รู้จักกองกำลัง KNU ที่สู้กับกองทัพเมียนมานานหลายสิบปี
สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือกะเหรี่ยง KNU คือใครและเกี่ยวข้องกับไทยอย่างไร
สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือกะเหรี่ยง KNU แถลงการณ์เรียกร้องให้นานาชาติและรัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองชาวกะเหรี่ยงที่หลบหนีการโจมตีของรัฐบาลทหารเมียนมาหลังจากที่กองกำลังเมียนมาเข้าโจมตีรัฐกะเหรี่ยงส่งผลให้ประชาชนกว่า 10,000 คนต้องอพยพหลบหนีออกจากพื้นที่รวมถึงมายังประเทศไทย
STATEMENT: Karen National Union urge int’l community and Thai government to provide humanitarian assistance and protection to Karen people fleeing current onslaught of Myanmar junta as its group troops advance into KNU territory from all fronts.#WhatsHappeningInMyanmar pic.twitter.com/Sd8KF1HQuI
— Hnin Zaw (@hninyadanazaw) March 30, 2021
รู้จักกะเหรี่ยง KNU
กะเหรี่ยง KNU ซึ่งขณะนี้นำโดย Saw Mutu Say Poe คือกลุ่มติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในเมียนมาที่ทำการสู้รบกับรัฐบาลตามแนวชายแดนในบริเวณที่เรียกว่า "กอซูแล" ร่วมกับกองกำลังย่อยที่มีชื่อว่า "กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNLA" มานานนับศตวรรษแล้ว
ตั้งแต่ปี 2491 หลังจากที่เมียนมาได้รับเอกราชก็เกิดความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงส่วนหนึ่งที่ต้องการเอกราชและสิทธิในการปกครองตนเอง จึงจัดตั้งกองกำลังในพื้นที่ต่อสู้กับรัฐบาลและกองทัพเมียนมาเพื่อป้องกันเขตของตน
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2531 เกิดเหตุการณ์ "8888 ทมิฬ" ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ในเมียนมาแต่ไม่สำเร็จและต้องยุติลงเนื่องจากรัฐบาลปราบปรามอย่างรุนแรงส่งผลให้กองกำลังของกะเหรี่ยง KNU อ่อนแอลงไปด้วยจากการปราบปรามของรัฐบาล
กลุ่มย่อยอื่นๆ
- กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNLA คือหน่วยงานทางทหารของกะเหรี่ยง KNU เกิดขึ้นในปี 2492 หลังจากที่รัฐบาลเมียนมาปราบปรามกลุ่มผู้ต่อต้านด้วยความรุนแรง ชาวกะเหรี่ยงจึงรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มเพื่อสู้กับรัฐบาลและเรียกร้องเอกราช
แม้ในตอนแรกกองทัพกะเหรี่ยงจะมีชัยชนะในภาคเหนือของเมียนมา และเข้ายึดครองมัณฑะเลย์ได้ แต่เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอ ภายหลังจึงต้องถอนกำลังกลับไปยังภาคตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงต่อสู้เพื่อเอกราชของกะเหรี่ยงต่อไปโดยมีฐานที่มั่นอยู่ใกล้กับชายแดนไทย
- องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNDO) เป็นกองกำลังติดอาวุธอีกกลุ่มหนึ่งของกะเหรี่ยง KNU ควบคู่กับ KNLA ซึ่งเริ่มต่อสู้กับรัฐบาลตั้งแต่ปี 2490 ในฐานะกองกำลังติดอาวุธของกะเหรี่ยง KNU ก่อนที่จะมีการตั้ง KNLA เป็นกองกำลังติดอาวุธอย่างเป็นทางการ
- ก๊อด อาร์มี่ (God's Army) เป็นกองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรงที่นับถือศาสนาคริสต์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกะเหรี่ยง KNU ก่อตั้งขึนในปี 2540 นำโดยจอห์นนี่ และลูเทอร์ พี่น้องฝาแฝดซึ่งมีอายุเพียง 10 ปี ปฏิบัติการในลักษณะกองโจรโดยมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในประเทศไทยถึง 2 ครั้งในระยะเวลาห่างกันเพียงไม่กี่เดือน คือเหตุการณ์บุกยึดสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2542 และเหตุการณ์บุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีในเดือนมกราคม 2543
- กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยฝ่ายพุทธ (DKBA) นำโดยพระภิกษุ U Thuzanaเป็นกลุ่มของชาวกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาพุทธซึ่งแยกตัวออกมาจากกะเหรี่ยง KNU เมื่อปี 2538 เนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนาโดยมองว่าพวกเขาถูกเอาเปรียบ เหลื่อมล้ำ และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากชาวกะเหรี่ยง KNU ที่นับถือศาสนาคริสต์
กองกำลัง DKBA ยอมร่วมมือกับรัฐบาลต่อสู้กับกะเหรี่ยง KNU เพื่อแลกกับการได้รับอาณาเขตส่วนหนึ่งให้ปกครองตนเอง และมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้รัฐบาลยึดกองบัญชาการของกะเหรี่ยง KNU ได้ ก่อนที่ DKBA จะปิดตัวลงไปในปี 2553
- กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยฝ่ายพุทธ กองพล 5 (DKBA-5) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 ซึ่งแยกตัวออกมาจาก DKBA ในระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปปี 2553 DKBA-5 ได้โจมตีกองกำลังของรัฐบาลและลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554
กระทบถึงไทย?
กะเหรี่ยง KNU ยังคงต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมาเรื่อยมาโดยมีการตั้งกองกำลังทหารตามแนวชายแดนไทย และหลายครั้งที่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและรัฐบาลเมียนมาเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเทศไทย
ในปี 2542 กองกำลังนักศึกษาจากก๊อด อาร์มี่ จำนวน 12 คน เข้าบุกยึดสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทยพร้อมอาวุธปืนและระเบิด ซึ่งจับเจ้าหน้าที่และประชาชนราว 20 คนเป็นตัวประกันโดยยื่นข้อเสนอแลกกับการที่รัฐบาลเมียนมาปล่อยตัวออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านในขณะนั้น ก่อนที่สถานการณ์จะยุติลงเมื่อรัฐบาลไทยยอมจัดเฮลิคอปเตอร์ไปส่งพวกเขาที่ชายแดนไทย-เมียนมาตามคำต่อรอง
เวลาผ่านไปไม่ถึงปีกองกำลังเดียวกันนี้เข้าบุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีด้วยการปลอมตัวเป็นผู้โดยสารนั่งรถประจำทางก่อนที่จะใช้ปืนและระเบิดขู่ให้คนขับพาไปยังโรงพยาบาล และจับตัวแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยนับ 1,000 คนเป็นตัวประกัน
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 Padoh Mahn Sha La Phan เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงถูกลอบสังหารในบ้านพักที่แม่สอด ประเทศไทย
ไม่กี่ปีให้หลังในช่วงปี 2553 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNLA หลบหนีเข้ามายังประเทศไทยหลังจากที่ทหารของกองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยฝ่ายพุทธ (DKBA) เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
ต่อมาปี 2561 การสู้รบระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยง KNU และ KNLA กับกองกำลังทหารของรัฐบาลเมียนมาเกิดขึ้นบริเวณรอยต่อระหว่าง ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และ ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
และล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้คือเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมาที่กำลังทวีความรุนแรงทั่วประเทศโดยกองกำลังทหารเมียนมาปราบปรามกลุ่มผู้ต่อต้านอย่างรุนแรงซึ่งรวมถึงการทิ้งระเบิดถล่มฐานที่มั่นของกะเหรี่ยง KNU ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงนับหมื่นชีวิตต้องอพยพลี้ภัยไปยังประเทศข้างเคียงอย่างอินเดียและไทย
AFP PHOTO/KC Ortiz