ไหวกับการทำงานหามรุ่งหามค่ำ
แม้จะไม่สามารถยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่ตำนานนี้ก็ยังถูกเล่าต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน
เอลเลียต แซกแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านการแนะแนวผู้บริหารและนักเขียนที่สนใจเรื่อง Huawei และบริษัทสัญชาติจีนเผยว่า ปัจจุบันนี้พนักงานของ Huawei ยังถูกขอร้องให้เซ็นเอกสารยินยอมว่าจะไม่ใช้สิทธิ์ลาพักร้อนและไม่รับค่าทำงานล่วงเวลาด้วย
เข้มงวดเพราะเคยเป็นทหาร
เชื่อกันว่าเหตุผลของความเข้มงวดในการขับเคลื่อนองค์กรมาจากการที่เหรินเจิ้งเฟยเคยเป็นทหารฝ่ายวิศวกรรมในกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนมากว่า 20 ปี จึงซึมซับวิธีการของทหารติดตัวมา โดยอดีตพนักงานคนหนึ่งของ Huawei เขียนถึง Huawei ไว้ในเว็บไซต์ Kanzhun สำหรับให้พนักงานเขียนรีวิวนายจ้างไว้ว่า “ระบบบริหารของ Huawei เข้มงวดมาก อาจเพราะประธานบริษัทเคยเป็นทหารมาก่อน ดังนั้นผู้ใต้บังคับบัญชาจึงไม่มีสิทธิ์และไม่สามารถโต้แย้งผู้บังคับบัญชาได้ ต้องทำตามคำสั่งเท่านั้น”
งานมีประสิทธิภาพ
วัฒนธรรมองค์กรที่เหรินเจิ้งเฟยปลูกฝังให้พนักงานไม่เคยย่อท้อต่อปัญหาที่เกิดขึ้น อาทิ การเข้าไปติดตั้งสถานีสื่อสารไร้สายในจุดที่อยู่สูงที่สุดในโลกบนเทือกเขาเอเวอรเรสต์ที่สูง 6,500 เมตรซึ่งมีออกซิเจนเบาบาง การเดินหน้าทำงานต่อแม้จะตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ก่อการร้ายที่เมืองมุมไบ หรือแผ่นดินไหวในแอลจีเรีย
ทำไมพนักงานยอมถวายหัว
นอกจากค่าตอบแทนจะสูงแล้ว Huawei ยังใช้ระบบสร้างแรงจูงใจด้วยการแบ่งหุ้นให้พนักงาน เนื่องจาก Huawei ไม่ใช่บริษัทมหาชน และเหรินเจิ้งเฟยมีหุ้นในบริษัทเพียง 1.4% เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นของพนักงาน 104,572 คน (จากรายงานประจำปี 2019)
ที่มาที่ไปของแนวคิดนี้ก็คือ เหรินเจิ้งเฟย ต้องการแบ่งปันทั้ง “ความรับผิดชอบ” และ “ผลประโยชน์” ให้กับพนักงาน ผู้ก่อตั้งวัย 76 ปียังเชื่อว่า มีเพียงคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่จะร่ำรวยจากการเสนอขายหุ้นให้กับมหาชน แต่กลับทำให้คนส่วนใหญ่ในบริษัทสูญเสียแรงจูงใจ ระบบนี้จึงช่วยให้บริษัทรักษาจิตวิญญาณของการสู้ไปด้วยกันได้อย่างเข้มแข็ง
ความหมายที่แท้จริง Wolf Culture
หลังจากถูกคนนอกตีความคำว่า Wolf Culture ไปต่างๆ นานาด้วยความเข้าใจผิดบ้างถูกบ้าง เมื่อปีที่แล้วเหรินเจิ้งเฟยจึงถือโอกาสอธิบายความหมายที่แท้จริงของวัฒนธรรมองค์กรนี้ผ่านสำนักข่าว South China Morning Post โดยบอกว่า ความจริงแล้ว Wolf Culture ประกอบด้วย 3 ประการ
ประการแรก จมูกไว เหรินเจิ้งเฟยอธิบายว่า หมาป่ามีจมูกที่ไวมาก พนักงานของ Huawei ต้องมีความไวต่อข้อมูลการตลาด ต้องรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร และต้องรู้ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะไปในทิศทางใดในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า
ประการที่สอง หมาป่าออกล่าเป็นฝูงซึ่งบางบอกถึงการทำงานเป็นทีม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน และประการที่สาม หมาป่ามีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว ข้อนี้พนักงานของ Huawei จะต้องไม่กลัวความยากลำบากและต้องมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าไม่ว่าความยากลำบากนั้นจะซับซ้อนเพียงใด
แม้ว่า Wolf Culture จะสุดโต่งมาก แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าวัฒนธรรมนี้นำพา Huawei มาสู่ความสำเร็จจนกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีนยักษ์ใหญ่ที่โกยรายได้ในต่างประเทศเป็นกอบเป็นกำและผงาดเป็นผู้นำตลาด เพราะหากไม่มีแพสชั่นเหล่านี้ หากไม่ใช่เพราะความพยายามอย่างหนักที่ผ่านมา คงไม่มี Huawei อย่างทุกวันนี้
Photo by JESSICA YANG / AFP