เบื้องหลังปฏิบัติการอุกอาจ เบลารุสจี้เครื่องบินจับฝ่ายต้านรัฐบาล
เหตุการณ์ครั้งนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญของการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างเบลารุสกับชาติตะวันตกที่กระท่อนกระแท่นอยู่แล้ว
ขณะนี้เบลารุสกำลังถูกชาติตะวันตกรุมประณามและคว่ำบาตร รวมทั้งไม่บินเข้าน่านฟ้าหลังจากส่งเครื่องบินเจ็ตขึ้นประกบเครื่องบินโดยสารของสายการบิน Ryanair แล้วบีบบังคับให้ลงจอดที่สนามบินในกรุงมิตสก์ของเบลารุส เพื่อจับกุมตัวนักข่าวและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล
1.เครื่องบินของสายการบิน Ryanair เที่ยวบิน FR4978 อยู่ระหว่างการเดินทางจากกรุงเอเธนส์ของกรีซไปยังกรุงวิลนีอุสของลิทัวเนียตามปกติ แต่แล้วขณะอยู่เหนือน่านฟ้าของเบลารุส 2 นาทีก่อนที่เครื่องกำลังจะเข้าสู่น่านฟ้าของลิทัวเนีย ก็ได้รับแจ้งจากหอควบคุมการบินของเบลารุสให้เปลี่ยนเส้นทางกลับมาลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินในกรุงมินสก์ของเบลารุส โดยอ้างว่าบนเครื่องบินลำดังกล่าวมีระเบิด พร้อมกับส่งเครื่องบินขับไล่ Mig-29 ของกองทัพเบลารุส 4 ลำบินประกบ
2.หลังเครื่องลงจอดเจ้าหน้าที่เบลารุสส่งสุนัขดมกลิ่นมาตรวจสอบสัมภาระของผู้โดยสารทั้งหมด แต่ไม่พบระเบิดตามที่กล่าวอ้าง ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเบลารุสได้เข้าไปจับกุมตัว รามัน พราทาเซวิช (Roman Protasevich) นักข่าวและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเบลารุสวัย 26 ปีพร้อมกับ โซเฟีย ซาเพกา แฟนสาวชาวรัสเซีย และพาตัวทั้งคู่ออกไป ส่วนเครื่องบินของ Ryanair หลังจอดชั่วคราว 7 ชั่วโมงก็กับขึ้นบินไปยังจุดหมายปลายทางอีกครั้ง
3.การไม่พบระเบิดนำมาสู่ข้องสังเกตว่า ทางการเบลารุสใช้ระเบิดเป็นอุบายให้เครื่องบินลงจอดเพื่อจับกุมตัวพราทาเซวิช ส่วนสำนักข่าว BelTA ของเบลารุสรายงานว่า ประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชงโก เป็นคนสั่งให้เครื่องบินเจ็ตขึ้นบินประกบเครื่องบินของ Ryanair
4.รามัน พราทาเซวิช เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ NEXTA และแชนแนล Nexta-Live ในแอพพลิเคชัน Telegram ซึ่งเผยแพร่การใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีลูคาเชงโก เมื่อปีที่แล้ว โดยในขณะนั้นสื่อมวลชนอื่นรวมทั้งสื่อต่างประเทศไม่สามารถทำได้ เนื่องจากรัฐบาลควบคุมเข้มงวด และแชนแนลนี้ยังเป็นช่องทางเรียกระดมผู้ประท้วงด้วย
5.พราทาเซวิชลี้ภัยไปโปแลนด์ตั้งแต่ปี 2019 และเพิ่งย้ายไปอยู่ที่ลิทัวเนียเมื่อปลายปีที่แล้ว ขณะที่คณะกรรมการความมั่นคงของเบลารุส หรือ KGB ขึ้นบัญชีเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายเมื่อปีที่แล้ว โดยถูกตั้งข้อหาก่อให้เกิดการจลาจลซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี และสร้างความเกลียดชังในโซเชียลมีเดีย ทั้งยังถูกเบลารุสและรัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรของลูคาเชงโกขึ้นบัญชีเป็นบุคคลที่เป็นที่ต้องการตัว
6.เหตุการณ์ของสายการบิน Ryanair นี้กลายเป็นประเด็นสำคัญของการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างเบลารุสกับชาติตะวันตกที่กระท่อนกระแท่นอยู่แล้ว โดย แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐเรียกการบังคับเครื่องบินลงจอดและการจับกุมว่าเป็นการกระทำที่น่าตกใจ และเรียกร้องให้ตรวจสอบเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตผู้โดยสาร รวมทั้งพลเมืองสหรัฐอย่างเต็มรูปแบบ
7.ส่วนอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเรียกร้องให้ปล่อยตัวพราทาเซวิชทันที และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปล้นเครื่องบิน Ryanair ต้องถูกลงโทษ
8.ไมเคิล โอเลียรี ซีอีโอ Ryanair เผยว่า “เราเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่ KGB บางคนออกมาจากเครื่องบินลำดังกล่าวด้วย นี่เป็นการปล้นเครื่องบินที่มีรัฐสนับสนุน”
9.ส่วน โดมินิก ราบ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษมองว่ามีความเป็นไปได้ว่ารัสเซียหนุนหลังเหตุการณ์นี้ เช่นเดียวกับ เบน ฮอดเจส อดีตผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐในยุโรปที่บอกว่า การป้องกันทางอากาศของเบลารุสร่วมกับการป้องกันทางอากาศของรัสเซียอย่างใกล้ชิด “หากมีอะไรเกิดขึ้นกับน่านฟ้าของเบลารุส เป็นไปไม่ได้ที่เครมลินหรืออย่างน้อยกองทัพรัสเซียจะไม่รู้เรื่อง”
10.แอสตา สไกส์เกอริเท ที่ปรึกษาประธานาธิบดีลิทัวเนียเผยว่า ปฏิบัติการบังคับเครื่องบิลงจอดดูเหมือนมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า และด้านองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ออกแถลงการณ์ว่า "การบังคับข่มขู่" ให้เครื่องบินพาณิชย์ลงจอด อาจเข้าข่ายละเมิดอนุสัญญาชิคาโก
11.ในเวลาต่อมา ทางการเบลารุสชี้แจงว่า การสั่งให้เครื่องบินของ Ryanair เปลี่ยนเส้นทางกะทันหันมาลงจอดที่สนามบินในกรุงมินสก์เป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนด้านความมั่นคง และเผยว่าทางการได้รับจดหมายที่อ้างว่ามาจากกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ที่ขู่ว่าจะระเบิดเครื่องบินเหนือน่านฟ้ากรุงวิลนีอุสหากสหภาพยุโรป (EU) ยังไม่หยุดสนับสนุนอิสราเอล
12.แม้ว่าผู้นำหลายประเทศจะไม่เชื่อคำชี้แจงของเบลารุส แต่ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกลับออกโรงปกป้องเบลารุสว่า คำอธิบายดังกล่าวสมเหตุสมผลแล้ว
13.เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น ที่ประชุมผู้นำสหภาพยุโรปมีมติห้ามเครื่องบินสายการบินของสายการบิน Belavia ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของเบลารุสบินเหนือน่านฟ้าสหภาพยุโรปและห้ามลงจอดที่สนามบินในสหภาพยุโรป และห้ามสายการบินที่อยู่ในสหภาพยุโรปบินผ่านเบลารุส
14.Nexta ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ที่พราทาเซวิชร่วมก่อตั้งรายงานว่า บนเที่ยวบินดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของรัฐบาลมินสก์แฝงตัวอยู่ด้วย โดยพราทาเซวิชรู้ตัวว่าเขาถูกสะกดรอยตามก่อนจะขึ้นเครื่องบิน
15.ขณะที่ผู้โดยสารที่เดินทางมากับเครื่องบินลำเดียวกับพราทาเซวิชเล่าว่า หลังจากกัปตันแจ้งว่าเครื่องจะลงจอดฉุกเฉินที่กรุงมินสก์ พราทาเซวิชดูตกใจและยืนขึ้นจากที่นั่ง และตอนที่ถูกเจ้าหน้าที่เบลารุสควบคุมตัวไป พราทาเววิชพูดว่า “ผมอาจถูกประหารที่นี่”
16.ล่าสุด บัญชี Telegram บัญชีหนึ่งซึ่งเป็นของฝ่ายโปรลูคาเชงโก โพสต์คลิปความยาว 29 นาทีเป็นภาพพราทาเซวิชนั่งอยู่บนโต๊ะไม้ และพูดกับกล้องว่าเขาอยู่ที่เรือนจำกลางที่ 1 ในกรุงมินสก์ และยังกล่าวอีกว่า “ผมจะให้ความร่วมมือกับการสอบสวน และให้การยอมรับในข้อหาก่อให้เกิดจลาจลในกรุงมินสก์”
17.คลิปดังกล่าวคล้ายๆ กับคลิปสารภาพผิดของฝ่ายตรงข้ามประธานาธิบดีลูคาเชงโกก่อนหน้านี้ที่ถูกบังคับให้พูดขณะอยู่ในเรือนจำ
Photo by - / ONLINER.BY / AFP