Crypto กำลังตามรอยฟองสบู่ Dot-com หรือเปล่า?

18 พฤษภาคม 2564

มีบางอย่างที่คล้ายกันเกี่ยวกับความบ้าคลั่งคริปโตในเวลานี้กับความบ้าคลั่งธุรกิจดอตคอมเมื่อช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษ

Background - ในช่วงต้นปี 2020 ราคาของ Bitcoin เพิ่มขึ้นอีกครั้งโดยพุ่งขึ้นมากกว่า 700% ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 และพุ่งขึ้นเหนือระดับ 40,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกในวันที่ 7 มกราคม เมื่อวันที่ 11 มกราคมหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของสหราชอาณาจักร (FCA) เตือนนักลงทุนเกี่ยวกับการให้กู้ยืมหรือการลงทุนในสินทรัพย์เข้ารหัสลับว่าพวกเขาควรเตรียมพร้อมที่จะ "เสียเงินทั้งหมด"

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ Bitcoin ถึง 50,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 มีนาคม Bitcoin ทะลุ 61,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรก หลังจากการปรับฐานเล็กน้อยในเดือนกุมภาพันธ์ Bitcoin ดิ่งลงจากจุดสูงสุดเหนือ 64,000 ดอลลาร์ในวันที่ 14 เมษายนสู่ระดับต่ำกว่า 49,000 ดอลลาร์ในวันที่ 23 เมษายนดิ่งลงถึง 23% ในเวลาน้อยกว่า 10 วันซึ่งลดลงต่ำกว่าช่วงการซื้อขายที่ต่ำที่สุดในเดือนมีนาคมและมูลค่าหายไปครึ่งล้านล้านดอลลาร์จากมูลค่าตลาดรวมของคริปโตทั้งหมด

1. ฟองสบู่ดอทคอม (Dot-com bubble หรือฟองสบู่อินเทอร์เน็ต) เป็นฟองสบู่ในตลาดหุ้นที่เกิดจากการเก็งกำไรของบริษัท ที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตมากเกินไปในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ซึ่งช่วงเวลาที่อินเทอร์เน็ตมีการเติบโตอย่างมากและเป็นช่วงแรกที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตแบบมหาชน

2. ระหว่างปี 1990 ถึง 1997 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนในสหรัฐอเมริกาที่เป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 35% คอมพิวเตอร์กลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต รวมถึงการเข้ามายุคแรกของอินเทอร์เน็ตและเสิร์ชเอ็นจินทำให้เกิดการเปลี่ยนไปสู่ยุคสารสนเทศ (Information Age) ซึ่งเศรษฐกิจใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาขับเคลื่อน

3. มีบริษัทสายอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นมากมาย บางบริษัทเราอาจจะคาดไม่ถึงว่าในเวลานั้นมีเทคโนโลยีแบบนีแล้วหรือ เช่น บริษัทออนไลน์ช็อปปิ้งที่ตอนนี้บูมมาก แต่มันเคยบูมมาแล้วในช่วงทศวรรษที่ 90 เช่น Pets.com, Webvan, และ Boo.com หุ้่นของบริษัทพวกนี้ โดยเฉพ่ะที่มีคำว่า ดอตคอม (.com) ตามหลังได้รับความนิยมมาก

4. ระหว่างปี 1995 ถึงจุดสูงสุดในเดือนมีนาคมปี 2000 ดัชนีตลาดหุ้นแนสแด็กคอมโพสิตเพิ่มขึ้น 400% ในปี 2542 หุ้นของ Qualcomm ยักษ์ใหญ่ด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2,619% ยังมีหุ้นขนาดใหญ่อื่นๆ อีก 12 หุ้นที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000% และหุ้นขนาดใหญ่อีก 7 หุ้นที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 900%

5. การใช้จ่ายเงินเพื่อลงทุนและเงินที่ได้มาจากการลงทุนเป็นไปอย่างบ้าคลั่ง บริษัทกระตุ้นเร้าให้คนมาลงทุน สื่อก็โหนกระแสรายงานข่าวการลงทุนแบบครึกโครม ภาพความหรูหราฟุ้งเฟ้อของพนักงานบริษัทดอตคอมเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไป

6. ตอนนี้เรากลับมาดูที่สาเหตุที่ทำให้ดอตคอมมบูม ไม่ใช่แค่มันเป็นอนาคตอันสวยสดอย่างใหม่แต่เพราะมันมีพลังของเงินตราจากการกระตุ้นเศรษฐกิจและดอกเบี้ยที่ต่ำติดดินอยู่เบื้องหลังด้วย ในจุดนี้ดอตคอมจึงคล่ายกับกระแสคริปโตเคอร์เรนซี่ คริปโตเป็นสิ่งที่นักลงทุนมองว่าเป็นอนาคต เป็น "New Economy" ซึ่งเหมือนกับธุรกิจดอตคอมเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว

7. ดอตคอมยังเหมือนคริปโตตอนนี้ตรงที่ในช่วงปลายทศวรรษที่้ 90 อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงมาก มีการผ่านกฎหมายการสงเคราะห์ผู้เสียภาษีปี 1997 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ผู้คนเต็มใจที่จะลงทุนเพื่อเก็งกำไรมากขึ้นเพราะมีเงินในมือมากขึ้น เหมือนกับตอนนี้ที่รัฐบาลสหรัฐจ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจแต่เงินกระตุ้นจำนวนไม่น้อยไหลไปลงทุนคริปโต

8. อลัน กรีนสแปน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐในเวลานั้นรู้ดีว่ามันจะจบอย่างไร เขาเตือนถึง"ความฟุ่งเฟื่องที่ไร้เหตุผล" (Irrational exuberance) ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดพังพินาศ ในเดือนมกราคมปี 1999 เขาให้การต่อสภาคองเกรสโดยเตือนว่า “พฤติกรรมล่าสุดของผลกำไรยังเน้นย้ำถึงลักษณะที่ผิดปกติของการดีดตัวขึ้นของราคาตราสารทุนและความเป็นไปได้ที่ผลการดำเนินงานล่าสุดของตลาดตราสารทุนจะมีปัญหาในการทำให้ยั่งยืนต่อไปได้”

9. แล้วมันก็เป็นไปตามคำเตือนจริงๆ เหมือนกับการเก็งกำไรชนิดอื่นๆ หุ้นดอตคอมมีความเปราะบางอ่อนไหวกับสถานการณ์ง่ายเหลือเชื่อ ทั้งๆ มันดูเหมือนจะมีอนาคต เป็นยุคทองยุคใหม่ และการปฏิวัติทางเทคโนโลยี แต่หุ้นดอตคอมกลับล้มเอาง่ายๆ เพราะข่าวการประกาศขึ้นดอกเบี้ยของกรีนสแปน

10. กรีนสแปนที่เตือนนักเตือนหนาเรื่องตลาดไม่ยั่งยืนกลับมีส่วนทำให้มันสั่นคลอนในเดือนกุมภาพันธ์ 2000 เมื่อเขาประกาศแผนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างจริงจัง ทำให้เกิดความผันผวนของตลาดหุ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากนักวิเคราะห์ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นดอกเบี้ย และบริษัทเทคโนโลยีอาจจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น

11. แต่กรีสแปนและเฟดไม่มีทางเลือกหลังจากดดอกเบี้ยมานานก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจเพื่อให้มันชะลอตัวลงแบบที่ควบคุมได้ หรือ Soft landing แต่พอถึงเดือนมีนาคมฟองสบู่ก็เริ่มสั่นคลอนอีกเพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอย นักลงทุนเริ่มหันหลังให้หุ้นดอตคอมไปหาหุ้นอื่นๆ ที่ผลตอบแทนต่ำกว่าแต่มั่นคงกว่า

12. หลังจากนั้นบริษัทดอตคอมทั้งหลายก็ซวนเซกันไปตามๆ กัน เช่น Microsoft ถูกฟ้องร้องคดีผูกขาดตลาดทำให้หุ้นตกพรวด หลังจากนั้นดอตคอมก็เสื่อมฤทธิ์เดชอย่างรวดเร็วจนมาถึงจุดล่มสลายที่สำคัญคือการปิดตัวลงของ Pets.com ธุรกิจออนไลน์ช็อปปิ้งที่ถูกปั่นกระแสกันมาก จนอยู่ในตลาดได้แค่ 9 เดือนก็ไปไม่รอดในเดือนพฤศจิกายน 2000

13. ถึงช่วงปลายปี หุ้นอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่มีมูลค่าลดลงถึง 75% จากระดับสูงสุด มูลค่าหายไปถึง 1.755 ล้านล้านดอลลาร์ ภาวะฟองสบู่แตกจะลากยาวไปถึงปี 2002 เมื่อถึงตอนนั้นหุ้นดอตคอมสูญเสียมูลค่าตลาด 5 ล้านล้านดอลลาร์นับตั้งแต่จุดสูงสุด และ ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2002 ดัชนี NASDAQ-100 ลดลงเหลือ 1,114 จุด ลดลง 78% จากจุดสูงสุดช่วงฟองสบู่

14. เหตุและปัจจัยของฟองสบู่ดอตคอมดูเหมือนจะต่างจากกระแสคริปโตในเวลานี้อย่างมาก หากดูแค่เป้าหมายการลงทุนคงจะต่างกัน แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดฟองสบู่เหมือนกันตรงที่ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยต่ำและมีเงินกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการลดหย่อนภาษีที่รัฐบาล (สหรัฐ) ช่วยเหลือประชาชนช่วงการระบาดใหญ่ เงินจำนวนนี้ไม่น้อยถูกนำไปลงทุนคริปโต

15. ผู้ว่าการธนาคารกลางและแถลงการณ์ของธนาคารกลางยังเตือนการลงทุนในคริปโตว่าเป็นการเก็งกำไรล้วนๆ เช่น เจอโรม พาวเวล แห่งเฟดที่บอกว่ามันคือเครืองมือของการเก็งกำไร (Vehicles for Speculation) และในแง่ของสถานะการเป็รเงินเงินตราพวกมันยัง "ไม่มีประโยชน์จริงๆ ในแง่ของการรักษาคุณค่า" (not really useful stores of value) ไม่มีใครใช้มันจริงๆ เหมือนเงินดอลลาร์

16. พาวเวลไม่ได้บอกตรงๆ ว่ามันกำลังจะกลายเป็นฟองสบู่ แต่พาวเวลอีกคนคือ เจสซี พาวเวล ซีอีโอของบริษัทแลกเปลี่ยนคริปโต Kraken เตือนว่ารัฐบาลอาจควบคุมคริปโตมากขึ้นโดยบอกในการให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า "ผมคิดว่าอาจมีการปราบปราม" แน่นอนว่าความเห็นนี้เป็นไปได้ เพราะตลาดคริปโตร้อนเหมือนดอตคอม หากระเบิดขึ้นมาจะไม่มีผลดีต่อเงินที่รัฐบาลทุ่มไปกระตุ้นเศรษฐกิจ

17. มีคนหนึ่งที่เชื่อว่าคริปโตตอนนี้คือฟองสบู่ไปเรียบร้อยแล้ว คือมาร์ก คิวบัน มหาเศรษฐีชื่อดังชาวอเมริกันและเป็นผู้สนับสนุนคริปโตตัวยง แต่เขาเองยังบอกตอนที่ Bitcoin พุ่งสุดๆ ในเดือนมกราคมปีนี้ว่า "ดูการซื้อขายคริปโตมันเหมือนกับฟองสบู่หุ้นทางอินเทอร์เน็ตเป๊ะๆ ผมคิดว่า BTC, ETH และอื่นๆ อีกสองสามตัวจะคล้ายคลึงกับสิ่งที่สร้างขึ้นในยุคดอทคอมซึ่งรอดชีวิตจากฟองสบู่แตกและเฟื่องฟูเช่น AMZN, Ebay และ Priceline แต่หลายรายจะไม่เป็นอย่างนั้น"

18. มาร์ก คิวบันเอ่ยถึงสกุลหลักของวงการคริปโตคือ Bitcoin (BTC) และ Ether (ETH) จะเหมือนหุ้นที่เฟื่องฟูยุคดอตคอมอย่าง Amazon (AMZN) และอื่นๆ ที่รอดชีวิตจากภาวะตลาดพังพินาศมาได้แล้วเติบโตยิ่งใหญ่ในภายหลัง อาจจะหมายความว่าตลาดคริปโตไม่รอดภาวะฟองสบู่แน่ๆ แต่จะมีบางรายที่แน่จริงที่รอดมาได้ คริปโตก็เหมือนสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีการลงทุนและเก็งกำไร ไม่อาจรอดพ้นภาวะฟองสบู่ไปได้

19. แน่นอนว่ามีคนไม่เห็นด้วยกับความเห็นของมาร์ก คิวบัน ส่วนหนึ่งธรรมชาติของคริปโตแตกต่างจากหุ้นและมันยังเป็นการเงินแบบกระจายอำนาจ คิวบันพยายามโต้เถียงโดยชี้ว่า "จะบอกว่า BTC เปรียบเสมือนทองคำ มันมีคุณค่าแต่ไม่คุณประโยชน์อื่นๆ อย่างน้อยผมก็กินกล้วยได้" แต่ถ้าเขาไม่ยกทองคำมาอ้าง ประเด็นนี้คงจะสะท้อนความเชื่อของเขาได้ดีว่า Bitcoin เหมือนเครื่องมือเก็งกำไรที่ไม่มีคุณประโยชน์อื่นๆ เพราะทองคำมีคุณประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ นอกเหนือจากคุณค่าที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาด้วย

20. ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม แม้แต่คนสนับสนุนคริปโตตัวพ่ออย่างคิวบันก็ยังเปรยถึงเรื่องฟองสบู่ มันยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อเอลอน มัสก์ แสดงท่าทีกลับไปกลับมาเกี่ยวกับคริปโตที่เขาเชียร์คือ Bitcoin และ Dogecoin ทำให้ราคาพุ่งขึ้นเมื่อเขาพูดเชียร์แต่ราคาต่ำวูบเมื่อเขาแสดงอาการกังขาต่อมันหรือเปรยๆ ว่ามันไม่ได้ดีอย่างที่พูดไว้หรืออาจจะขายทิ้งด้วยซ้ำ ท่าทีของมัสก์ที่กลับไปกลับมาเรื่อง Bitcoin ในวันเดียว (17 พฤษภาคม) ทำให้หลายคนต้องทบทวนแล้วว่าถูกเขา "ปั่นหัว" หรือกำลังตามมัสก์แบบไม่ลืมหูลืมตาหรือไม่

21. มัสก์กำลังทำตัวคล้ายกับสื่อมวลชนในยุคดอตคอมที่ "ปั่น" ความสนใจในการลงทุนแบบบ้าคลั่ง บางสื่อรายงายข่าวหุ้นซะเร้าใจเหมือนกับขาวกีฬา หากไม่มีฉันทาคติเกิดนไปเราย่อมมองออกว่ามัสก์กำลัง "เล่น" กับกระแสสังคม การที่เขาชักเข้าชักออกเรื่อง Tesla กับ Bitcoin และพูดอะไรที่คลุมเครือเรื่อง Dogecoin นั้นเป็นการยั่วอาการติดกระแสของผู้คนในคริปโตเเสียยิ่งกว่าจอมปั่นในยุคดอตคอมเสียอีก อย่าลืมว่าทุกวันนี้ทุกคนมีสื่อในมือตัวเอง จะชี้นำไปในก็ได้ถ้าคนๆ นั้นมีอิทธิพลพอ

22. นอกจากปัจจัยเรื่องคนดังนั่งปั่นแล้ว สิ่งที่จะต้องระวังคือนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศราษฐกิจที่จะเห็นผลมากขึ้นหลังจากประทเทศตะวันตกเริ่มฉีดวัคซีนสำเร็จและคลายล็อคดาวน์ การใช้นโยบายการเงินแบบ Greenspan put ที่เฟดเคยใช้กระตุ้นเศรษฐกิจสมัยอลัน กรีนสแปนจะกลับมาอีกครั้ง และของมันอาจคล้ายกันคือกระตุ้นให้เกิดการเก็งกำไรในตลาดอยางบ้าคลั่งขึ้นมาอีก

23. ที่ผ่านมาผู้ว่าการเฟดคนต่างๆ ต้องใช้นโยบาย "put" ของตัวเองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น Greenspan put (แก้วิกฤตวันจันทร์ทมิฬ 1987 ที่ตลาดหุ้นพังพินาศ) Bernanke put (แก้ปัญหาวิกฤตการเงินโลกปี 2007 - 2008) และ Yellen put (แก้ปัญหาเศรษฐกิตสหรัฐอ่อนแรงในช่วงทศวรรษที่ 2020) การ "put" เหล่านี้มีเหตุและผล เหตุคือเพื่อกู้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ผลก็คือเศรษฐกิจดีขึ้น แต่มันมี "ผลพลอยได้" เหมือนกัน เช่น Greenspan put ที่ถูกมองว่า "นำไปสู่ยุคที่สนับสนุนให้เกิดความเสี่ยง" เพราะนักลงทุนรู้ว่าเฟดจะอุ้มตลาดทุน

24. ตอนนี้กำลังเกิดสิ่งที่เรียกว่า Powell put เมื่อเจอโรม พาวเวลงัดเอามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณโดยตรงเพื่อกระตุ้นราคาสินทรัพย์ในช่วงเศรษฐกิจทรุดเพราะโควิด-19 สำนักข่าว Bloomberg ตั้งข้อสังเกตว่า Powell put นั้นเป็นยาแรงกว่าทั้ง Greenspan put หรือ Bernanke put ในขณะที่ Time ตั้งข้อสังเกตขนาดของการแทรกแซงทางการเงินของพาวเวลในปี 2020 มีความต้านทานต่อฟองสบู่และผลข้างเคียงต่อเศรษฐกิจได้

25. แต่มันไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีฟองสบู่ เพียงแต่พาวเวล "ยัง" ควบคุมได้ดี เป้าหมายของเขาอยู่ที่การจ้างงานส่วนเรื่องเงินเฟ้อและฟองสบู่นั้นเป็นเรื่องรอง ท่าทีแบบนี้ทำให้หลายคนกังวลว่าเฟดกับรัฐบาลไบเดนกำลังก่อฟองสบู่ด้วยความชะล่าใจ และในที่พาวเวลดิสเครดิตคริปโตหลายครั้ง มาตรการ Powell put และการอัดเงินของรัฐบาลไบเดนได้สร้างฟองสบู่ในตลาดคริปโตให้โตขึ้นเรื่อยๆ

PostScript - Adam Hayes แห่ง Investopedia อธิบายว่า "อลัน กรีนสแปนประธานเฟดเตือนตลาดเกี่ยวกับ"ความฟุ่งเฟื่องที่ไร้เหตุผล" (Irrational exuberance) ในวันที่ 5 ธันวาคม 1996  แต่เขาไม่ได้เข้มงวดนโยบายการเงินจนถึงฤดูใบไม้ผลิปี 2000 หลังจากที่ธนาคารและนายหน้าใช้สภาพคล่องส่วนเกินที่เฟดสร้างไว้ล่วงหน้าก่อนกรณี Y2K เพื่อระดมทุนหุ้นอินเทอร์เน็ต หลังจากเทน้ำมันลงบนกองไฟกรีนสแปนจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำให้ฟองสบู่แตก"

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Martin BUREAU / AFP

Thailand Web Stat